สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ภายใต้มาตรา 230 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อทำหน้าที่หลักในการเป็นองค์กรกำกับดูแลสมาชิก (Self-Regulatory Organization/ SRO) และเป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านตลาดตราสารหนี้ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ความเป็นมาของ ThaiBMA แม้ว่าการดำเนินงานในนามของ ThaiBMA จะเริ่มขึ้นในปลายปี 2548 หลังจากได้รับใบอนุญาตสมาคมจากสำนักงาน กลต. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2548 แต่บทบาทการทำหน้าที่ในตลาดตราสารหนี้ของ ThaiBMA ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2537 ภายใต้ชื่อ "ชมรมผู้ค้าตราสารหนี้" (Bond Dealers Club/ BDC) ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2537 ภายใต้โครงสร้างของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานของการซื้อขายตราสารหนี้ ระหว่างผู้ค้าตราสารหนี้ในตลาดรอง การจัดตั้งชมรมผู้ค้าตราสารหนี้นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย เพราะได้ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย และได้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เข้ามาให้ความสนใจต่อการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างจริงจัง ในปี 2540 เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดตราสารหนี้และสอดคล้องกับบทบาทหน้าที่การดำเนินงาน ชมรมผู้ค้าตราสารหนี้ได้ปรับเปลี่ยนสถานะเป็น "ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย" (The Thai Bond Dealing Centre /Thai BDC) โดยได้รับใบอนุญาตให้บริการเป็นศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ ตามมาตรา 204 แห่ง พรบ.หลักทรัพย์ ฯ จากสำนักงาน กลต.เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2540 และเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 ต่อมาในปี 2548 คณะกรรมการกำกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบโครงการปรับปรุงตลาดตราสารหนี้ครั้งใหญ่ของประเทศไทยเพื่อรองรับการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย มาตรการหนึ่งในโครงการดังกล่าว คือให้มีการรวมระบบการซื้อขายตราสารหนี้อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Trading Platform/ ETP) ไว้ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ThaiBDC โอนขายระบบ ETP ให้แก่ตลาดหลักทรัพย์นำไปดำเนินการต่อภายใต้ชื่อระบบ FIRST ในขณะที่ในด้านข้อมูลนั้น จะมีการรวมศูนย์ข้อมูลตลาดตราสารหนี้ของประเทศไว้ที่ ThaiBDC โดย ThaiBDC ยังคงทำหน้าที่ด้าน SRO อาทิ การตรวจสอบภาวะการซื้อขาย (Surveillance) กำหนดมาตรฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ ทำหน้าที่ Bond Pricing Agency ตลอดจนการพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตราสารหนี้ นอกจากนั้นยังเป็นเวทีในการรวบรวมความคิดเห็นของผู้ร่วมตลาดเพื่อเสนอต่อทางการในการกำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนาตลาดตราสารหนี้อีกด้วย ภายหลังจากการโอนระบบซื้อขาย สำนักงาน กลต. จึงเห็นควรให้ ThaiBDC ปรับสถานะจากศูนย์ซื้อขายฯ เป็น "สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์" ภายใต้ชื่อ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ Thai Bond Market Association (ThaiBMA) เพื่อมุ่งเน้นและขยายบทบาทการทำหน้าที่ด้านการเป็น SRO และการเป็นศูนย์ข้อมูลตราสารหนี้ รวมถึงขยายไปสู่การทำหน้าที่เผยแพร่ราคามาตรฐานหรือ Pricing agency ในตลาดตราสารหนี้ ตามวัตถุประสงค์ของทางการต่อไป สมาชิกของ ThaiBMA โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สมาชิกสามัญ คือ สถาบันการเงินที่มีใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์หรือค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ (Dealer) สมาชิกวิสามัญ คือ บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์ (IDB) สมาชิกสมทบ คือ Dealer ที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปีน้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน ธันวาคม 2565 สมาชิกของ ThaiBMA ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์จำนวนรวม 54 องค์กร บทบาทหน้าที่ของ ThaiBMA 1. การเป็นองค์กรกำกับดูแลตนเอง (SRO) ThaiBMA ทำหน้าที่กำกับดูแลสมาชิกเพื่อให้การประกอบธุรกรรมการค้าตราสารหนี้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน การดำเนินงานประกอบด้วย การกำหนดจรรยาบรรณและมาตรฐานการปฏิบัติในตลาดรองตราสารหนี้ ( Ethics & Code of Conduct) รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกรรมการค้าตราสารหนี้ การติดตามภาวะตลาดและตรวจสอบการซื้อขายตราสารหนี้ ( Market monitoring & Surveillance) เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่เป็นธรรมแก่ลูกค้า การกำหนดกระบวนการพิจารณาความผิดและกำหนดบทลงโทษผู้ค้าตราสารหนี้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 2. การให้บริการและเป็นศูนย์กลางข้อมูลในตลาดตราสารหนี้ (Bond Information Center) ThaiBMA ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลต่างๆในตลาดตราสารหนี้ผ่านทาง www.thaibma.or.th ข้อมูลราคาอ้างอิงต่างๆ (Reference yield) ของตลาด ข้อมูลการซื้อขายในตลาดรอง ข้อมูลพื้นฐานของตราสารหนี้ (Bond Features) ตลอดจนข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน 3. การส่งเสริมธุรกิจผู้ร่วมตลาด (Association) ThaiBMA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจสมาชิก โดยเป็นเวทีในการรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ร่วมตลาด ในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ เพื่อนำไปสู่การศึกษา ผลักดัน และนำเสนอประเด็นต่างๆ ต่อทางการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ThaiBMA ยังทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานต่างๆที่ใช้ในตลาดตราสารหนี้ เพื่อให้สมาชิกและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินธุรกรรม โดยมีมาตรฐานเดียวกัน เช่น การกำหนดสัญลักษณ์มาตรฐานของตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน การกำหนดมาตรฐานการคำนวณราคาและอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ประเภทต่างๆ การกำหนดมาตรฐานด้านงานทะเบียนตราสารหนี้ 4. การจัดทำและเผยแพร่ราคาอ้างอิงตราสารหนี้ (Bond Pricing Agency) ThaiBMA มีบทบาทการให้บริการด้านข้อมูลที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การจัดทำและเผยแพร่ราคาอ้างอิงตราสารหนี้ สำหรับการ mark-to-market ของผู้ลงทุนโดยเฉพาะกองทุนรวมต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อกำหนดราคายุติธรรมสำหรับตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายน้อย รวมถึงการพัฒนา benchmark ต่างๆ เช่น Yield curve, Bond index, Credit spread curve 5. การพัฒนาตลาดตราสารหนี้และให้ความรู้ด้านตราสารหนี้แก่ผู้มีส่วนร่วมในตลาด (Market Development and Education) ThaiBMA มีบทบาทในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในมิติต่างๆ เช่น การพัฒนาเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการซื้อขายและการลงทุนในตราสารหนี้ รวมถึงการให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้แก่ผู้ร่วมตลาดทุกภาคส่วน อาทิ การพัฒนา benchmark ต่างๆ เช่น Yield curve, Bond index, Credit spread curve การพัฒนาเพื่อรองรับนวัตกรรมทางการเงินประเภทใหม่ๆ การจัดอบรมความรู้ด้านตราสารหนี้ เพื่อพัฒนาบุคลากรในตลาดรวมทั้งการจัดสัมมนาให้ความรู้ ความเข้าใจด้านการลงทุนในตราสารหนี้แก่นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน องค์กรภาครัฐและเอกชน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป