ราคาของตราสารหนี้สามารถประเมินได้จากมูลค่าของกระแสเงินที่จะได้รับในอนาคต (Future
value) เนื่องจากรายได้หรือกระแสเงินดังกล่าวเกิดขึ้นในอนาคต การคำนวณจึงต้องใช้วิธีการหามูลค่าของเงินปัจจุบัน
(Present value) ของกระแสเงินดังกล่าว ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจกับหลักการของการหามูลค่าปัจจุบันก่อน
มูลค่าปัจจุบัน คือ การหามูลค่าของเงินโดยอาศัยหลักการมูลค่าของเงินตามเวลา (Time value
of money) คือ เงินที่ได้รับในวันนี้ย่อมมีค่ามากกว่าเงินจำนวนเท่ากันที่จะได้รับในอนาคต
สมมติเรามีเงิน 100 บาทในวันนี้ และนำไปฝากประจำกับธนาคารได้อัตราดอกเบี้ย 4% เป็นเวลา
2 ปี เมื่อครบกำหนดเราจะได้รับเงินคืนทั้งหมดเท่ากับ 108.16 บาท (100 * 1.04 * 1.04
= 108.16) ในขณะเดียวกัน หากท่านคาดว่าจะได้รับเงิน 100 บาท ในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า
หมายความว่า ท่านจะต้องลงทุนเป็นจำนวนเงิน 92.45 บาทในวันนี้ (92.45 * 1.04 * 1.04
= 100) ดังนั้นมูลค่าปัจจุบันในวันนี้ของเงิน 100 บาทในอีก 2 ปีข้างหน้า คือ 92.45
บาท นั่นแสดงว่าเงิน 100 บาทในวันนี้มีค่ามากกว่าเงิน 100 บาทในอนาคต
การคำนวณราคาตราสารหนี้ก็ใช้หลักการเช่นเดียวกับการฝากเงินข้างต้น หากเรามองว่าดอกเบี้ยรับจากตราสารหนี้มีรอบการจ่ายเป็นงวดๆเช่นเดียวกัน
ในขณะที่เงินหน้าตั๋วในวันหมดอายุตราสารเปรียบเสมือนเงินต้นที่จะได้รับจากการฝากเงินในธนาคารเมื่อครบกำหนด
ซึ่งสามารถหามูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินที่ได้รับจากดอกเบี้ยแต่ละงวดและเงินตามหน้าตั๋วเมื่อครบกำหนด
แล้วนำมารวมกันก็จะได้มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินทั้งหมดที่จะได้รับจากตราสารหนี้ในอนาคตซึ่งก็คือราคาของตราสารหนี้นั่นเอง
หากเรานำเงิน 1,000 บาทไปลงทุนในพันธบัตรรุ่นหนึ่ง จำนวน 1,000 บาท ซึ่งจ่ายอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว
(Coupon) ร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 ปี จะเห็นว่ารายได้หรือกระแสเงินที่จะได้รับในอนาคตจะประกอบด้วย
3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
1) ดอกเบี้ย: รายได้ดอกเบี้ยที่ได้รับเป็นรายงวดจากเงินลงทุนในตราสารหนี้ทุกๆงวดตามที่กำหนด
2) ดอกเบี้ยของดอกเบี้ย: รายได้ดอกเบี้ยที่เกิดจากการนำดอกเบี้ยของแต่ละงวดไปลงทุนต่อ
3) เงินต้นของการลงทุน: เงินลงทุนตามมูลค่าหน้าตั๋วซึ่งจะได้รับคืนเมื่อครบกำหนด
หลักการคำนวณราคาตราสารหนี้ที่อธิบายมาแล้วนั้นเป็นการคำนวณราคาจากกระแสเงินรับของดอกเบี้ยและเงินต้น
ไถ่ถอนที่จะได้รับในอนาคต โดยในตัวอย่างที่ผ่านมา เราสมมติให้ใช้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารเป็นอัตราคิดลดเพื่อหามูลค่าปัจจุบันของเงินที่จะได้รับในอนาคต
ซึ่งหมายความว่าหากผู้ลงทุนซื้อตราสารหนี้ในราคาตามที่คำนวณได้ กระแสเงินที่ผู้ลงทุนจะได้รับในอนาคตจะให้ผลตอบแทนเท่ากับอัตราคิดลดหรืออัตราดอกเบี้ยธนาคาร
โดยจะสังเกตเห็นว่าหากอัตราคิดลดที่ใช้คำนวณมีค่าเพิ่มขึ้น ราคาหรือมูลค่าปัจจุบันของตราสารหนี้จะลดลง
หรือ หมายความว่าเงินที่ใช้ในการลงทุนหรือราคาที่จะซื้อตราสารหนี้ก็จะน้อยลง ดังนั้นอัตราคิดลดดังกล่าวจึงเป็นตัวบอกผลตอบแทน
(Yield) ที่จะได้รับจากการซื้อตราสารหนี้นั่นเอง
อัตราผลตอบแทนที่ใช้คำนวณมูลค่าของตราสารหนี้ตามวิธีการหามูลค่าปัจจุบันของตราสารหนี้
