ThaiBMA Gallery ThaiBMA จัดงานสัมมนา online ในหัวข้อ ทำความรู้จักกับ “Sustainability-Linked Bonds” (SLB) 🔸26 ม.ค. 2021 : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) จัดงานสัมมนา online ในหัวข้อ ทำความรู้จักกับ “Sustainability-Linked Bonds” (SLB) ซึ่งถือเป็นการสัมมนาเกี่ยวกับตราสารหนี้ประเภทนี้เป็นครั้งแรกในประเทศ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรต่างชาติได้แก่ Mr. Mushtaq Kapasi จาก International Capital Market Association (ICMA), Ms. Nicole Della Vedova จาก Enel Group, Mr. Nicholas Gandolfo จาก Sustainalytics และ คุณปณียา นิธิวรรณากุล จากสำนักงาน กลต. 🔸คุณอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ให้ภาพรวมของตลาด ESG bond ในประเทศไทยซึ่งประกอบด้วย Green bond, Social bond และ Sustainability bond โดยเริ่มมีการออก Green bond ครั้งแรกในปี 2018 และยอดการออกได้เติบโตอย่างต่อเนื่องจน ณ สิ้นปี 2020 ESG bond ในไทยมียอดคงค้างสูงกว่า 126,560 ล้านบาท จากผู้ออกทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยในปี 2020 ที่ผ่านมายอดการออก ESG bond ในไทยเติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 120% โดยมีผู้ออกรายใหญ่คือ กระทรวงการคลังได้ออก Sustainability Bond เป็นครั้งแรกของไทยและ ASEAN มูลค่า 30,000 ล้านบาทเพื่อระดมทุนไปใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งได้แก่ การเคหะแห่งชาติออก Social bond เป็นครั้งแรกเพื่อใช้ในการก่อสร้างที่พักสำหรับผู้มีรายได้น้อย และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ที่ออก Green bond เพื่อนำเงินไปปล่อยกู้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังมีผู้ออกหน้าใหม่จากภาคเอกชนได้แก่ GPSC, PTT และ RATCH ที่ออก Green bond เป็นครั้งแรกเพื่อลงทุนในโครงการพลังงานทางเลือก 🔸Mr. Mushtaq Kapasi จาก International Capital Market Association (ICMA) ได้อธิบายถึง Sustainability-Linked Bonds Principles (SLBP) ที่ ICMA เป็นผู้จัดทำ และเผยแพร่ ในเดือนมิถุนายน 2020 เป็นครั้งแรกเพื่อใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงสากล โดย SLB เป็นตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับเป้าหมายโดยรวมในอนาคตของบริษัทผู้ออกที่จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม SLB มีข้อแตกต่างจาก Green bond หรือ Social bond ทั่วไปในแง่ที่เงินทุนที่ได้จากการออก SLB สามารถนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจปกติของบริษัท โดยผู้ออกอาจจะยังไม่มีโครงการหรือการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืนโดยเฉพาะแต่มีความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน แต่หากบริษัททำไม่สำเร็จตามเป้าหมาย(Sustainability Performance Target) ภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้แก่นักลงทุน โดยหลักการของ SLB มี 5 ข้อหลักๆด้วยกันได้แก่ 1) การเลือกตัวชี้วัด (KPI) ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของบริษัทและสามารถวัดผลได้ 2) การตั้งเป้าหมายความยั่งยืน (Sustainability Performance Target: SPT) เช่นต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก X% ภายในเวลา X ปี 3) ลักษณะของตราสารหนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นกับผู้ออกว่าสามารถทำให้ KPI ถึงเป้า SPT หรือไม่ 4) การรายงานผล ต้องมีการรายงานผลเป็นระยะ อย่างน้อยปีละครั้งและ 5. การตรวจสอบ ควรจัดให้มีผู้ประเมินอิสระจากภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อประเมินว่าแต่ละ KPI ถึงเป้า SPT หรือไม่ การตรวจสอบหลังจากที่ได้ออกตราสารแล้วถือเป็น ข้อบังคับใน SLBP ที่ ICMA กำหนด 🔸Ms. Nicole Della Vedova จาก Enel Group บริษัทพลังงานรายใหญ่ของอิตาลีซึ่งเป็นผู้ออก SLB เป็นครั้งแรกของโลกในเดือน ต.ค. 2019 โดยมีมูลค่า 500 ล้านปอนด์ อายุ 7 ปี อธิบายว่าบริษัทกำหนดเป้าหมายหรือ SPT ว่าระบบผลิตไฟฟ้าจาก Enel จะต้องมาจากพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 60% ภายในปี 2022 มิฉะนั้นจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ถือ SLB เพิ่มขึ้น 0.25% ทั้งนี้ Enel เป็นบริษัทชั้นนำทางด้านพลังงานหมุนเวียนทั้งจากพลังงานน้ำ ลมและแสงอาทิตย์ Enel ได้วางแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 80% จากปี 2017 ภายในปี 2030 และตั้งเป้าที่จะออก ESG bond เพื่อขยายการลงทุนในโครงการต่างๆ มากขึ้น โดยในปี 2020 มีการกู้ยืมที่เป็น ESG bond 32% จากยอดการกู้ยืมทั้งหมด และในปี 2030 การกู้ยืมผ่าน ESG bond จะมากกว่า 70% ทาง Enel คาดว่าการกู้ยืมผ่าน ESG bond ที่มากขึ้นจะทำให้ต้นทุนการเงินโดยรวมลดลง 15 – 20 bps 🔸Mr. Nicholas Gandolfo จาก Sustainalytics ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้บริการด้าน Sustainable Finance เช่น การศึกษาวิจัย การให้ความเห็น (Second Party Opinions) และให้คำปรึกษาด้าน ESG โดยที่ผ่านมา Sustainalytics มีส่วนร่วมในการออก ESG bond หลายรุ่นในประเทศไทย เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีฯ BTS และกระทรวงการคลัง รวมถึงเป็นผู้ให้บริการ Second party opinion ในการออก SLB ให้กับบริษัทระดับโลก เช่น Enel Novartis Suzano และ Chanel ด้วย Mr. Nicholas ได้ให้ความเห็นในการกำหนด Sustainability Performance Target (SPT) ว่า SPT ต้องสอดคล้องกับการดำเนินงานหลักของบริษัท และเป้าหมายต้องสามารถชี้วัดได้โดยใช้ตัวชี้วัดที่เป็นสากลหากเป็นไปได้ นอกจากนี้ SPT จะต้องถูกตั้งเป็น timeline ช่วงเวลาต่างๆ เช่น จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร ภายในกี่ปี โดยการตั้งเป้าหมายควรต้องมีความท้าทายที่เพียงพอและทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้นอย่างชัดเจน ในส่วนของการตรวจสอบว่าบริษัทได้ทำตามเป้าหมายที่ระบุไว้ใน SPT หรือไม่ บริษัทอาจให้ผู้ตรวจสอบที่เป็นอิสระเข้ามาตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสต่อนักลงทุน และรายงานผลให้ทราบอย่างน้อยทุกปีและทุกครั้งที่มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นพร้อมระบุอย่างชัดเจนว่าหากบริษัทไม่สามารถทำตาม SPT ที่ตั้งไว้ได้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง 🔸คุณปณียา นิธิวรรณากุล จากสำนักงาน กลต. กล่าวว่าเกณฑ์การออกและเสนอขาย SLB ของทาง กลต. ที่คาดว่าจะประกาศได้ภายในไตรมาส 1 นี้ จะอนุญาตให้ผู้ออก SLB สามารถกำหนดการจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น (Step-up coupon) ได้หากผู้ออกไม่สามารถทำตาม SPT ที่กำหนดไว้และกำหนดให้จ่ายดอกเบี้ยลดลง (Step-down coupon) ได้หากสามารถทำได้ตาม SPT ที่กำหนด โดยผู้ออกต้องรายงานผลการวัด SPTอย่างน้อยปีละครั้งและทุกครั้งเมื่อถึงรอบการประเมิน SPT นอกจากนี้หากผู้ออกต้องการเสนอขาย SLB กับนักลงทุนทั่วไปหรือ High Net Worth (HNW)ต้องจัดให้มี External review ทั้งก่อนการเสนอขายเพื่อให้ความเห็นว่า SLB นั้นเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ และหลังการขายอย่างน้อยในทุกรอบการประเมิน SPT นอกจากนี้กำหนดให้ External reviewer ต้องมีประสบการณ์ในการประเมิน ESG bond และอยู่ในรายชื่อที่ได้รับการอนุมัติจาก กลต. 🌐 http://www.thaibma.or.th/doc/press/y2021/ESGpresentation.pdf Back to Main Gallery