• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Nov. 29, 2021
ADB ออก Blue Bond ครั้งแรก...มุ่งสู่สังคมและเศรษฐกิจสีฟ้าอย่างยั่งยืน

เมื่อกันยายน 2021 ที่ผ่านมา ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ออก Blue Bond หรือ ตราสารหนี้สีฟ้า เป็นครั้งแรก เพื่อระดมทุนไปใช้ในโครงการเกี่ยวกับมหาสมุทรและทะเลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

Blue Bond หรือ ตราสารหนี้สีฟ้า เป็นตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำมาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ โดย Blue Bond จะอาศัยหลักเกณฑ์การออกเช่นเดียวกับ Green Bond (ซึ่งก็คือ ตราสารหนี้สีเขียว หรือ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ระดมทุนใช้กับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม) แต่จะระบุวัตถุประสงค์การใช้เงินเจาะจงเฉพาะโครงการเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเท่านั้น (บทความ Blue Bond ตราสารหนี้สีฟ้า เพื่อความยั่งยืนของทะเล http://www.thaibma.or.th/EN/Investors/Individual/Blog/2019/10062019.aspx )

Blue Bond ที่ ADB ออกในครั้งนี้มี 2 ชุดตามสกุลเงิน โดยชุด (Tranche) ที่หนึ่ง มูลค่า 208 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อายุ 15 ปี ขายทั้งจำนวนให้กับบริษัท Dai-chi Life Insurance โดยมี Citigroup Global Markets Limited เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และชุดที่สอง มูลค่า 217 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ หรือประมาณ 151 ล้านดอลลาร์เช่นกัน ที่อายุ 10 ปี เสนอขายแก่บริษัท Meiji Yasuda Life Insurance และมี Credit Agricole CIB เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย

เงินทุนที่ได้จากการออก Blue bond จะนำไปสนับสนุนโครงการ Greater Malé Waste-to-Energy กำแพงขวางทางพลาสติกและของเสียอื่นๆ ไม่ให้ลงสู่มหาสมุทรของประเทศมัลดีฟส์ และโครงการ the Anhui Huangshan Xin’an River Ecological Protection and Green Development Project ของประเทศจีน ที่จะช่วยลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดไม่ให้ลงสู่ทะเลโดยส่งเสริมการทำฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและควบคุมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ย เป็นต้น

หลักเกณฑ์การออก Green bond และ Blue bond (Green and Blue Bond Framework) ที่ปรับปรุงโดย ADB เมื่อกันยายน 2021 ที่ผ่านมา ได้ขยายขอบเขตหลักเกณฑ์การออก Green bond ให้ครอบคลุมถึง Blue bond เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติทางบกและทางทะเลมีความเชื่อมโยงกัน ผลประโยชน์ที่ได้รับจากบางโครงการอาจทับซ้อนกันระหว่าง Green bond และ Blue bond ทำให้ตีความได้ยากว่าเงินทุนที่ได้มาจะจัดสรรอย่างไรระหว่างโครงการของ Green bond ที่แม้ส่วนใหญ่จะเป็นทรัพยากรธรรมชาติทางบกแต่ก็ยังเกี่ยวโยงกับทรัพยากรทางทะเลด้วย กับ Blue bond ที่เน้นทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเป็นหลัก ADB จึงได้กำหนดว่าโครงการลักษณะใดเป็น Green bond หรือ Blue bond เพื่อให้การจัดสรรเงินทุนชัดเจน ไม่มีการแบ่งส่วนเงินที่ระดมมาได้ระหว่างตราสารหนี้ทั้งสอง โดยให้พิจารณาจากวัตถุประสงค์หลักของโครงการ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง เป้าหมายสุดท้ายที่จะได้รับ รวมถึงความต้องการของผู้ร่วมตลาด ดังนั้น ตราสารหนี้ที่ออกภายใต้หลักเกณฑ์นี้จะระบุชัดเจนว่าเป็น Green bond หรือ Blue bond เพื่อให้การใช้เงินทุนตรงตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ข้างต้นยังได้รับความคิดเห็นจากบริษัทผู้ประเมินและรับรองตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนชั้นนำอย่างบริษัท CICERO Shades of Green เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนว่าตราสารหนี้ที่ออกตามหลักเกณฑ์ของ ADB จะสามารถช่วยบรรเทาสภาพแวดล้อม ฟื้นฟูทรัพยากรทางมหาสมุทรและทะเลให้ดีขึ้นได้

สำหรับประเทศสมาชิกกำลังพัฒนา (Developing Member Countries: DMCs) ของ ADB สามารถออก Blue bond ของตนเองได้ภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อร่วมสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายที่ 14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 14) ซึ่งเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อเนื่องมายังทรัพยากรธรรรมชาติให้เสื่อมโทรมลงมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ความต้องการเงินทุนเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางมหาสมุทรและทะเลมีมากขึ้นในทุกๆ ปี อีกทั้งขนาดของปัญหาก็ใหญ่เกินกว่าธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งจะรับมือได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ร่วมตลาดทั้งหมด การมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินในการระดมทุนประเภทใหม่อย่าง Blue bond หรือตราสารหนี้สีฟ้าก็น่าจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องมีช่องทางในการรวบรวมเงินทุนใช้กับโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และเป็นการขยายฐานผู้ลงทุนมาสู่นักลงทุนสายรักษ์โลก เกิดเป็นความร่วมมือในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของมหาสมุทรและทะเลให้ดีขึ้น

หมายเหตุ: GREEN AND BLUE BOND FRAMEWORK อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.adb.org/sites/default/files/publication/731026/adb-green-blue-bond-framework.pdf

All Blogs