Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    June 01, 2017
Yield Curve ตัวช่วยการลงทุนตราสารหนี้

คงจะดี ถ้าการลงทุนในตราสารหนี้จะมีเครื่องมือช่วยนักลงทุนตัดสินใจเลือกซื้อตราสารหนี้ หรือกำหนดราคาซื้อของตราสารหนี้รุ่นที่ต้องการ การลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทนักลงทุนมักจะต้องการเครื่องมือบางอย่างที่สะท้อนสภาวะตลาดในขณะนั้นๆ เช่น การลงทุนในหุ้นอาจใช้SET index หรือ SET50 index เป็นตัวสะท้อนสภาพตลาดหุ้นว่าถูกแพง หรือน่าสนใจแค่ไหนสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ เครื่องมือหรือตัวช่วยที่สำคัญคือ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ (Government Bond Yield Curve) ที่ช่วยสะท้อนภาพรวมผลตอบแทนของการลงทุนที่ปราศจากความเสี่ยงด้านเครดิตเนื่องจากตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลถือเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต และมีอายุคงเหลือที่หลากหลายอัตราผลตอบแทนในแต่ละอายุย่อมไม่เท่ากัน เพราะโดยปกติยิ่งกู้นานยิ่งต้องจ่ายผลตอบแทนสูงขึ้น เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ Yield curve จึงใช้สะท้อนอัตราผลตอบแทนของการลงทุนที่ปราศจากความเสี่ยงในระยะเวลาคงเหลือต่าง ๆ ได้

ในการใช้ Yield curveเพื่อประมาณอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสมในขณะหนึ่งขณะใดของพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล นักลงทุนสามารถนำอายุคงเหลือของตราสารมาเทียบหาอัตราผลตอบแทนจาก Yield curveที่อายุคงเหลือเท่ากันได้โดยตรง หากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรุ่นที่ต้องการซื้อสูงกว่าที่ได้จากการเทียบกับYield curveแสดงว่าพันธบัตรรุ่นนั้นน่าสนใจเพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่านั่นเอง

ในกรณีตราสารหนี้เอกชน นักลงทุนจะต้องการผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงของตราสารโดยทั่วไปสามารถเทียบจาก Credit spread หรือ ส่วนชดเชยความเสี่ยงตาม Rating ของตราสาร ซึ่งข้อมูลที่เปิดเผยบนเว็ปไซด์ของThaiBMAจะอยู่ในหน่วย bp(basis point) ซึ่งหมายถึง 0.01% หากท่านนักลงทุนไม่คุ้นเคยกับหน่วยนี้ ให้ใช้ค่า spread ที่ได้จากเว็บไซด์ของThaiBMA หารด้วย 100 จะมีค่าเป็น %ตามปกติ เช่น หาก Credit spreadของตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิต BBB อายุ 5 ปี อยู่ที่ 254bpจะเท่ากับ 2.54% ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีเช่นกัน อยู่ที่ 2.75% อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้เอกชนรุ่นนี้ควรจะให้ผลตอบแทนประมาณ 5.29%(2.75%+2.54%) ทั้งนี้ Credit spread นอกจากจะขึ้นกับ Rating แล้วจะขึ้นกับอายุคงเหลือของตราสารด้วยเช่นเดียวกับ Yield curveตามตัวอย่างด้านล่าง

ถึงตรงนี้เมื่อพี่ๆ นักลงทุนทราบ Yield curve และ Credit spread แล้ว ก็จะสามารถประมาณผลตอบแทนอ้างอิงของตราสารหนี้ส่วนใหญ่ได้ แต่ทั้งนี้เนื่องจาก Yield curve และ Credit spread จะประกาศ ณ สิ้นวันการซื้อขายระหว่างวันก็ต้องใช้ข้อมูลของวันก่อนหน้าแค่นี้ เราก็เลือกตราสารหนี้ที่น่าสนใจกันได้แล้วครับ แต่ อ๊ะๆ ตราสารหนี้เอกชนบางรุ่นอาจมีคุณลักษณะที่แตกต่างกันออกไป เช่น ผู้ออกสามารถไถ่ถอนคืนได้ก่อนกำหนด หรือเป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิ เป็นต้น พี่ๆ นักลงทุนต้องรอบคอบนะครับ อ่านเงื่อนไขและทำความเข้าใจให้ดีก่อน แล้ววันหลังจะเล่าให้ฟังกันต่อนะครับ

All Blogs