Quick FAQs 1. ตราสารหนี้คืออะไร ? ตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินที่แสดงความเป็นหนี้ระหว่างกันโดยลักษณะของการเป็นตราสารเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนมือได้กล่าวอีกนัยหนึ่งตราสารหนี้ก็คือการกู้ยืมเงินชนิดหนึ่งที่มีความเป็นมาตรฐาน ผู้ออกตราสารเป็นผู้กู้หรือลูกหนี้ในขณะที่ผู้ให้กู้เป็นผู้ซื้อหรือเจ้าหนี้โดยทั้งสองฝ่ายมีข้อผูกพันทางกฎหมายที่จะได้รับชำระเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด เช่นดอกเบี้ย เงินต้น ตามเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ตราสารหนี้มีคุณสมบัติที่สามารถแบ่งเป็นหน่วยย่อยๆที่เท่าๆกันโดยได้ผลประโยชน์หรืออัตราผลตอบแทนเท่ากันทุกหน่วยและมีคุณสมบัติที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้จนกว่าจะหมดอายุของตราสารนั้นสำหรับการเรียกชื่อตราสารหนี้มีความแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างในประเทศไทยและต่างประเทศโดยทั่วไปในต่างประเทศใช้คำว่า Bond สำหรับตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Secured Bond) และใช้คำว่า Debenture สำหรับตราสารหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Bond) สำหรับในประเทศไทยนิยมเรียกตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือองค์กรของรัฐว่าพันธบัตร (Bond) ส่วนตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชนจะเรียกว่าหุ้นกู้ (Debenture) 2. องค์ประกอบของตราสารหนี้มีอะไรบ้าง ? 1. มูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) คือมูลค่าเงินต้นที่ผู้กู้จะต้องชำระคืนให้กับผู้ถือตราสารหนี้นั้นเมื่อครบกำหนดส่วนใหญ่เท่ากับ 1,000 บาททั้งนี้มูลค่าที่ตราไว้นี้อาจลดลงเมื่อมีการจ่ายคืนเงินต้นในกรณีที่เป็นตราสารหนี้ชนิดทยอยจ่ายคืน 2. อัตราดอกเบี้ย (Coupon Rate) คืออัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกมีภาระที่จะต้องจ่ายให้กับผู้ถือตราสารหนี้นั้น ๆ ตามวันเดือน ปี ที่กำหนดตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น ในกรณีที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) เช่น 8.00% ต่อปี ผู้ออกจะต้องจ่ายที่อัตรานั้นตลอดอายุของตราสารหนี้หรือในกรณีที่กำหนดให้เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate) อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกต้องจ่ายให้ผู้ถือจะเปลี่ยนแปลงไปได้ตามที่กำหนดซึ่งโดยปกติมักจะอ้างอิงไว้กับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เช่นเปลี่ยนแปลงไปตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปีโดยเฉลี่ยของ 5 ธนาคารใหญ่และบวกหรือลบด้วยส่วนต่าง (Margin) ที่กำหนดซึ่งจะขึ้นกับคุณภาพของตราสารหนี้นั้น ๆ 3. งวดการจ่ายดอกเบี้ย (Coupon Frequency) เป็นการระบุจำนวนครั้งของการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้ง 1 ครั้งต่อปี 2 ครั้งต่อปี 4 ครั้งต่อปี หรือทุก ๆ เดือน แล้วแต่ผู้ออกจะกำหนดแต่โดยส่วนใหญ่เป็นการจ่ายทุกครึ่งปี โดยเฉพาะพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลและองค์กรภาครัฐ 4. วันครบกำหนดไถ่ถอน (Maturity Date) เป็นการกำหนดวันหมดอายุของตราสารหนี้นั้นซึ่งผู้ออกจะต้องทำการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้าย (ถ้ามี) ให้กับผู้ถือ 5. ชื่อผู้ออก (Issue Name) เป็นการระบุว่าใครเป็นผู้ออกตราสารหนี้นั้น หรือเป็นการระบุชื่อผู้กู้ 6. ประเภทของตราสารหนี้ เป็นการระบุประเภทของตราสารหนี้นั้น เช่น หุ้นกู้ไม่มีประกันหุ้นกู้ด้อยสิทธิ/ไม่ด้อยสิทธิ หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น 7. ข้อสัญญา (Covenants) เป็นเงื่อนไขและข้อตกลงที่ระบุให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องสัญญาว่าจะทำหรือไม่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์ของผู้ให้กู้โดยทั่วไปมักเกี่ยวกับการตกลงในระดับทุนหมุนเวียนอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นหรือภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระการห้ามจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นสามัญเกินอัตราที่กำหนดการต้องดำรงสัดส่วนของหนี้สินต่อทุนไม่เกินอัตราที่กำหนดข้อสัญญาอาจรวมถึงการจำกัดด้านการบริหารของผู้ออก เช่นการห้ามรวมกิจการ เป็นต้น 8. สิทธิแฝง(Options) หมายถึง ข้อกำหนดสิทธิพิเศษที่แฝงอยู่ในตราสาร ซึ่งทำให้ตราสารนั้นมีคุณสมบัติพิเศษกว่าตราสารหนี้ทั่วไปเช่น สิทธิในการไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดของผู้ออกตราสาร(Callable) และ สิทธิในการขายคืนก่อนกำหนดของผู้ถือตราสาร (Puttable) 9. อายุคงเหลือ (Time to Maturity) หมายถึง ระยะเวลาที่นับจากปัจจุบันถึงวันไถ่ถอนของตราสาร 10. อัตราผลตอบแทน (Rate of Return) หมายถึง ผลตอบแทนที่ได้จากการถือตราสาร โดยหากผู้ลงทุนถือตราสารดังกล่าวไปจนครบกำหนดอายุการไถ่ถอน อัตราผลตอบแทนดังกล่าวเรียกว่า อัตราผลตอบแทนเมื่อถือจนครบกำหนดอายุ(Yield to Maturity: YTM) 3. อัตราผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารหนี้มาจากไหน ? 1. อัตราดอกเบี้ย (Coupon) ที่ผู้ออกต้องจ่ายให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้ 2. กำไร/ขาดทุนจากการขาย (Capital gain/loss) คือผลกำไร (ขาดทุน) จากการที่ราคาของตราสารหนี้เพิ่มขึ้นจากตอนซื้อ หรือขาดทุนเมื่อราคาของตราสารหนี้ลดลงจากเมื่อตอนซื้อ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดขยับขึ้นหรือลง 4. ตราสารหนี้มีกี่ประเภท ? ผู้ออกตราสารหนี้ (Bond Issuers) สามารถออกตราสารหนี้ได้ในหลายรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของตนในขณะเดียวกันรูปแบบของตราสารนั้นก็ตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกันของนักลงทุนแต่ละประเภทเช่นคนวัยเกษียณอายุที่ไม่ต้องการความเสี่ยงอาจต้องการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐที่มีอายุไม่ยาวเพื่อความมั่นคงสูงแม้ว่าจะให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำในขณะที่คนวัยเริ่มต้นทำงานยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า จึงสามารถลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ให้ผลตอบแทนสูงแต่อาจมีสภาพคล่องต่ำเป็นต้น ประเภทของตราสารหนี้สามารถแบ่งได้หลากหลายรูปแบบโดยอาจแบ่งตามประเภทของผู้ออกตราสาร แบ่งตามสิทธิการเรียกร้องแบ่งตามสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันและแบ่งตามประเภทอื่นๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. แบ่งตามประเภทของผู้ออกตราสาร ผู้ออกตราสารหนี้ (Bond Issuers) ในตลาดแรกสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ ผู้ออกตราสารหนี้ภาครัฐ และผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชน รายละเอียดดังนี้ 1.1 ตราสารหนี้ภาครัฐ ในปัจจุบันสามารถแบ่งกลุ่มผู้ออกตราสารหนี้ภาครัฐ ได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กระทรวงการคลัง 2) ธนาคารแห่งประเทศไทย และ 3) รัฐวิสาหกิจ และหากแบ่งตามอายุของตราสาร สามารถแบ่งตราสารหนี้ภาครัฐออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพันธบัตรระยะสั้น ประกอบด้วย ตั๋วเงินคลัง และพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี และกลุ่มพันธบัตรระยะยาว ประกอบด้วย พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอายุมากกว่า 1 ปี และพันธบัตรรัฐวิสากิจมีรายละเอียดดังนี้ 1.1.1 ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill: TB) กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกตั๋วเงินคลัง ซึ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ปัจจุบันตั๋วเงินคลังที่ออกมี 3 ช่วงอายุ ได้แก่ อายุ 28 วัน, 91 วัน และ 182 วัน โดยไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งผู้ถือจะได้รับเงินคืนเท่ากับราคาหน้าตั๋ว ณ วันครบกำหนดอายุ แต่ราคาซื้อขายจะเป็นราคาคิดลดจากราคาหน้าตั๋ว 1.1.2 พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) ปัจจุบันที่มีจำหน่ายประกอบด้วยพันธบัตรเงินกู้ (Loan Bond: LB) พันธบัตรออมทรัพย์ (Saving Bond : SB) และพันธบัตรชนิดอ้างอิงกับเงินเฟ้อ (Inflation-Linked Bond : ILB) พันธบัตรเงินกู้นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อกู้เงินมาใช้จ่ายตามงบประมาณ โดยเป็นตราสารหนี้ระยะกลางถึงระยะยาว มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน พันธบัตรเงินกู้นี้มีความสำคัญต่อตลาดตราสารหนี้อย่างมากโดยจะเป็นอัตราผลตอบแทนอ้างอิงในตลาด ส่วนพันธบัตรออมทรัพย์มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมของประชาชน มีลักษณะทั่วไปเหมือนพันธบัตรเงินกู้แต่เน้นการจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป และอาจมีข้อจำกัดการโอนในช่วงแรกของการออกตราสารซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่จะกำหนดของการออกในครั้งนั้นๆ สำหรับพันธบัตรชนิดอ้างอิงกับเงินเฟ้อ และยังบวกอัตราผลตอบแทน (คูปอง) เพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง การลงทุนในพันธบัตร ชนิดอ้างอิงกับเงินเฟ้อจึงช่วยสามารถรักษาอำนาจซื้อของนักลงทุนได้อย่างสมบูรณ์ และพันธบัตรรัฐบาลเพื่อความยั่งยืนซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้สาหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดจนโครงการช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนจากการระบาดของเชื้อโควิด (Covid-19) 1.1.3 พันธบัตรองค์กรภาครัฐ (State Agency Bond)ปัจจุบันประกอบด้วยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) โดยพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นมี 2 ลักษณะ คือ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี (CB) มีลักษณะเช่นเดียวกับตั๋วเงินคลัง อายุ 3-14 วัน, อายุ 180 วัน, และอายุ 364 วัน และพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอายุเกิน 1 ปี (BOT) มีลักษณะเหมือนพันธบัตรเงินกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่ และที่จ่ายดอกเบี้ยลอยตัว(Floating Rate Note : FRN) โดยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยแบบคิดทบของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระยะข้ามคืนระหว่างธนาคาร พันธบัตรองค์กรภาครัฐอีกประเภทคือ พันธบัตรกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ปัจจุบันได้ครบกำหนดไถ่ถอนไปหมดแล้วและยังไม่มีการออกใหม่ 1.1.4 พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State Owned Enterprise) ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่ค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง (Guaranteed by Ministry of Finance) และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่ไม่ค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง (Non-Guaranteed by Ministry of Finance) ซึ่งการค้ำประกัน โดยกระทรวงการคลังเป็นการช่วยยกระดับอันดับเครดิต (Credit Enhancement) ของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ ช่วยให้รัฐวิสาหกิจที่ออกตราสารสามารถระดมทุนได้ในต้นทุนที่ต่ำลง อย่างไรก็ดีมีแนวโน้มว่ากระทรวงการคลังอาจจะค้ำประกันการออกพันธบัตรรัฐวิสาหกิจน้อยลง และต้องการให้รัฐวิสาหกิจออกตราสารหนี้โดยอาศัยอันดับความน่าเชื่อถือของตัวเองมากขึ้น พันธบัตรรัฐวิสาหกิจมีลักษณะทั่วไปเช่นเดียวกับพันธบัตรเงินกู้ที่มีอายุการออกมากกว่า 1 ปี ขึ้นไป 1.2 ตราสารหนี้ภาคเอกชน เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนเพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุนไปใช้ในการดำเนินกิจการ แบ่งออกเป็น 1.2.1 ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วบีอีและหุ้นกู้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ ถ้าออกตราสารหนี้ระยะสั้นที่อายุการออกไม่เกิน 270 วัน มักจะออกในรูปของตั๋วแลกเงิน ส่วนการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่อายุมากกว่า 270 วัน ผู้ออกจะนิยมออกในรูปของหุ้นกู้ซึ่งสามารถออกในสกุลเงินบาท หรือ บาทบอนด์ (Baht Bond) และพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ออกเป็นสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Denominated Bond) 1.2.2 ผู้ออกที่เป็นบริษัทต่างชาติสถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือ สถาบันการเงินของรัฐบาลต่างประเทศที่มาออกตราสารหนี้ในประเทศไทย จะอยู่ในกลุ่มตราสารหนี้ต่างประเทศ (Foreign Bond : FB) ซึ่งแบ่งออกเป็นพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ออกเป็นสกุลเงินบาทหรือบาทบอนด์ (Baht Bond) และพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ออกเป็นสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Denominated Bond) เช่น สกุลเงินดอลลาร์ และสกุลเงินยูโร 2. แบ่งตามสิทธิเรียกร้อง 2.1 หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond / Junior Bond) คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ถือจะมีสิทธิเรียกร้องชำระหนี้ในอันดับหลังจากเจ้าหนี้บุริมสิทธิและเจ้าหนี้ทั่วไปในกรณีที่บริษัทผู้ออกตราสารล้มละลาย หรือมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ ผู้ถือตราสารประเภทนี้จะมีสิทธิที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ ในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออก แต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญ ซึ่งจะมีสิทธิเป็นอันดับสุดท้าย ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถชำระเงินและต้องเฉลี่ยทรัพย์หรือชำระบัญชีให้กับเจ้าหนี้ทุกราย ผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งจะ ได้รับการชำระหนี้ภายหลังจากที่เจ้าหนี้รายอื่นที่มีสิทธิเรียกร้องสูงกว่า นั่นคือหลังจากตราสารหนี้มีประกัน, ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ, และเจ้าหนี้สามัญ จากนั้นทรัพย์สินส่วนที่เหลือจึงจะนำมา เฉลี่ยให้กับเจ้าหนี้ประเภทด้อยสิทธิ และหากยังคงมีทรัพย์สินเหลืออีกถึงจะนำไปเฉลี่ยให้แก่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญตามลำดับ 2.2 หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ผู้ถือตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีสิทธิทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆในการเรียกร้องสินทรัพย์ทดแทนและสูงกว่าผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ 3. แบ่งตามการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้ 3.1 หุ้นกู้มีหลักประกัน หมายถึง การที่ผู้ออกนำสินทรัพย์ตามที่กำหนดมาค้ำประกันการออกหุ้นกู้นั้นและผู้ถือจะมีบุริมสิทธิเต็มที่เหนือสินทรัพย์นั้น หรือเป็นการค้ำประกันจากสถาบันอื่นก็ได้ โดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ได้กำหนดให้การออกหุ้นกู้ชนิดนี้ต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (Bondholder’s Representative) ซึ่งในต่างประเทศอาจเรียกว่าผู้ดูแลสินทรัพย์ (Trustee) เพื่อทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการรับจำนอง รับจำนำ หรือรับหลักประกันอย่างอื่น และเพื่อการใช้สิทธิบังคับหลักประกัน รวมทั้งการตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน การออกตราสารหนี้ประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจ ให้แก่นักลงทุน ในบางกรณีบริษัทเอกชนบางรายอาจมีฐานะทางการเงินที่ไม่ดีพอที่จะดึงดูด ความต้องการของนักลงทุน จึงต้องใช้หลักประกันมาช่วยเสริม หรือในกรณีที่เป็นการออกตราสารหนี้ เพื่อระดมทุนในการสร้างโครงการใดๆ ก็สามารถนำ ทรัพย์สินของโครงการนั้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ 3.2 หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน หมายถึง หมายถึง หุ้นกู้นั้นไม่มีสินทรัพย์ใดๆ ค้ำประกันโดยผู้ถือหุ้นกู้ชนิดนี้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ทั่วไปของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ซึ่งหากผู้ออกไม่สามารถชำระหนี้หรืออยู่ในสถานะล้มละลายผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้โดยการเฉลี่ยสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นๆตามสิทธิและสัดส่วน 4. แบ่งตามประเภทอื่นๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 8 ประเภท ดังนี้ 4.1 ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate Bond) เป็นหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ตามที่กำหนดและตามระยะเวลาของอายุตราสารหนี้โดยพันธบัตรภาครัฐและหุ้นกู้ของเอกชนในตลาดส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80) มีลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ 4.2 ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate Bond / FRN) หมายถึง ตราสารหนี้ที่กำหนดอัตราผลตอบแทนที่ผันแปรไปตามอัตราอ้างอิงหรือดัชนีที่กำหนดไว้ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือ อัตราดอกเบี้ย THOR (Thai Overnight Repurchase Rate)ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระยะข้ามคืนระหว่างธนาคาร(https://www.thaibma.or.th/EN/Market/thor.aspx ) ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอัตราอ้างอิง อัตราคูปองที่ได้จากตราสารหนี้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ออกตราสารหนี้ย่อมต้องการออกตราสารหนี้ ประเภทที่กำหนดคูปองคงที่เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ต้นทุนดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ซื้อหรือนักลงทุน จะมีความต้องการในตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว เพราะจะได้ไม่เสียโอกาสที่จะได้รับคูปองที่เพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในตลาด อย่างไรก็ตาม ถ้าหากอัตราดอกเบี้ยในตลาด กลับปรับตัวลดลง นักลงทุนก็จะได้รับคูปองที่ลดลงเช่นกัน 4.3 หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) หมายถึงหุ้นกู้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการแปลงสภาพจากการถือหุ้นกู้ไปเป็นการถือหุ้นสามัญตามอัตราราคา และเวลาที่กำหนดถ้านักลงทุนซื้อหุ้นกู้ประเภทนี้ไว้ แล้วในภายหลัง ราคาหุ้นของบริษัทผู้ออกปรับตัวสูงขึ้น หุ้นกู้แปลงสภาพนี้ก็จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยหุ้นกู้แปลงสภาพจะอยู่ในกลุ่มประเภทสินทรัพย์ (Asset Class) ที่มีความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนที่มากกว่าตราสารหนี้แบบปกติแต่จะมีความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนที่น้อยกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญโดยตรง เนื่องจากหากหุ้นสามัญมีราคาลดลงต่ำ กว่ามูลค่าหน้าตั๋วของหุ้นกู้แปลงสภาพ นักลงทุนก็อาจเลือกที่จะไม่แปลงสภาพและรอให้ครบกำหนดอายุเพื่อรับเงินต้นคืนตามมูลค่าหน้าตั๋ว ซึ่งถือเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุน (Downside Risk) อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันในประเทศไทย หุ้นกู้แปลงสภาพไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก โดยนักลงทุนจะนิยมลงทุนในตราสารหนี้อนุพันธ์ที่มีคูปองอ้างอิงกับราคาหุ้นหรือดัชนีราคาหุ้น (Equity Linked Note) มากกว่า 4.4 ตราสารหนี้ประเภททยอยจ่ายคืนเงินต้น (Amortizing Bond) หมายถึงตราสารหนี้ที่ผู้ออกจะทยอยจ่ายคืนเงินต้นแก่ผู้ถือในแต่ละงวด แทนที่จะเป็นการจ่ายคืนเงินต้นครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดอายุดังเช่นตราสารหนี้ปกติ ในปัจจุบันตราสารหนี้ประเภทนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของผู้ลงทุนได้ในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันยังอาจจะมีความเหมาะสมกับกระแสเงินรับของผู้ออกตราสารหนี้ได้มากกว่าอีกด้วย 4.5 ตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกคืนก่อนกำหนด (Callable Bond) หมายถึง ตราสารหนี้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ออกในการเรียกคืน (Call Option) หรือไถ่ถอนตราสารนั้นก่อนกำหนดซึ่งกำหนดการไถ่ถอนจะต้องถูกระบุไว้ตั้งแต่ต้นโดยปกติผู้ออกจะเรียกคืนตราสารในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงจนทำให้ต้นทุนของตราสารหนี้ที่มีอยู่นั้นสูงมากเกินควรหรือการที่อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกเพิ่มขึ้นทำให้สามารถออกตราสารหนี้ใหม่ในอัตราต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิม 4.6 ตราสารหนี้ที่ผู้ถือมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable Bond) หมายถึง ตราสารหนี้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการไถ่ถอนตราสารก่อนครบกำหนด (Put Option) โดยรายละเอียดของเงื่อนไขและวิธีการจะกำหนดล่วงหน้าตั้งแต่วันออกตราสารนั้นซึ่งผู้ออกสามารถเลือกที่จะไถ่ถอนหรือไม่ก็ได้ เช่นหากผู้ถือตราสารเห็นว่าอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกลดลงผู้ถืออาจเลือกที่จะไถ่ถอนตราสารชนิดนี้คืนก่อนกำหนด หรือหากผู้ถือตราสารเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้นมากกว่าคูปองที่ได้รับอยู่ ผู้ถืออาจเลือกที่จะไถ่ถอนตราสารคืนก่อนกำหนดแล้วนำเงินต้นที่ได้ไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกใหม่ในตลาด เพื่อที่จะได้รับคูปองที่เพิ่มสูงขึ้น 4.7 ตราสารหนี้ที่เกิดจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) หมายถึง ตราสารหนี้ที่เกิดจากกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์โดยผู้ถือจะได้รับกระแสเงินสดจากตัวสินทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้นโดยปกติตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีอันดับความน่าเชื่อถือสูงเนื่องจากมีตัวหลักทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้นค้ำประกันอยู่หรือมีกระบวนการเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Enhancement) ตราสารหนี้ชนิดนี้สามารถช่วยเปิดโอกาสให้สินทรัพย์ซึ่งมีการเปลี่ยนมือได้ยากให้กลายเป็นหลักทรัพย์ที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ง่าย เป็นการเพิ่มสภาพคล่องและทำให้สถาบันการเงินที่มีสินทรัพย์เหล่านี้สามารถทำการแปลงเป็นหลักทรัพย์ได้ ลดภาระในการดำรงเงินกองทุนและเพิ่มเงินสดที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการ ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ตลาดตราสารหนี้ชนิดนี้ เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าตราสารหนี้ชนิดอื่นมาก สำหรับในประเทศไทยตราสารหนี้ประเภทนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก 4.8 Perpetual Bond หมายถึง ตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดและมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ (https://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2021/270921.aspx) 5. ตราสารหนี้มีรูปแบบการซื้อขายอย่างไร? ตลาดตราสารหนี้เป็นการซื้อขายในระบบเปิด หรือ Over the Counter (OTC) ซึ่งนักลงทุนอาจจะทำการซื้อ/ขายระหว่างกันเอง หรือการซื้อ/ขายผ่านผู้ค้าตราสารหนี้ (Dealer) ก็ได้ (ข้อมูลผู้ค้าตราสารหนี้: http://www.thaibma.or.th/EN/Trader/DealerMembers.aspx ) 6. ลงทุนในตราสารหนี้มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ? 1. ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) หมายถึง ความเสี่ยงจากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่ออัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Yield หรือ Yield to Maturity - YTM) ทำให้มูลค่าหรือราคาของตราสารหนี้ที่ถือไว้เปลี่ยน แปลงไปในทางที่ลดลง เนื่องจาก Yield ถูกนำไปใช้ในการคำนวณหามูลค่าปัจจุบันของตราสารหนี้ 2. ความเสี่ยงจากความน่าเชื่อถือ (Credit Risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงไปซึ่งความเสี่ยงด้านเครดิตนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ 2.1 ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระ (Default Risk) หมายถึง ความเสี่ยงในการที่ผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ย หรือ ชำระคืนเงินต้นให้แก่ผู้ถือตามจำนวนหรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดย Default Rate หมายถึงอัตราการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของตราสารหนี้ในอดีตที่ผ่านมาของผู้ออกตราสารหนี้รายนั้นๆ และ Recovery Rate หมายถึง อัตราการได้รับชำระคืนภายหลังจากที่ตราสารเกิดการผิดนัดชำระ 2.2 ความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างด้านเครดิต (Credit Spread Risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากส่วนชดเชยความเสี่ยง หรือ Risk Premium มีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่วนชดเชยความเสี่ยงเป็นส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนที่สูงจาก Yield ของพันธบัตรรัฐบาลที่ถือว่าไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต (Risk Free) 2.3 ความเสี่ยงในการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Downgrade Risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ออกตราสารหนี้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating Agency) โดยปัจจุบันมี Rating Agency ในประเทศ 2 ราย ได้แก่ TRIS rating และ Fitch ratings (Thailand) 3. ความเสี่ยงจากการถูกไถ่ถอนตราสารหนี้คืนก่อนกำหนด (Prepayment Risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากผู้ออกตราสารหนี้เรียกไถ่ถอนตราสารหนี้คืนก่อนกำหนด ทำให้ผู้ถือตราสารหนี้ไม่สามารถลงทุนได้ครบตามระยะเวลาการลงทุนที่คาดไว้ 4. ความเสี่ยงจากการนำเงินได้จากตราสารหนี้ไปลงทุนต่อ (Reinvestment Risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากการนำเงินได้จากตราสารหนี้ที่ถือไว้ ไม่ว่าจะเป็น Coupon ที่ได้รับตามงวดหรือเงินที่ได้จากการทยอยคืนเงินต้น (Amortized Bond) รวมถึงเงินต้นที่ได้คืนจากการไถ่ถอนก่อนกำหนด (Callable Bond) ไปทำการลงทุนต่อให้ได้อัตราผลตอบแทนเท่ากับ Yield ของตราสารหนี้ที่ถือไว้ ซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่าจะได้อัตราผลตอบแทนในขณะนั้นเป็นเท่าใด ความเสี่ยงตรงส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่ออัตราผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินลดลงหลังจากที่ซื้อตราสารหนี้มาถือไว้แล้ว 5. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เท่ากันของเส้นอัตราผลตอบแทนต่อระยะเวลา (Yield Curve Risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากเส้น Yield Curve ซึ่งเป็นเส้นที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนกับอายุคงเหลือของตราสารหนี้ (Time-To- Maturity, TTM) มีการปรับตัวในลักษณะที่ไม่ใช่แบบขนาน โดยเฉพาะการปรับตัวที่มีความชันของเส้นเพิ่มขึ้น กล่าวคือ อัตราผลตอบแทนของตราสารที่มีอายุคงเหลือมากมีการปรับตัวในอัตราที่มากกว่าการปรับตัวของตราสารที่มีอายุคงเหลือน้อย มีผลทำให้มูลค่าหรือราคาของตราสารในพอร์ตการลงทุนโดยรวมลดลง 6. ความเสี่ยงจากสภาพคล่องของตราสาร (Liquidity Risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ผู้ถือตราสารหนี้ไม่สามารถขายตราสารหนี้ได้ในราคาที่ควรจะเป็น จึงต้องลดราคาขายลง ส่งผลให้อัตราการเสนอซื้อและเสนอขายของตราสารหนี้มีส่วนต่างที่กว้าง (Bid – Ask Spread) ส่วนต่างของอัตราการเสนอซื้อและเสนอขายดังกล่าวนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการใช้วัดสภาพคล่องของตราสาร กล่าวคือ หากอัตราการเสนอซื้อและอัตราเสนอขายแตกต่างกันมาก หมายความว่า ตราสารหนี้ตัวนั้นมีสภาพคล่องต่ำ 7. ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสารหนี้ (Volatility Risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ราคาตราสารหนี้มีความผันผวนมาก ซึ่งอาจเกิดจากลักษณะของตราสารเองหรือตราสารที่มีสิทธิแฝง โดยการคำนวณหาค่า Volatility สามารถหาได้ 2 วิธี คือ Historical Volatility ซึ่งใช้ข้อมูลราคาของตราสารหนี้ในอดีตมาคำนวณ และ Implied Volatility ซึ่งเป็นค่า Parameter ในสูตรการคำนวณ Option Pricing หากค่าที่ได้สูงนั่นหมายถึงตราสารหนี้ตัวนั้นมีความเสี่ยงสูงด้วย 8. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากการได้รับชำระ Coupon หรือเงินต้นเป็นเงินตราสกุลอื่นที่ไม่ใช่สกุลเงินของ ผู้ถือตราสารหนี้ ทำให้มีความเสี่ยงในการนำเงินสกุลที่ได้ไปแลกกลับเป็นเงินสกุลของตนได้น้อยลง เช่น ผู้ถือได้รับชำระ Coupon จำนวน 1ดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งในขณะที่ซื้อจะแลกได้ 40 บาท ปัจจุบันกลับแลกได้เพียง 32 บาท เมื่อคิดเป็นอัตราผลตอบแทนเป็นสกุลเงินบาทแล้วจะได้อัตราผลตอบแทนที่ลดลง เป็นต้น 9. ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากอำนาจการซื้อ (Purchasing Power) ของเงินได้ที่ได้รับจากตราสารหนี้ลดลง ซึ่งเกิดจากอัตราเงินเฟ้อในขณะนั้นๆ ตราสารหนี้ส่วนใหญ่มีการจ่าย Coupon คงที่ ซึ่งผู้ถือจะได้รับเงินจำนวนเท่าๆ กันในงวดที่กำหนด จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้ ยกเว้นแต่ตราสารหนี้ที่มีลักษณะการจ่าย Coupon ที่อ้างอิงตามอัตราเงินเฟ้อหรืออ้างอิงตามอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอื่นๆ หรือที่เรียกว่า ตราสารหนี้แบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Note – FRN) ซึ่งการจ่าย Coupon จะขึ้นลงตามอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินแบบต่างๆ แล้วแต่ว่าจะอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยแบบใ 10. ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ (Event Risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกิดจากสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลต่อการชำระ Coupon และเงินต้นของผู้ออกตราสารหนี้ ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นสามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภทเช่น ความเสี่ยงจากการเกิดภัยธรรมชาติ (Natural Catastrophes Risk)ความเสี่ยงจากการถูกครอบงำกิจการ (Corporate Takeover Risk) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ (Regulation Risk) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (Political Risk) เป็นต้น 7. เงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ต้องเสียภาษีหรือไม่ อย่างไร ? ผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาเมื่อได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนตราสารหนี้ต้องเสียภาษีไม่ว่าจะลงทุนเองโดยตรงในตลาดแรก ซื้อต่อจากผู้ลงทุนอื่นในตลาดรอง หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaibma.or.th/EN/Rule/img/tax03.png เงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ แบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลักได้แก่ เงินได้จากกำไรในการขาย (Capital gain) เงินได้จากดอกเบี้ย (Interest income) และเงินได้จากส่วนลด (Discount) หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาซื้อ ต้องเสียภาษีหรือไม่ขึ้นกับว่าเงินได้ที่เกิดขึ้นเป็นเงินได้ประเภทใด และผู้ลงทุนหรือผู้มีเงินได้นั้นเป็นผู้ลงทุนประเภทใด อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ที่เกิดขึ้นจากเงินปันผลและกำไรจากการขาย สำหรับหลักเกณฑ์การเสียภาษีของผู้ลงทุนที่ลงทุนโดยตรงในตราสารหนี้ สามารถสรุปแยกตามชนิดของเงินได้และประเภทของผู้ลงทุนได้ดังตารางข้างล่างนี้ ประเภทของนักลงทุน ประเภทของเงินได้ ดอกเบี้ย ส่วนลด กำไรจากการขาย 1. นักลงทุนในประเทศ - บุคคลธรรมดา หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และมีสิทธิเลือกไม่รวมคำนวณภาษีเงินได้ปลายปี หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และมีสิทธิเลือกไม่รวมคำนวณภาษีเงินได้ปลายปี (3) กำไรจากการขายหักภาษี ณ ที่จ่าย 15 % โดยยกเว้นให้เฉพาะตั๋วเงินหรือตราสารหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย - นิติบุคคล (1) * รวมคำนวณภาษีเงินได้ปลายปี โดยนิติบุคคลผู้จ่ายเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย 1% * รวมคำนวณภาษีเงินได้ปลายปี โดยนิติบุคคลผู้ออกตราสารหักภาษี ณ ที่จ่าย1% รวมคำนวณภาษีเงินได้ปลายปี 2. นักลงทุนต่างประเทศ - บุคคลธรรมดา หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% กำไรจากการชายหักภาษี ณ ที่จ่าย 15 % โดยยกเว้นให้เฉพาะตั๋วเงินหรือตราสารหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย - นิติบุคคล หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (10%) (2) หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (10%) (2) หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (ยกเว้น) (2) (1) ในกรณีเป็นสถาบันการเงินจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3.3% (2) ขึ้นอยู่กับอนุสัญญาภาษีซ้อน (3) เฉพาะผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ทรงรายแรก * มีผลตั้งแต่ 16 ก.ค.. 2544 เป็นต้นไป 8. ตราสารหนี้ในประเทศไทยมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ? จุดเริ่มต้นของตลาดตราสารหนี้ของไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2476 โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อระดมเงินทุนจากภายในประเทศเป็นครั้งแรก การระดมทุนของภาครัฐโดยการออกพันธบัตรรัฐบาลยิ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เมื่อประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา โดยได้มีการกำหนดแนวนโยบายที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก รัฐบาลในช่วงนั้นจึงมีรายจ่ายสูงกว่าการจัดเก็บภาษีเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งส่งผลให้งบประมาณของรัฐบาลขาดดุลอย่างต่อเนื่อง และมีความจำเป็นต้องระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลแทบทุกปี มูลค่าพันธบัตรรัฐบาลที่ออกในช่วงปี 2523 - 2526 มีอัตราการขยายตัวที่สูงถึงร้อยละ 17 ต่อปี อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2533-2540 รัฐบาลดำเนินนโยบายงบประมาณเกินดุลมาโดยตลอด จึงไม่มีการออกพันธบัตรรัฐบาลสู่ตลาด ทำให้ปริมาณพันธบัตรเริ่มลดน้อยลงตามลำดับ ในปี 2541 สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นกระทรวงการคลังได้ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังสามารถออกพันธบัตรเพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูฯมูลค่า 500,000 ล้านบาท ส่งผลให้มีพันธบัตรรัฐบาลไหลออกสู่ตลาดรองเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ นับเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของตลาดตราสารหนี้ไทย เพื่อเป็นการรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดตราสารหนี้ไทย และเพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงาน ชมรมผู้ค้าตราสารหนี้จึงได้ปรับเปลี่ยนสถานะเป็น “ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย (The Thai Bond Dealing Centre: ThaiBDC)” ในวันที่ 22 เมษายน 2541 และปรับเปลี่ยนสถานะอีกครั้งจากศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทยเป็น “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (The Thai Bond Market Associations: ThaiBMA)” ในวันที่ 8 กันยายน 2548 ซึ่งการปรับเปลี่ยนสถานะในครั้งนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับแผนงานการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond) โดยที่ ThaiBMA ได้ทำการโอนขาย “ระบบการซื้อขายตราสารหนี้อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Trading Platform: ETP)” ให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหันมามุ่งเน้นบทบาทของการทำหน้าที่เป็นองค์กรกำกับดูแลตนเอง (Self Regulatory Organization: SRO) การเป็นศูนย์ข้อมูลทางด้านตราสารหนี้ รวมไปถึงการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำหนดราคามาตรฐาน (Pricing Agency) ของตราสารหนี้ในตลาดอีกด้วย สำหรับการขยายตัวของตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจจนถึงปี พ.ศ. 2550 จะเห็นว่า ณ สิ้นปี พ.