เป็นอัตราที่ใช้กันโดยทั่วไปในตลาดในการเสนอราคาซื้อขายตราสาร อัตราผลตอบแทนนี้แสดงให้เห็นถึงผลตอบแทนทั้งหมดที่จะได้รับเมื่อถือตราสารหนี้ดังกล่าวไปจนครบกำหนดอายุไถ่ถอน
หรือจนถึงวันใช้สิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดในกรณีของตราสารที่มี call หรือ put option
YTM ที่คำนวณได้นี้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนอื่นๆ
เช่น เปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร หรือเปรียบเทียบระหว่างตราสารหนี้ชนิดต่างๆ
ที่ระยะเวลาเดียวกับอายุของตราสารหนี้ตัวนั้นๆ เพื่อใช้พิจารณาในการตัดสินใจลงทุน
YTM เป็นที่นิยมในการวัดอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้แต่มีข้อจำกัด คือ การลงทุนที่เกิดขึ้นจริง
อาจไม่เป็นไปตามข้อสมมุติฐานของการคำนวณ YTM กล่าวคือ ในกรณีที่นักลงทุนไม่ได้ถือตราสารหนี้นั้นไปจนถึงวันครบกำหนดอายุ
หรือนำดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนไปลงทุนต่อแล้วไม่ได้รับอัตราผลตอบแทนเท่า จะทำให้การคำนวณหา
YTM อาจไม่เท่ากับอัตราผลตอบแทนจริงที่ผู้ลงทุนจะได้รับ
นอกจากการใช้ YTM ในการวัดอัตราผลตอบแทนแล้ว ยังมีการวัดอัตราผลตอบแทนปัจจุบัน (Current
Yield) ซึ่งเป็นการคำนวณอัตราผลตอบแทนอย่างง่ายโดยนำดอกเบี้ย (Coupon) ที่จะได้รับจากตราสารหนี้นั้นหารด้วยราคาของตราสารหนี้
ซึ่งมีสมการ ดังนี้
จะเห็นว่าอัตราผลตอบแทนปัจจุบันจะไม่คำนึงถึงค่าของเงินตามเวลา หรือมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินที่ได้รับในอนาคต
รวมไปถึงผลตอบแทนที่ได้จากการเพิ่มหรือลดลงของราคา (Capital Gain or Loss) แต่จะสนใจเฉพาะผลตอบแทนที่ได้จากดอกเบี้ยที่จะได้รับในปีนี้กับราคาตราสารหนี้
ณ ปัจจุบันเท่านั้น
นับจากวันแรกที่ตราสารหนี้ออกขายในตลาดจนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน ราคาของตราสารหนี้ในตลาดรองอาจเคลื่อนไหวตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมต่างๆในตลาดรวมถึงระดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความผันผวนของราคาตราสารหนี้ ประกอบไปด้วย
• อัตราดอกเบี้ยในตลาด หรือ อัตราผลตอบแทนที่ต้องการ
ราคาตราสารหนี้และอัตราผลตอบแทนมีความสัมพันธ์แบบแปรผกผันกัน หมายความว่า เมื่ออัตราผลตอบแทนลดลง
ราคาตราสารหนี้จะสูงขึ้น และในทางกลับกันเมื่ออัตราผลตอบแทนสูงขึ้นราคาก็จะลดลง
ดังนั้น ในการบริหารการลงทุน ถ้าท่านคาดว่าทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะสูงขึ้น ซึ่งทำให้ราคาตราสารหนี้ลดลง
ท่านก็ควรจะขายตราสารหนี้ที่ราคาจะลดลงมากๆ ออกไปก่อน
• อายุคงเหลือของตราสารหนี้
การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อความผันผวนของราคาตราสารหนี้ไม่เท่ากัน
โดยตราสารหนี้ที่มีอายุยาวกว่าจะยิ่งมีความผันผวนของราคามากกว่า ดังนั้น ตราสารหนี้ระยะยาวมักมีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าระยะสั้น
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการชดเชยความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงของราคานั่นเอง ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนกับอายุของตราสารหนี้นั้น
สามารถอธิบายโดยการวาดเส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้กับอายุคงเหลือในระดับต่างๆจากน้อยที่สุดไปมากที่สุด
ซึ่งเส้นดังกล่าวนี้เรียกว่า เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve)
