Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Apr. 01, 2018
แนวโน้มของเทคโนโลยี Blockchain ในตลาดตราสารหนี้

ในยุคFintech ทุกวันนี้ Blockchainกลายเป็นคำยอดนิยมที่ทุกคนต้องทำความรู้จัก หากจะอธิบายสั้นๆ Blockchain ก็คือเทคโนโลยีในการจัดเก็บและจัดการฐานข้อมูลแบบไม่มีศูนย์กลางซึ่งถูกนำมาใช้เบื้องหลังสกุลเงินดิจิตอลอย่างBitcoin และ Cryptocurrencyอีกหลายสกุล ถือเป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือสูง โปร่งใส และที่สำคัญคือสามารถทดแทนตัวกลางในการทำธุรกรรมได้ กล่าวกันว่า Blockchainเป็นเทคโนโลยีที่จะมาปฏิวัติระบบเทคโนโลยีของโลกเลยทีเดียว

ในบทความนี้เราจะไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะและกลไกการทำงานของ Blockchainแต่จะขอฉายภาพกว้างให้เห็นถึงศักยภาพของBlockchainที่สามารถนำมาใช้ในการทำธุรกรรมด้านการเงิน โดยเราจะลองมาสำรวจกันว่ามีใครนำBlockchainมาใช้ในตลาดการเงินและตราสารหนี้แล้วบ้าง

ธนาคารพาณิชย์ไทยเปิดตัวการใช้ Blockchainกับธุรกรรมการเงิน

เริ่มจากตลาดการเงินในบ้านเราก่อน ดูเหมือนธนาคารกสิกรไทยจะเป็นธนาคารแรกๆที่เปิดตัวการใช้ Blockchainโดยจะนำมาใช้กับการให้บริการหนังสือค้ำประกัน(Enterprise Letter of Guarantee on Blockchain) เพื่อเชื่อมโยงเอกสารหนังสือค้ำประกันของคู่ค้า ทำให้กลายเป็นpaperless 100% ตลอดกระบวนการ สร้างความสะดวกรวดเร็ว ปลอมแปลงยาก และตรวจสอบง่ายเพราะมีการบันทึกประวัติต่อเป็นห่วงโซ่ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง และสามารถเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายธนาคารอื่นๆ ได้

ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นอีกธนาคารที่จะเริ่มใช้ Blockchainในบริการรับโอนเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์สำหรับลูกค้ารายย่อย โดยจะนำร่องจากการให้บริการโอนเงินสกุลเยนจากญี่ปุ่น มายังบัญชีสกุลเงินบาทในประเทศไทยโดยตรง ซึ่งเงินจะเข้าบัญชีโดยอัตโนมัติภายในเวลา 20 นาทีต่อรายการเท่านั้น

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็ประกาศว่าได้ทำการทดสอบเทคโนโลยี Blockchainเพื่อจะนำมาใช้ในกระบวนการจัดเก็บเอกสารให้เป็นรูปแบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มศักยภาพความเร็วในการทำงานเอกสารและสัญญาต่างๆของธนาคาร

ทั้งนี้ ล่าสุดสมาชิกสมาคมธนาคารไทย จำนวน 14 แห่ง พร้อมด้วยรัฐวิสาหกิจและองค์กรธุรกิจใหญ่ 7 แห่ง ประกาศเข้าร่วมโครงการ Thailand Blockchain Community Initiative ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยจะเริ่มต้นด้วยโครงการให้บริการหนังสือค้ำประกันบน Blockchainซึ่งจะเปลี่ยนหนังสือค้ำประกันที่มีวงเงินรวมกันทั้งระบบสูงถึง1.35 ล้านล้านบาท ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ 100% ซึ่งคาดว่าเริ่มใช้ได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการทดสอบภายใต้Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย

การใช้ Blockchain กับธุรกรรมตราสารหนี้ในต่างประเทศ

ลองเจาะลึกลงมาที่ตลาดตราสารหนี้กันบ้าง ขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีการนำ Blockchainมาใช้ในตลาดตราสารหนี้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ในต่างประเทศเริ่มมีการทดสอบ (proof of concept) และทำธุรกรรมด้านตราสารหนี้โดยใช้ Blockchainกันแล้วแม้จะอยู่ในวงจำกัด