ศ. 2540 มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ในตลาด (Outstanding Value) มีจำนวนเพียง 547 พันล้านบาท โดยแยกเป็นตราสารหนี้ภาครัฐ อันได้แก่พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund: FIDF) 359 พันล้านบาท และตราสารหนี้ภาคเอกชน 188 พันล้านบาท เทียบกับ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่มีมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ในตลาดถึง 4,633 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 8.5 เท่าตัวในช่วง 10 ปี โดยในจำนวนนี้แยกเป็นตราสารหนี้ภาครัฐ ซึ่งรวมทั้งพันธบัตรและตั๋วเงินคลังของรัฐบาล และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ จำนวน 3,731 พันล้านบาท และตราสารหนี้ภาคเอกชน 875 พันล้านบาท ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ตลาดตราสารหนี้ของไทยที่ได้ขยายตัวอย่างมากหลังวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือ “ต้มยำกุ้งไครซิส” เกิดจากการขยายตัวของตราสารหนี้ภาครัฐ ทั้งจากการขาดดุลงบประมาณและการกู้ยืมเงินจำนวนมากของ FIDF ตลอดจนการเติบโตของตราสารหนี้ภาคเอกชนอีกด้วย 9. ตลาดซื้อคืน (Repo Market) คืออะไร และมีความเกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้อย่างไร ? การทำธุรกรรมซื้อคืนหรือที่เรียกกันว่า Repo คือ การตกลงกันระหว่างผู้ขายหลักทรัพย์และผู้ซื้อหลักทรัพย์ โดย “ผู้ขายหลักทรัพย์” ตกลงที่จะขายหลักทรัพย์ให้กับ “ผู้ซื้อหลักทรัพย์” โดยมีสัญญาว่าจะซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวคืนกลับไปในอนาคตตามวันเวลาและราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ด้วยเหตุนี้ธุรกรรมซื้อคืนจึงเปรียบเสมือนเป็นธุรกรรมการกู้เงินระยะสั้น โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Secured Load) โดยผู้ขายหลักทรัพย์มีสถานะเป็น “ผู้กู้” และผู้ซื้อหลักทรัพย์มีสถานะเป็น “ผู้ให้กู้” สำหรับหลักทรัพย์ที่ตกลงในการทำธุรกรรมเปรียบเสมือนเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Collateral) ในขณะที่ราคาซื้อหลักทรัพย์กลับคืนจะเป็นราคาที่ผู้ขายหลักทรัพย์ขายให้กับผู้ซื้อในตอนแรกบวกกับดอกเบี้ยกู้ยืม (Repo Rate) ตลาดซื้อคืน (Repo Market) นับว่าเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์หลักของธุรกรรมซื้อคืนก็คือเพื่อใช้สำหรับการบริหารเงินระยะสั้น รวมถึงเพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสภาพคล่องในตลาดการค้าตราสารหนี้ และช่วยส่งผลให้พัฒนาการของระบบการเงินของประเทศเกิดความสมดุลและสามารถพัฒนาไปอย่างสอดคล้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์เพิ่มเติมดังนี้ • เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินนโยบายทางการเงินผ่านทางตลาดการเงิน (Open Market Operation) ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ภาครัฐใช้สำหรับดูแลสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินให้อยู่ในสภาวะสมดุลและมีเสถียรภาพ • ช่วยเอื้ออำนวยในการบริหารสภาพคล่องของภาคเอกชนให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น การทำธุรกรรมซื้อคืนสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องระยะสั้น (Short-term Financing) ซึ่งมีต้นทุนทางการเงินต่ำสำหรับผู้กู้ภาคเอกชนที่ต้องการเงินสดหมุนเวียนระยะสั้นเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของธุรกรรมซื้อคืนจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินทั่วไป ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ตัวธุรกรรมเองนั้นเป็นการกู้ยืมเงินโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 10. ดัชนีตราสารหนี้ (Bond Index) คืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร ดัชนีตราสารหนี้ (Bond Index) คือเครื่องมือทางการเงินที่ผู้ลงทุนใช้ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้โดยรวมหรือกลุ่มของตราสารหนี้ที่ได้จัดกลุ่มไว้ โดยดัชนีตราสารหนี้มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์หรือผลตอบแทนที่ต้องการจะวัดจากการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้นั้นๆซึ่งประโยชน์ของดัชนีตราสารหนี้สามารถสรุปได้ดังนี้ 1. เป็นเครื่องมือติดตามภาวะความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้โดยดัชนีจะเป็นตัวชี้การเคลื่อนไหวของราคาและดอกเบี้ยที่นักลงทุนจะได้รับและภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย 2. เป็นเครื่องมือที่ใช้เปรียบเทียบผลประกอบการจากการลงทุนโดยเปรียบเทียบผลตอบแทนที่คำนวณจากค่าดัชนีกับผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในพอร์ตของตนเอง ในกรณีนี้อาจพิจารณาองค์ประกอบอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น อายุเฉลี่ยของตราสาร ประเภทของตราสาร และ Duration ของพอร์ต 3. เป็นเครื่องมือใช้เปรียบเทียบความเคลื่อนไหวระหว่างตลาดของตราสารประเภทต่างๆเช่น ตลาดหุ้นตลาดตราสารหนี้ตลาดเงินทั้งในด้านผลตอบแทน ความเสี่ยง ความผันผวนของตลาดเป็นต้น 4. เป็นเครื่องมือสําคัญที่จะรองรับธุรกรรมใหม่ๆที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยง เช่นธุรกรรมอนุพันธ์ อันได้แก่ Bond Index Option เป็นต้น 11. Clean Price และ Gross Price Index คืออะไร 1. Clean Price Index เป็นดัชนีที่ไม่นําเอาดอกเบี้ยค้างรับเข้ามารวมในการคํานวณ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของค่าดัชนีประเภทนี้ จึงมาจากการเปลี่ยนแปลงของราคา และเวลาที่เหลือก่อนวันไถ่ถอน (Times to Maturity) เท่านั้น 2. Gross Price Index เป็นดัชนีที่นําเอาดอกเบี้ยค้างรับเข้ามารวมในการคำนวณร่วมกับราคาที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของค่าดัชนีประเภทนี้ จึงมาจากองค์ประกอบ 3 ส่วน คือการเปลี่ยนแปลงของราคา เวลาที่เหลือก่อนวันไถ่ถอน และการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยค้างรับ ดัชนีประเภทนี้จะใช้ในการวัดอัตราผลตอบแทนของการลงทุน ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงราคาและดอกเบี้ยค้างรับ 3. Total Return Indexเป็นดัชนีที่นอกจากจะนําเอาดอกเบี้ยค้างรับเข้ามาในการคำนวณแล้วยังได้รวมเอาดอกเบี้ยจ่าย (Coupon Interest) ของพันธบัตรที่มีกําหนดชำระตรงกับวันที่คํานวณค่าดัชนีมาคํานวณด้วย ดัชนีประเภทนี้เหมาะสมกับนักลงทุนที่นําเอาดอกเบี้ยที่ได้รับไปลงทุนต่อเช่นนักลงทุนในกลุ่มธุรกิจประกันภัย เป็นต้น 4. Net Total Return Index ใช้สำหรับวัดความเคลื่อนไหวของราคาที่รวมดอกเบี้ยค้างรับแล้วยังได้รวมเอาดอกเบี้ยจ่าย (Coupon Interest) ของพันธบัตรที่มีกำหนดชำระดอกเบี้ยตรงกับวันที่คำนวณค่าดัชนีมารวมด้วย เพื่อวัดผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งหมดที่นักลงทุนจะได้รับ โดยมีการปรับค่าด้วยอัตราภาษีของผลตอบแทนจากดอกเบี้ยหัก ณ ที่ จ่าย (ปัจจุบัน 15%) 12. หลักการที่ใช้ในการสร้าง ThaiBMA Bond Index การสร้าง ThaiBMA Bond Index ใช้หลักการโดยศึกษาจากการสร้างดัชนีของ European of Financial Analysts Societies หรือ EFFAS ซึ่งเป็นหลักสากล ในการพัฒนา Bond Index สมาคมฯจะเริ่มจากการพัฒนาดัชนีตราสารหนี้ของพันธบัตรรัฐบาล (ThaiBMA Government Bond Index) เป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นตราสารหนี้ที่มีข้อมูลมากเพียงพอที่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินงาน 1. ใช้พันธบัตรรัฐบาลทุกตัวที่เป็นตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนในศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย โดยไม่รวมถึงพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ ฯลฯ เพื่อให้ดัชนีที่ได้สะท้อนภาวะของตลาดพันธบัตรรัฐบาลซึ่งถือเป็นตราสารหนี้ที่ปลอดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นที่แท้จริง นอกจากนั้นในปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลเป็นพันธบัตรที่มีสัดส่วนสูงสุดทั้งในแง่ของมูลค่าคงค้างและมูลค่าการซื้อขาย โดยมีมูลค่าการซื้อขายประมาณกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด 2. ใช้สูตรการคำนวณของ The European Federation of Financial Analyst Societies (EFFAS) (ดู รายละเอียดสูตรการคำนวณจากภาคผนวก) 3. ใช้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weight Average executed yield) ซึ่งเป็นการนำอัตราผลตอบแทน (executed yield) มาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าการซื้อขายแต่ละรายการ เมื่อได้ Weight average executed yield แล้วจึงมาคำนวณราคา (Clean price) ของพันธบัตรแต่ละรายการ ดังนั้นดัชนีที่ได้จะเป็นตัวแทนความเคลื่อนไหวของตลาดพันธบัตรรัฐบาลในแต่ละวัน 4. ในกรณีที่พันธบัตรรัฐบาลบางรายการไม่มีการซื้อขายในวันนั้นจะใช้ค่าเฉลี่ยระหว่างอัตราผลตอบแทนเสนอซื้อเฉลี่ยและอัตราผลตอบแทนเสนอขายเฉลี่ย ที่คำนวณจากจากข้อมูลอัตราผลตอบแทนเสนอซื้อและขายที่เสนอโดยสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่เป็นคู่ค้าตราสารหนี้หลักกับธนาคารแห่งประเทศไทย ( Primary Dealers ) ในวันนั้น 5. ราคาที่ใช้คำนวณค่าดัชนีจะไม่คำนึงถึงกรณีที่พันธบัตรอยู่ในช่วงปิดพัก สมุดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ (XI period) โดยมีสมมติ ฐานว่านักลงทุนถือพันธบัตรตลอดช่วง XI period 6. การคำนวณจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2542 โดยจะกำหนดให้ค่าดัชนี ณ วันที่ 4 มกราคม 2542 มีค่าเท่ากับ 100 เพื่อเป็นฐานสำหรับการคำนวณดัชนีในวันถัดไป 7. การปรับตราสารหนี้ในกรณีที่มีพันธบัตรรัฐบาลที่เข้าใหม่จะทำการปรับเข้าสู่การคำนวณอัตโนมัติในวันทำการถัดไป หรือหากมีการปรับมูลค่าคงค้างการคำนวณจะนำไปปรับค่าดัชนีโดยอัตโนมัติและหากพันธบัตรรัฐบาลรายการใดที่ถูกไถ่ถอนออกจากระบบของสมาคมฯ อันสืบเนื่องมาจากการหมดอายุของพันธบัตรนั้น ๆ พันธบัตรรายการนั้น ก็จะถูกปรับออกจากการคำนวณดัชนีโดยอัตโนมัติโดยจะใช้วันไถ่ถอนออกจากระบบ (delisted date) ของสมาคมฯ เป็นเกณฑ์ ซึ่งตามมาตรฐานของสมาคมฯ จะเป็น 14 วันทำการก่อนหน้าวันหมดอายุจริงของพันธบัตรนั้น ThaiBMA Government Bond Index รูปที่ 1 แสดงกราฟการเคลื่อนไหวของ ThaiBMA Government Bond Indices ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2567 โดยปกติแล้ว ถ้าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ค่าของ Gross price bond index จะมีค่าเพิ่มขึ้นทุกๆ วัน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยค้างรับ (Accrued interest) ยกเว้นกรณีที่พันธบัตรมีการจ่ายดอกเบี้ยเมื่อถึงกำหนด (Payment date) ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ Gross price bond index จะเพิ่มขึ้นมากกว่า Clean price bond index .