ดังนั้น นักลงทุนสามารถนำคุณสมบัติข้อนี้ไปใช้วางกลยุทธ์การลงทุนได้ กล่าวคือ หากคาดว่าอัตราผลตอบแทนจะลดลง
ควรเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอายุยาวเพื่อได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาในอัตราที่สูงกว่า
ในทางคณิตศาสตร์นั้น สามารถวัดค่าความผันผวนของราคาต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนได้จาก
อายุถัวเฉลี่ยคงเหลือของตราสารหนี้ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสด (ค่า
Duration) ตราสารหนี้ที่มีค่า Duration สูงก็จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยมากกว่า
คือ ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงไปได้มากกว่า เช่น กรณีที่ดอกเบี้ยปรับขึ้น ส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ลดลง
ตราสารที่มี Duration สูงจะปรับลดลงมากกว่าตราสารที่มี Duration ต่ำกว่า
• ดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon)
หากดูจากกราฟความสัมพันธ์ของราคาและอัตราผลตอบแทน จะเห็นว่ากราฟมีลักษณะเป็นเส้นโค้ง
(Convex) โดยความชันของเส้นมีความแตกต่างกัน ณ อัตราตอบแทน (Yield) ที่แตกต่างกัน โดยที่
Yield ต่ำเส้นความสัมพันธ์จะชันกว่าที่ที่ Yield สูงกว่า ซึ่งหมายความว่าราคาจะผันผวนมากกว่า
ดังนั้น หากสมมติว่าท่านลงทุนในหุ้นกู้ A ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon rate) 3%
และหุ้นกู้ B ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon rate) 5% โดยที่คุณสมบัติอย่างอื่นเหมือนกัน
สมมติว่าอัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้น หุ้นกู้ A จะมีราคาลดลงมากกว่าหุ้นกู้ B และหากอัตราผลตอบแทน
ในตลาดปรับลดลง หุ้นกู้ A ก็จะมีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าหุ้นกู้ B
ดังนั้น หากคาดว่าอัตราผลตอบแทนอยู่ในขาลง การจะตัดสินใจซื้อตราสารหนี้ที่มีอายุเท่ากัน
ควรจะซื้อตราสารที่มีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon) ต่ำกว่า จะทำให้ได้ capital gain
หรือได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคามากกว่า เพราะตราสารหนี้ที่มี Coupon ต่ำจะมีความผันผวนของราคามากกว่าตราสารที่จ่ายดอกเบี้ย
Coupon สูงๆ
• ปัจจัยอื่นๆ
ปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อราคาตราสารหนี้ ได้แก่ อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating)
ของตราสารรุ่นนั้นๆ หรือของผู้ออกตราสารหนี้ เช่น หากตราสารหนี้หรือผู้ออกหุ้นกู้ถูกปรับลดอันดับเครดิต
(Downgrade) จะส่งผลให้นักลงทุนเรียกร้องอัตราผลตอบแทนในการลงทุนในหุ้นกู้นั้นๆสูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยง
และก็จะส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้นั้นลดลง นอกจากนั้น ปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่น เช่น อัตราเงินเฟ้อ
ก็ส่งผลถึงการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของตลาด และจะมีผลต่อเนื่องมาถึงราคาของตราสารหนี้เช่นเดียวกัน
Subject
|
Download
|
การคำนวณราคาตราสารหนี้
|
|
การประเมินผลการดำเนินงานของพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio Evaluation)
|
|
มาตรฐานการคำนวณราคา และผลตอบแทนตราสารหนี้ในต่างประเทศ
|
|
Convexity
|
|
Duration
|
|
Pricing of Securitization
|
|