ThaiBMA Gallery ThaiBMA ได้จัดสัมมนา Sustainability Bond Forum 🌳ThaiBMA ได้จัดสัมมนา Sustainability Bond Forum เมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมาโดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายองค์กรมาร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และประสบการณ์รวมถึงศักยภาพในการออก Sustainability Bond🌳 🔸ในช่วงที่ผ่านมา การออก Green Bond ซึ่งถือเป็นประเภทหนึ่งของ Sustainable Bond มีแนวโน้มเติบโตขึ้นทั่วโลกโดยในปี 2019 มียอดการออกสูงถึง 250 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 7.7 ล้านล้านบาท สำหรับในประเทศไทยมีการออก Green Bond และ Sustainability Bond จากภาคธุรกิจหลายแห่งในช่วงปี 2018-2019 ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ออก Green Bond เมื่อเดือน มิถุนายน2018 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ออก Gender bond ในเดือน สิงหาคม 2019 ธนาคารกสิกรไทยเป็นออก Sustainability bond ในเดือน ตุลาคม 2018 บมจ. บี. กริม เพาเวอร์ ในเดือนธันวาคม 2018 บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ในเดือน พฤษภาคม 2019 และ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ในเดือน ตุลาคม 2019 เพื่อระดมเงินทุนไปใช้ในโครงการส่งเสริมความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม 🔸บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่มีนโยบายดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2547 เริ่มจากการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ไบโอดีเซล แก๊สโซฮอล และโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาดรวมถึงมีการจัดตั้งบริษัท BBGI ที่มุ่งเน้นทำธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากสินค้าเกษตรกรรม เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง อาทิ เครื่องสำอาง อาหารเสริมต่อไป ทั้งนี้บริษัทคาดว่าแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะเติบโตมากขึ้นในอนาคตโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ดังนั้น กลุ่มบริษัทจึงมีศักยภาพในการออก Green bond เพื่อสนับสนุนแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน 🔸ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีการออก Gender Bond ในวงเงิน 7 พันล้านบาท อายุ 7 ปี ซึ่งถือเป็น Social Bond ประเภทหนึ่งที่ใช้เป็นแหล่งเงินทุนให้แก่กิจการ SME ที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของหรือผู้บริหาร เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเพศหญิง และธนาคารยังอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะออก Green Bond ต่อไป 🔸ธนาคารกสิกรไทยก็ถือเป็นธนาคารแห่งแรกของไทยและอาเซียนที่มีการออก Sustainability Bond ในวงเงิน 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐโดยเสนอขายแก่ผู้ลงทุนต่างประเทศทั้งจำนวน เพื่อระดมเงินทุนไปให้สินเชื่อแก่โครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งหุ้นกู้ที่ออกโดยธนาคารทั้งสองแห่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามอัตราผลตอบแทนของตลาด แต่สิ่งที่ธนาคารทั้งสองแห่งได้รับ คือได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม และได้รับประสบการณ์จากการออก Sustainability Bond ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ออกรายอื่น 🔸บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นผู้ออก Green Bond ที่มีมูลค่าสูงที่สุดของไทยในปี 2019 คือ 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทได้รับเลือกให้อยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Index บริษัทจึงมีหน่วยงานเฉพาะที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางธุรกิจ การออก Green bond รุ่นแรกของบริษัทจึงเป็นไปอย่างราบรื่น และได้รับความสนใจจากนักลงทุน มียอดการจองซื้อสูงกว่าวงเงินการเสนอขายถึงกว่า 8 เท่า 🔸การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอีกแห่งหนึ่งที่มีศักยภาพและมีความสนใจจะออก Social Bond เพื่อใช้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งเป็นพันธกิจของการเคหะฯ โดยปัจจุบัน การเคหะฯ กำลังศึกษาเงื่อนไขหลักเกณฑ์การออก Social bond แต่ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากขั้นตอนการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติจากหลายหน่วยงาน ทั้งนี้ปัจจุบันการเคหะมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุหลายโครงการ อาทิ บ้านผู้สูงอายุที่คลอง 1 และคลอง 2 จังหวัดปทุมธานี และโครงการบ้านประหยัดพลังงาน บ้านเบอร์ 5 ที่ร่วมกับ กฝผ. ในหลายจังหวัด 🔸ผู้แทนจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) กล่าวว่า จากการที่นานาประเทศได้ตระหนักถึงผลกระทบจาก climate change และได้จัดทำความตกลงปารีสร่วมกันเพื่อมีเป้าหมายในระยะยาว คือลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาและลดการปล่อยมลพิษเหลือ 40 กิกะตัน ความต้องการการลงทุนเพื่อส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนจึงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ UNFCCC คาดว่าทั่วโลกจะต้องการเงินลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนประมาณ 2-3 ล้านล้าน USD ต่อปี ทั้งนี้การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะประสบความสำเร็จต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน 🔸ผู้แทนจาก Sustainalytics ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในการวิจัย วิเคราะห์ และจัดเรทติ้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) กล่าวว่า กว่า 80% ของการระดมทุนจาก Green Bonds มักถูกนำไปใช้ในโครงการหลักๆ 5 ประเภทได้แก่ พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อาคารสีเขียว การคมนาคมสะอาด และ การบริหารจัดการน้ำและของเสียอย่างยั่งยืน ผู้ออก Sustainability Bonds สามารถอ้างอิงให้เป็นไปตามกรอบตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Framework) ที่จัดทำโดย ICMA หรือ ASEAN Sustainability Bond Standards เป็นต้น โดย Framework จะประกอบด้วยวัตถุประสงค์การใช้เงิน รายละเอียดของโครงการ การติดตามวัดผลและประเมินโครงการต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่าเงินทุนได้นำไปใช้เพื่อพัฒนาความยั่งยืน สังคม และสิ่งแวดล้อม 🔸งานสัมมนา Sustainability Bond Forum ครั้งนี้ทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ตลอดจนแนวโน้มการออก Green bonds, Social bond หรือ Sustainability Bond และน่าจะช่วยผลักดันให้องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนมีความเข้าใจและแรงบันดาลใจให้หันมาระดมทุนผ่าน Sustainability Bonds มากขึ้น Back to Main Gallery