ในกรณีที่อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลง และ Gross price bond index จะลดลงน้อยกว่า Clean price bond index .ในกรณีที่อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าของ Gross price bond index ก็โอกาสปรับลดลงได้ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยจะไม่ปรับตัวลดลงก็ตาม ลักษณะเช่นนี้เนื่องมาจาก 1. มีพันธบัตรใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณดัชนี โดยจะทำให้อัตราส่วนของมูลค่าดอกเบี้ยค้างรับรวม ๅ (Ai,t *N i,t-1) ต่อมูลค่าของพันธบัตรรวม ๅ (P i,t * N i,t-1) ในสูตรการคำนวณ ลดลงเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า และจะส่งผลให้ค่า GPt ที่ได้จากสูตรคำนวณ GPt = PRt * ( 1 + AIt ) มีค่าลดลงเมื่อเทียบกันวันที่ผ่านมา 2. กรณีที่พันธบัตรที่ใช้ในการคำนวณบางรายการ ถึงครบกำหนดวันชำระดอกเบี้ย Aii,t = 0 13. สูตรการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ สูตรการคำนวณ Clean price bond index PR0 = 100 โดยที่ PR0 = Clean price bond index ณ วันฐาน PRt = Clean price bond index ณ วันที่ t Pi,t = Clean price ของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Pi,t-1 = Clean price ของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t-1 Ni,t-1 = จำนวนคงค้างของตราสารหนี้ตัวที่i ณ วันที่ t-1 n = จำนวนตราสารหนี้ใน Basket of bond สูตรการคำนวณ Gross price bond index การคำนวณ Gross Price Bond Index จะเริ่มจากการคำนวณมูลค่าของดอกเบี้ยค้างรับของตราสารหนี้โดยเทียบกับมูลค่าตามราคาตลาด โดยมีสูตรการคำนวณดังนี้ หลังจากนั้นจึงนำค่า AIt มาคำนวณค่า Gross Price Bond Index ตามสูตรการคำนวณดังนี้ โดยที่ GPt = Gross price bond index ณ วันที่ t PRt = Clean price bond index ณ วันที่ t AIt = Accrued interest ที่ใช้คำนวณค่า Gross Price Bond ณ วันที่ t Ai,t = Accrued interest ของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Pi,t = Clean price ของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Ni,t-1 = จำนวนคงค้างของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t-1 n = จำนวนตราสารหนี้ใน Basket of bond สูตรการคำนวณ Total return bond index การคำนวณ Total return bond index ได้นำดอกเบี้ยที่มีกำหนดชำระในวัน ที่คำนวณค่าดัชนี เข้ามารวมไว้ในการคำนวณด้วย สูตรการคำนวณเป็น ดังนี้ TR0 = 100 โดยที่ TR0 = Gross price bond index ณ วันฐาน TRt = Total return bond index ณ วันที่ t Pi,t = Clean price ของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Pi,t-1 = Clean price ของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t-1 Gi,t = ดอกเบี้ยจ่าย (Coupon interest)ของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Ni,t-1 = จำนวนคงค้างของตราสารหนี้ตัวที่i ณ วันที่ t-1 Ai,t = ดอกเบี้ยค้างรับของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t AIi,t-1 = ดอกเบี้ยค้างรับของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t-1 n = จำนวนตราสารหนี้ใน Basket of bond นอกเหนือจากดัชนีตราสารหนี้ที่นักลงทุนสามารถใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนของการลงทุนแล้ว ยังมีมีดัชนีค่าอื่นๆ ที่นักลงทุนสามารถนำมาใช้ประกอบกับการใช้ดัชนีตราสารหนี้ที่ได้กล่าวข้างต้น ได้แก่ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย (Average yield to maturity) ซึ่งใช้ค่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของตราสารหนี้แต่ละตัวและถ่วงน้ำหนัก ด้ วยค่าของผลคูณระหว่างค่า Duration และมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้แต่ละตัวที่ใช้ในการคำนวณ นอกจากนี้ยังมีค่า Average coupon ค่า Average life ค่า Average duration และ Average convexity สำหรับค่า Average Duration และ ค่า Average Convexity นั้น นักลงทุนสามารถใช้เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยของราคาตราสารหนี้เมื่ออัตราผลตอบแทน (Yield) เปลี่ยนแปลงไป โดยคำนวณจากตราสารหนี้ที่อยู่ในกลุ่มตราสารหนี้คัดเลือก (Basket of bond) และเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาด รายละเอียดการคำนวณมีดังนี้ การคำนวณอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย (Average yield to maturity) โดยที่ AYt = Average yield to maturity ณ วันที่ t Yi,t = Yield to maturity ของตราสารตัวที่ i ณ วันที่ t Di,t = Duration ของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Pi,t = ราคาของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Ai,t = ดอกเบี้ยค้างรับของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Ni,t = จำนวนคงค้างของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t n = จำนวนตราสารหนี้ใน Basket of bond สูตรการคำนวณ ค่า Average coupon เป็นการคำนวณ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของพันธบัตร COt = โดยที่ COt =อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย Ct = อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรตัวที่ i ณ วันที่ t Ni,t-1 = จำนวนคงค้างของตราสารหนี้ตัวที่i ณ วันที่ t-1 n = จำนวนตราสารหนี้ใน Basket of bond สูตรการคำนวณ ค่า Average Life เป็นการคำนวณอายุเฉลี่ยของพันธบัตร LFt = โดยที่ LFt = อายุคงเหลือเฉลี่ย Lt = อายุคงเหลือของพันธบัตรตัวที่ i ณ วันที่ t Ni,t-1 = จำนวนคงค้างของตราสารหนี้ตัวที่i ณ วันที่ t-1 n = จำนวนตราสารหนี้ใน Basket of bond สูตรการคำนวณ ค่า Average Duration โดยที่ DUt = Average duration ณ วันที่ t Di,t = Modified duration ของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Pi,t = ราคา Clean price ของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Ai,t = ดอกเบี้ยค้างรับ ของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Ni,t = จำนวนคงค้างของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t n = จำนวนตราสารหนี้ใน Basket of bond สูตรการคำนวณ ค่า Average convexity CXt = โดยที่ CXt = Average convexity ณ วันที่ t Xi,t = Convexity ของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Pi,t = ราคา Clean price ของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Ai,t = ดอกเบี้ยค้างรับของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t Ni,t = จำนวนคงค้างของตราสารหนี้ตัวที่ i ณ วันที่ t n = จำนวนตราสารหนี้ใน Basket of bond 14. หลักการสร้างดัชนีตราสารหนี้หุ้นกู้เอกชน (ThaiBMA Investment Grade Corporate Bond Index) ในส่วนของการคำนวณดัชนีตราสารหนี้หุ้นกู้เอกชนจะยังคงใช้สูตรการคํานวณและหลักการในการนำตราสารหนี้เข้าไปรวมหรือออกจากกลุ่มเช่น เดียวกับการสร้างดัชนีตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาล แต่จะมีข้อแตกต่างในการใช้อัตราผลตอบแทนและราคาหุ้นกู้แต่ละรุ่นดังต่อไปนี้ 1. ใช้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Weight Average executed yield) ซึ่งเป็นการนำอัตราผลตอบแทน (executed yield) มาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าการซื้อขายแต่ละรายการ เมื่อได้ Weight average executed yield แล้วจึงมาคำนวณราคา (Clean price) ของพันธบัตรแต่ละรายการ 2. ในกรณีที่หุ้นกู้บางรายการไม่มีการซื้อขายในวันนั้น หากวันคำนวณดัชนีตรงกับวันที่มีการรายงานข้อมูลอัตราผลตอบแทนเสนอซื้อที่ได้จาก quote ของ active dealers จะทำการเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนเสนอซื้อที่ได้และใช้เป็นอัตราผลตอบแทนในการคำนวณแทน 3. ในกรณีที่หุ้นกู้บางรายการไม่มีการซื้อขายและวันคำนวณดัชนีไม่มีการรายงานข้อมูลอัตราผลตอบแทนเสนอซื้อจาก active dealers จะใช้วิธีการคำนวณหาส่วนต่าง(Spread) ระหว่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนรุ่นนั้นๆ กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่มี Duration เท่ากัน จากข้อมูลอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่มีการซื้อขายหรือข้อมูลอัตราผลตอบแทนเสนอซื้อล่าสุดกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลบนเส้นอัตราผลตอบแทน ณ วันนั้นๆ จากนั้นนำ Spread ที่ได้มาบวกกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลบนเส้นอัตราผลตอบแทนที่มี Duration เท่ากัน ในวันคำนวณค่าดัชนี ซึ่งจะได้อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เอกชนสำหรับเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการคำนวณดัชนีต่อไป 4. ในกรณีที่วันคำนวณดัชนีตรงกับวันหยุดทางการ จะใช้อัตราผลตอบแทนล่าสุดเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการคำนวณดัชนี ThaiBMA ได้เริ่มจัดทำดัชนีหุ้นกู้ Investment Grade Corporate Bond Index ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ดัชนีนี้มีการจัดทำ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เท่านั้น และในปัจจุบันได้แนะนำ ให้ปรับไปใช้ดัชนีใหม่แทน สำหรับใช้ติดตามความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกู้ภาคเอกชน คือ ดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชนจากราคามูลค่ายุติธรรม ณ สิ้นวัน (Mark-to-Market Corporate Bond