Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Aug. 16, 2019
Bond yield ไทยจะต่ำไปไหน

การลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ตาม นักลงทุนย่อมต้องการได้รับผลตอบแทน แต่ขณะนี้พันธบัตรรัฐบาลของหลายประเทศให้ผลตอบแทนที่ติดลบ หมายความว่าถ้านักลงทุนถือจนครบกำหนดอายุ นอกจากจะไม่ได้รับผลตอบแทนแล้วในส่วนของเงินต้นก็จะได้รับคืนไม่เต็มจำนวนด้วย แล้วใครจะไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีผลตอบแทนติดลบกัน?

Bond yield ติดลบเกิดจากธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจนเป็นศูนย์หรือติดลบ เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศโดยลดแรงจูงใจไม่ให้ออมเงินแต่ให้นำเงินไปลงทุนจับจ่ายใช้สอยให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว แต่สถานการณ์อาจไม่ได้เอื้อให้เกิดการลงทุนและจับจ่ายใช้สอยเท่าใดนัก จึงเกิด Bond Yield ติดลบขึ้น โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปีของกว่า 13 ประเทศที่ติดลบ มากที่สุดคือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ถึง -1.01% รองลงมาคือเยอรมัน -0.65% ตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนติดลบทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 15 ล้านล้าน USD (ข้อมูลจาก Bloomberg วันที่ 5 ส.ค. 62) แม้พันธบัตรรัฐบาลจะมีอัตราผลตอบแทนติดลบก็ยังมีนักลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลอยู่ด้วยหลายเหตุผล เช่น บางกองทุนตราสารหนี้มีนโยบายการลงทุนแบบ passive ดังนั้นจึงต้องลงทุนให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ Government bond index ให้มากที่สุด ทำให้ยังต้องซื้อพันธบัตรรัฐบาลแม้ Bond Yield จะติดลบ นักลงทุนบางส่วนคิดว่า Bond Yield ยังติดลบได้อีกจึงเข้าซื้อเพื่อหวังจะได้ Capital gain หรือ นักลงทุนคาดว่า เศรษฐกิจในอนาคตจะหดตัว จึงต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องสูงอย่างพันธบัตรรัฐบาล

เมื่อมีคนได้ประโยชน์ก็ย่อมต้องมีคนเสียประโยชน์จาก Bond Yield ติดลบ โดยเฉพาะกลุ่มกองทุนเพื่อการเกษียน และกลุ่มประกัน หากเข้าซื้อในช่วงนี้ก็จะทำให้ได้รับผลตอบแทนติดลบ และมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนจาก Capital loss ได้หาก Bond Yield ปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

ส่วน Bond Yield ไทยและสหรัฐฯ แม้ว่าจะยังไม่ติดลบแต่ก็ปรับตัวต่ำลงมามากภายหลังจากที่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง นับตั้งแต่วันที่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจนถึงวันที่ 14 ส.ค. 62 Bond yield 10 ปีของสหรัฐฯ ลดลง 43 bps มาอยู่ที่ 1.59% และ Bond yield 10 ปีของไทยลดลง 19 bps มาอยู่ที่ 1.52% ยังห่างไกลจาก Bond yield ติดลบมากอยู่แต่เป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 20 ปีที่ผ่านมา แม้จะยังไม่ติดลบแต่ตลาดก็มีความกังวลอีกอย่างในเรื่องของ Inverted Yield Curve ที่ส่วนต่างระหว่างรุ่น 10 ปีและ 2 ปี (2-10 spread) มีค่าติดลบ โดย 2-10 spread ของสหรัฐฯ ในระหว่างวันที่ 14 ส.ค. มีค่าคิดลบแต่ปิดตลาดที่ 1 bps ส่วนของไทยค่า 2-10 spread ก็ลดต่ำลงมากมีค่าอยู่ที่ 10 bps ซึ่งค่าต่ำสุดจะอยู่ที่ 1 bps ในช่วงเดือนสิงหาคม 2554 และค่าเฉลี่ยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาที่ 138 bps

ทั้งนี้สิ่งที่ตลาดกังวลเกี่ยวกับ Inverted Yield Curve ก็คือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคตและโดยเฉพาะในช่วงนี้มีเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศหลายกรณีจึงอาจส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาทำให้เกิดความกังวลมากยิ่งขึ้น 2-10 spread ที่ติดลบจะมีนัยยะบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคตก็ต้องมีองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย เช่น ระดับอัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน หรือระดับหนี้ที่สูงเกินไป และ Inverted Yield Curve ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ก็ถือเป็นระลอกแรกๆนับตั้งแต่เกิดวิกฤตซับไพร์มปี 2551 ที่มีการทำ Quantitative easing เป็นครั้งแรกของโลกส่งผลให้ระดับสภาพคล่องเปลี่ยนไป ดังนั้นความน่าเชื่อถือของ Inverted Yield Curve ในการเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจมีนัยยะที่ไม่เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็ยังควรติดตามสถานการณ์กันต่อไป แต่คาดว่า Inverted Yield Curve จะยังคงเป็นประเด็นให้ได้ยินวนเวียนกันไปอีกสักระยะทีเดียว

All Blogs