กรณีศึกษาซึ่งเป็นที่กล่าวถึงค่อนข้างมากคือ การออกตราสารหนี้มูลค่า €100 million ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในเยอรมันอย่าง Daimler AGผู้ผลิตรถยนต์เมอร์ซีเดสเบนซ์ โดยใช้ Blockchainในการทำธุรกรรมตั้งแต่ การออกตราสารหนี้ การจัดจำหน่าย การจัดสรร การซื้อขาย ไปจนถึงการยืนยันรายการและการจ่ายดอกเบี้ย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีBlockchainโดยนักลงทุนในดีลนำร่องนี้จำกัดเฉพาะธนาคารและผู้ลงทุนสถาบัน2-3 ราย

ธนาคาร Commonwealth แห่งออสเตรเลียถือเป็นธนาคารแห่งแรกที่ประกาศจะนำ Blockchainมาใช้ในการออกตราสารหนี้ โดยก่อนหน้านี้ทางธนาคารประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบ (Proof of concept) แล้วจึงเตรียมการที่จะออกตราสารหนี้ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ภายในปี 2018 นี้

ในสหรัฐอเมริกา สถาบันการเงินหลายแห่งอาทิ ING Bank, HSBC, State Street, UBS ร่วมกันจัดตั้ง Startupเพื่อพัฒนาและทดสอบระบบ Blockchainสำหรับใช้ในการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เทคโนโลยี smart contract ที่มีใน Blockchainทำให้การซื้อขาย การจับคู่รายการ การชำระราคาส่งมอบ รวมไปถึงการจ่ายดอกเบี้ยและการไถ่ถอนพันธบัตรเป็นไปได้แบบอัตโนมัตินอกจากนั้น เมือง Berkeley, California ในสหรัฐฯ ยังได้ประกาศที่จะออกพันธบัตรเทศบาลโดยใช้ Blockchainโดยคาดว่าจะลดต้นทุนในการจัดจำหน่าย เข้าถึงนักลงทุนได้ง่ายขึ้น และทำให้ทั้งกระบวนการกลายเป็นอิเล็กทรอนิกส์

ในเอเชีย ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ก็อยู่ระหว่างศึกษาที่จะนำ Blockchain มาใช้กับกระบวนการซื้อขายและชำระราคาตราสารหนี้ โดยก่อนหน้านี้ธนาคารกลางของสิงคโปร์(MAS) ได้ดำเนินการทดสอบระบบการชำระเงินระหว่างธนาคารผ่านเทคโนโลยี Blockchainไปบ้างแล้ว

ศักยภาพของ Blockchain ในตลาดตราสารหนี้ไทย

สำหรับประเทศไทยเองก็ไม่น้อยหน้าขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อนำ Blockchainหรืออาจเรียกอีกอย่างว่า Distributed ledger technology (DLT) มาใช้กับระบบงานพันธบัตรรัฐบาล โดยในเฟสแรกจะเริ่มจากการทดสอบ(Proof of concept) งานจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ จากนั้นจึงจะขยายไปสู่ระบบงานพันธบัตรครบวงจรทั้งการจำหน่าย การโอนกรรมสิทธิ์ และการชำระราคาและส่งมอบต่อไป โดยการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้จะช่วยลดระยะเวลาส่งมอบพันธบัตรออมทรัพย์ถึงมือประชาชนจากเดิม15วันเหลือ 2 วัน ลดตัวกลางโอนเงิน และลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนของฝ่ายต่างๆ คาดว่าโครงการนี้จะเห็นผลเป็นรูปเป็นร่างได้ในเวลาไม่เกิน 1 ปีจากนี้

ไม่เพียงแต่งานด้านพันธบัตรรัฐบาลเท่านั้น สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ก็อยู่ระหว่างการศึกษาที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบงานซื้อขาย งานนายทะเบียนและการโอนกรรมสิทธิ์ของตราสารหนี้ภาคเอกชนเพื่อให้เป็นแบบไร้ใบหุ้น (Scripless)100%เพราะปัจจุบันผู้ซื้อหลายรายยังถือหุ้นกู้ในรูปแบบใบหุ้นซึ่งทำให้มีขั้นตอนและระยะเวลาส่งมอบค่อนข้างนาน ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในการซื้อขายและทำให้เกิดความเสี่ยงด้านชำระราคาส่งมอบ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แม้จะเห็นว่าการใช้ Blockchainในตลาดการเงินและตลาดตราสารหนี้ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและการทดสอบ (proof of concept) แต่ปฏิเสธไมได้ว่า ณ นาทีนี้ ผู้ร่วมตลาดตราสารหนี้ต้องศึกษาและจับตามองศักยภาพของเทคโนโลยี Blockchainแบบใกล้ชิด เพราะเราน่าจะเห็นการทำธุรกรรมตราสารหนี้ที่เกิดขึ้นบน Blockchainในอนาคตอันใกล้นี้


All Blogs