Index) เนื่องจากจะมีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับราคาตลาดของหุ้นกู้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ Investment Grade Corporate Bond Index เพราะมีการนำราคา Mark-to-Market ณ สิ้นวันมาใช้ในการคำนวณค่าดัชนี 15. ความหมายของเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) คือเส้นแสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทน (Yield) กับอายุคงเหลือของตราสารหนี้ (Time to Maturity) โดยทุกๆจุดบน Yield Curve จะแสดงอัตราผลตอบแทนตามอายุที่เหลือของตราสารหนี้ โดยปกติการสร้าง Yield Curve จะนำเอาพันธบัตรรัฐบาลในช่วงอายุต่างๆมาใช้ในการสร้าง ซึ่งจะเรียกว่า Risk-Free Yield Curve หรือ เส้นอัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยง ประโยชน์ของ Yield Curve 1. ทำให้ทราบอัตราผลตอบแทนในช่วงอายุต่างๆของตราสารหนี้ 2. ใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงและสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับการคำนวณราคาตราสารหนี้ ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง 3. ใช้สำหรับการบันทึกมูลค่าทางบัญชีของตราสารหนี้ (Mark to Market) 4. เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจลงทุน และการวางกลยุทธ์การลงทุน รูปร่างของ Yield Curve โดยทั่วไป รูปร่างของ Yield Curve มีอยู่ 4 แบบ ได้แก่ 1. แบบปกติ ( Normal Yield Curve) จะมีลักษณะโค้งขึ้น (Upward sloping) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาวจะสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้น Yield Curve ในลักษณะนี้เป็นแบบที่พบบ่อย 2. แบบลาดลง (Inverted Yield Curve) มีลักษณะลาดลงจากซ้ายไปขวา ( Downward sloping) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นจะสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาว Yield Curve ในลักษณะนี้จะพบในภาวะที่ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ 3. แบบหลังเขา (Humped Yield Curve) แสดงถึงอัตราผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นตามอายุคงเหลือของตราสารหนี้จนถึงระดับหนึ่ง จากนั้นจะลดลงเมื่ออายุของตราสารหนี้เพิ่มขึ้น 4. แบบราบ ( Flat Yield Curve) แสดงถึงอัตราผลตอบแทนที่เท่ากันในทุกช่วงอายุคงเหลือของตราสารหนี้ 16. การสร้าง ThaiBMA Government Bond Yield Curve สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ได้เริ่มพัฒนาและเผยแพร่เส้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Thai BMA Government Bond Yield Curve) มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 โดยในช่วงแรกของการพัฒนา (ตั้งแต่กันยายน 2541 - 15 กันยายน 2542) จะใช้อัตราผลตอบแทนของการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองตราสารหนี้ เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าการซื้อขาย (Weighted Average Executed Yield) ในระยะแรกนั้น Yield Curveที่ได้จะครอบคลุมช่วงอายุตราสารหนี้ระหว่าง 1-3 ปี เท่านั้น แต่หลังจากที่มีการออกพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุปานกลางถึงยาวมากขึ้น ทำให้ Yield Curve ที่ได้สามารถแสดงอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ตามช่วงอายุคงเหลือได้ตั้งแต่ 1- 15 ปี อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2542 เป็นต้นมา สมาคมฯ ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการสร้าง Government Bond Yield Curve จากการใช้ Weighted Average Executed Yield มาเป็นการใช้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของการเสนอซื้อ (Bid Yield ) ที่ได้จากสถาบันการเงินคู่ค้าพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย (ปัจจุบันมี 9 บริษัท ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งและบริษัทหลักทรัพย์ 1 แห่ง) โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ - ใช้ Bid Yield ของพันธบัตรรัฐบาลประเภท Loan Bond (LB) ทุกรุ่น - เป็น Bid Yield ของมูลค่าการเสนอซื้อตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป - ให้คู่ค้าตราสารหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยส่ง Bid Yield ดังกล่าวให้สมาคมฯ ภายในเวลา 16:00 น. ของทุกวันทำการ - ในการสร้าง Yield Curve จะใช้ Average Bid Yield โดยตัดราคาสูงสุดและต่ำสุดอย่างละ 1 ตัวออก - สมาคมฯ เป็นผู้นำออกเผยแพร่เป็นการทั่วไปในทุกสิ้นวันทำการประมาณเวลา 16:30 น. พร้อมจัดส่งข้อมูลดิบให้ - ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อการตรวจสอบและติดตามผล ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามข้อสรุปจากคณะทำงานย่อย "กลุ่มพัฒนาตลาดรองพันธบัตร" ภายใต้คณะทำงานเพื่อการพัฒนาตลาดพันธบัตรในประเทศ กระทรวงการคลัง นอกจากนี้คณะทำงานยังได้ กำหนดหลักเกณฑ์ สำหรับ การเลือก Benchmark Bond โดยเป็น Loan Bond ที่มีอายุใกล้เคียงกับ 1, 2, 5, 7 และ 10 ปี โดยมีมูลค่าการออกขนาดใหญ่ และปริมาณการซื้อขายมากเพียงพอ สมาคมฯ เผยแพร่ข้อมูล Government Bond Yield Curve และ Benchmark Bond เป็นการทั่วไปทุกสิ้นวันทำการภายในเวลา 16:30น. ผ่านหนังสือพิมพ์รายวันและ Thai BMA Website ( www.thaibma.or.th) 17. ส่วนต่างระหว่างอัตราเสนอซื้อและอัตราเสนอขายของพันธบัตรรัฐบาล (Bid-Offer Spread of Government Bond) คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร ที่มาของการจัดทำ ตามที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยได้มีการจัดทำ ThaiBMA Government Bond Yield Curve มาตั้งแต่ปี 2541 โดยสร้างจากอัตราผลตอบแทนที่มีการซื้อขายจริงของพันธบัตรรัฐบาลประเภท Loan Bond (LB) ทุกรุ่น และต่อมาภายหลังในเดือนกันยายน 2542 ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้างเป็นอัตราผลตอบแทนเสนอซื้อเฉลี่ย (Average Bid Yield) ของพันธบัตร Loan Bond ดังกล่าว โดยให้กลุ่มสถาบันการเงินที่เป็นคู่ค้าพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งข้อมูลแก่สมาคมฯ ณ สิ้นวันทำการ เพื่อใช้จัดทำ TBMA Government Bond Yield Curve เพื่อนำเผยแพร่แก่สาธารณชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวของตราสารหนี้สะท้อนสภาวะตลาดและสภาพคล่องการซื้อขายของพันธบัตรรัฐบาลได้มากยิ่งขึ้น คณะทำงานกลุ่มพัฒนาตลาดรองพันธบัตรจึงมีความคิดที่จะเสนอข้อมูลส่วนต่างระหว่างอัตราเสนอซื้อและอัตราเสนอขาย (Bid-offer spread of Government Bonds) โดย สมาคมฯ ได้เผยแพร่ข้อมูล Spread ดังกล่าวผ่าน Website ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2543 เป็นต้นมา หลักเกณฑ์ในการสร้าง คู่ค้าพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย (Primary Dealer) เสนอ Bid Yield และ Offer Yield ของพันธบัตรรัฐบาลประเภท Loan Bond (LB) ทุกรุ่น ให้สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยภายในเวลา 16.00 น. ของทุกวันทำการ Bid Yield และ Offer Yield ดังกล่าวต้องเป็นอัตราที่เสนอซื้อและเสนอขายสำหรับมูลค่าขั้นต่ำ 20 ล้านบาท คำนวณหาค่า Spread ซึ่งคือ ความแตกต่างระหว่าง Bid Yield และ Offer Yield โดยใช้ Bid Yield ลบด้วย Offer Yield ของ Primary Dealer แต่ละราย จากนั้นนำ Spread มาคำนวณหาค่าเฉลี่ยโดยตัดค่าสูงสุดและต่ำสุดออก ประโยชน์ของ Bid-Offer Spread Bid-Offer Spread จะช่วยสะท้อนสภาวะการซื้อขายของพันธบัตรรัฐบาลในตลาด โดยถ้าช่วงใดตลาดมีสภาพคล่องสูง นั่นคือ มีความต้องการซื้อขายมาก ช่วงห่างระหว่างอัตราเสนอซื้อและอัตราเสนอขายก็จะมีแนวโน้มแคบลง เนื่องจากตลาดมีสภาพคล่องสูง ในขณะที่ผู้ซื้อและผู้ขายต่างมีความต้องการทำธุรกรรมมาก ปริมาณการซื้อขายหรือมูลค่าการซื้อขายรวมของตลาดจะอยู่ในระดับสูง อุปสงค์และอุปทานในตลาดที่มีค่อนข้างมากนั้นจะทำให้ระดับราคาหรืออัตราผลตอบแทนของผู้ซื้อและผู้ขายขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น ซึ่งก็คือ Spread แคบลงนั่นเอง ในทางกลับกัน หากในช่วงเวลานั้นตลาดมีสภาพคล่องต่ำ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างต้องการชะลอการทำธุรกรรม ผู้ซื้อก็จะเสนอซื้อในราคาที่ต่ำ หรืออัตราเสนอซื้อ (Bid Yield) สูง เนื่องจากหากตนจะซื้อจะต้องซื้อโดยได้รับผลตอบแทนที่สูงพอที่จะครอบคลุมความเสี่ยงสำหรับสภาพคล่องในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย (Liquidity Risk Premium) หากมองในด้านผู้ขาย ผู้ขายเองก็จะตั้งราคาเสนอขายที่สูงหรืออัตราเสนอขาย (Offer Yield) ต่ำทำให้ช่องว่างระหว่างอัตราเสนอซื้อและอัตราเสนอขายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็คือ Spread กว้างขึ้นนั่นเอง ดังนั้น นักลงทุนสามารถศึกษา Bid-Offer Spread ในการบอกถึงสภาพคล่องโดยรวมของตลาดพันธบัตรรัฐบาลได้ รวมทั้งสามารถวิเคราะห์ในแต่ละรุ่นและช่วงอายุได้เช่นกัน โดยจะพบว่าพันธบัตรบางรุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงๆ ซึ่งก็คือมีสภาพคล่องสูง จะมี Spread ที่ค่อนข้างแคบ ส่วนพันธบัตรรุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายต่ำหรือไม่มีสภาพคล่องจะมี Spread ค่อนข้างกว้าง โดยสรุปแล้ว Spread เป็นข้อมูลที่จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์และเปรียบเทียบถึงสภาวะสภาพคล่องโดยรวม หรือของแต่ละรุ่นของพันธบัตรที่มีอายุและผลตอบแทนที่แตกต่างกัน รวมทั้งภาวะการซื้อขายและการแข่งขันการทำธุรกรรมในตลาดของ Primary dealers. 18. นักลงทุนรายย่อย หรือประชาชนทั่วไปจะลงทุนในตราสารหนี้ได้อย่างไร? การลงทุนในตราสารหนี้สามารถลงทุนได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม การลงทุนทางตรง: การที่นักลงทุนทำการซื้อตราสารหนี้ในตลาดแรกในกรณีที่ผู้ออกเสนอขายเป็นการทั่วไป (Public Offering) หรือทำการซื้อผ่านผู้ค้าตราสารหนี้ (Dealer) ตามราคาเสนอซื้อที่ Dealer ประกาศไว้ การลงทุนทางอ้อม: การซื้อกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก หรือลงทุนผ่าน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเน็จบำนาญราชการ ซึ่งกองทุนเหล่านี้จะนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้อีกต่อหนึ่ง 19. สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) คือใคร มีบทบาทหน้าที่อย่างไรบ้าง สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ทำหน้าที่หลักในการเป็นการองค์กรกำกับดูแลสมาชิก (Self-Regulatory Organization/SRO) และเป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านตลาดตราสารหนี้ และส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ โดยปัจจุบันมีบทบาทหน้าที่หลัก 5 ข้อ ได้แก่ 1. การเป็นองค์กรกำกับดูแลตนเอง (SRO) ThaiBMA ทำหน้าที่กำกับดูแลสมาชิกเพื่อให้การประกอบธุรกรรมการค้าตราสารหนี้เป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน การดำเนินงานประกอบด้วย - การกำหนดจรรยาบรรณและมาตรฐานการปฏิบัติในตลาดรองตราสารหนี้ ( Ethics & Code of Conduct) รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกรรมการค้าตราสารหนี้ - การติดตามภาวะตลาดและตรวจสอบการซื้อขายตราสารหนี้ ( Market monitoring & Surveillance) เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่เป็นธรรมแก่ลูกค้า - การกำหนดกระบวนการพิจารณาความผิดและกำหนดบทลงโทษผู้ค้าตราสารหนี้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 2. การให้บริการและเป็นศูนย์กลางข้อมูลในตลาดตราสารหนี้ (Bond Information Center) โดย ThaiBMA ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ในการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลต่างๆในตลาดตราสารหนี้ผ่านทาง www.thaibma.or.th ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลพื้นฐานของตราสารหนี้ (Bond Features) ข้อมูลราคาอ้างอิงต่างๆ (Reference yield) ของตลาด ตลอดจนข่าวสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน 3. การส่งเสริมธุรกิจผู้ร่วมตลาด (Association) ThaiBMA ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ร่วมตลาดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ รวมทั้งทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิธีปฏิบัติและมาตรฐานต่างๆ เพื่อเป็นแนวเดียวกัน เช่น - การกำหนดสัญลักษณ์มาตรฐานของตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน - การกำหนดมาตรฐานการคำนวณราคาและอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ประเภทต่างๆ - การกำหนดมาตรฐานด้านงานทะเบียนตราสารหนี้ 4. การจัดทำและเผยแพร่ราคาอ้างอิงตรสารหนี้ (Bond Agency Pricing) ThaiBMA มีหน้าที่ในการจัดทำและเผยแพร่ราคาอ้างอิงตราสารหนี้ สำหรับการ mark-to-market ของผู้ลงทุนโดยเฉพาะกองทุนรวมต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อกำหนดราคายุติธรรมสำหรับตราสารหนี้ 5. การพัฒนาตลาดตราสารหนี้และให้ความรู้ด้านตราสารหนี้แก่ผู้มีส่วนร่วมในตลาด (Market Development and Education) ThaiBMA มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราหนี้ โดยการพัฒนาเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการซื้อขายและลงทุนในตราสารหนี้ - การพัฒนา benchmark ต่างๆ เช่น Yield curve, Bond index - การพัฒนาเพื่อรองรับนวัตกรรมทางการเงินประเภทใหม่ๆ - การจัดอบรมความรู้ด้านตราสารหนี้ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านตราสารหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการให้ความรู้ ความเข้าใจด้านการลงทุนในตราสารหนี้แก่นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชน นักศึกษา ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.thaibma.or.th/EN/About/AboutThai.aspx) 20. สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ซื้อขายตราสารหนี้ด้วยหรือไม่? สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเป็นสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ภายใต้มาตรา 230 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อทำหน้าที่หลักในการเป็นองค์กรกำกับดูแลสมาชิก และเป็นศูนย์รวมข้อมูลด้านตลาดตราสารหนี้ รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยไม่ได้รับซื้อและขายตราสารหนี้โดยตรง (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: http://www.thaibma.or.th/EN/About/AboutThai.aspx) 21. หากมีสถาบันการเงินเสนอให้ซื้อหรือลงทุนในหุ้นกู้ ควรต้องพิจารณาอะไรบ้างและจะทราบได้อย่างไรว่าควรลงทุนหรือไม่? อันดับความหน้าเชื่อถือ ว่าอยู่ในระดับที่ท่านรับได้หรือไม่ นอกจากกนี้ท่านยังสามารถเข้าไปดูบทวิเคราะห์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ ในประเทศไทยมีอยู่ 2 แห่งคือ Tris rating (http://www.trisrating.com/) และ Fitch rating (https://www.fitchratings.co.th/th/) อีกส่วนหนึ่งที่จะต้องพิจารณาคือ คุณลักษณะของหุ้นกู้ที่ท่านเลือกลงทุนว่าตรงกับความต้องการของท่านแค่ไหน เช่น อายุของหุ้นกู้ ประเภท งวดการจ่ายดอกเบี้ย การคืนเงินต้น และสิทธิแฝงต่างๆ เป็นต้น รวมถึงนักลงทุนควรเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย (Coupon) ของตราสารหนี้ดังกล่าวโดยอ้างอิงจาก corporate bond yield curve ของ ThaiBMA (ข้อมูลเพิ่มเติมที่:http://www.thaibma.or.th/EN/Market/YieldCurve/Corporate.aspx )เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม 21. หากอยากทราบว่ามีหุ้นกู้ตัวไหนจะออกบ้าง เพื่อที่จะพิจารณาลงทุนจะหาข้อมูลได้ที่ไหน? ท่านสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.thaibma.or.th/EN/Home.aspx 23. การนำหุ้นกู้มาขึ้นทะเบียนในสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยมีขั้นตอนอย่างไรและเสียค่าธรรมเนียมเท่าไร? ท่านสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.thaibma.or.th/EN/Product/BondRegistration.aspx หรือติดต่อฝ่ายขึ้นทะเบียน 02-257-0357 ต่อ 351,352, 353,354,355 24. ผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW)และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth / UHNW) คืออะไร 25. นักลงทุนรายย่อยควรจะขายหุ้นกู้ที่ถืออยู่เมื่อใด? การซื้อขายตราสารหนี้มีค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอันเนื่องจากส่วนต่าง ซึ่งจะสูญไปเมื่อ ซื้อมาและขายไป รวมทั้งการลงทุนในตราสารหนี้เพื่อมีจุดมุ่งหมายจากการเก็งกำไร ทำได้ไม่ง่ายนัก และไม่แนะนำในกรณีของนักลงทุนรายย่อยซึ่งมีขนาดพอร์ตขนาดเล็ก ดังนั้นนักลงทุนรายย่อยควรเน้นการลงทุนตราสารหนี้เพื่อการลงทุน หรือออมเงินระยะยาว โดยใช้ข้อดีของตราสารหนี้คือ มีความเสี่ยงต่ำ มีผลตอบแทนคงที่ และมีอายุการลงทุนให้เลือกในระยะยาวกว่าการฝากเงิน ดังนั้นการลงทุนของรายย่อยแนะนำให้เป็นการลงทุนเพื่อถือจนสิ้นอายุ นอกจากมีความจำเป็นอย่างมาก ถึงจะแนะนำให้ขายตราสารหนี้ ความจำเป็นที่กล่าวคือ ความจำเป็นต้องใช้เงินของผู้ถือ หรือ ผู้ถือเล็งเห็นว่า ผู้ออกตราสารหนี้มีความน่าเชื่อถือลดลงๆ และเล็งเห็นว่า ตราสารหนี้ที่ถือไว้มีความเสี่ยงจนเกินไป หรือผู้ถือเล็งเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยกำลังจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในกรณีนี้ถือเป็นการเก็งกำไรอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีสภาวการณ์ที่น่าเชื่อถือจริงๆ ก็ไม่ควรนำออกขายเพื่อเก็งกำไร กรณีอีกอย่างหนึ่งที่อาจทำให้ผู้ถือขายตราสารหนี้คือ การเปลี่ยนแแปลงแผนการออมของผู้ถือ ซึ่งผู้ถืออาจต้องการขายตราสารหนี้เพื่อซื้อตราสารหนี้ที่มีอายุตามที่ต้องการตามแผนการออม 26. มีเงินจะลงทุน อยากทราบว่าต้องดูหุ้นกู้ตัวไหนว่าลงทุนแล้วได้กำไร? การลงทุนในตราสารหนี้ ควรมุ่งเน้นเป็นการออมระยะยาวมากกว่าการลงทุนเพื่อเก็งกำไร ดังนั้นการลงทุนของรายย่อย ควรจะถือจนครบกำหนดไถ่ถอน การลงทุนควรพิจารณาถึง ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยพิจารณาจาก ความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้โดยเฉพาะข้อมูลจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ เช่น Tris rating (http://www.trisrating.com/) และ Fitch rating (https://www.fitchratings.co.th/th/)เป็นต้น จากนั้นควรพิจารณาจากข้อมูลตราสารหนี้ว่า คุณสมบัติต่างๆ เป็นไปตามแผนการออมของเรา เช่น ในกรณีที่มีแผนการออมแน่นอน เราอาจพิจารณาลงทุนตราสารหนี้ที่มีอายุตรงกับแผนการออม ถ้าที่ต้องการเงินเป็นระยะๆ เพื่อใช้จ่าย อาจพิจารณาหุ้นกู้ชนิดทยอยจ่ายคืนเงินต้น หรือในกรณีที่จะต้องใช้เงิน อาจทดแทนความเสี่ยงจากการขาดทุนในการขายตราสารหนี้ได้โดยการถือหุ้นกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวแทน แต่เสี่ยง ในกรณีนี้ผู้ถือก็จะมีความเสี่ยงในแง่ของผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ตามอัตราดอกเบี้ยที่ตราสารหนี้นั้นๆ ใช้อ้างอิงได้