Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Aug. 06, 2019
เรทติ้ง (Rating) มาจากไหนและบอกอะไรแก่นักลงทุน

นักลงทุนตราสารหนี้น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า อันดับเครดิต (Credit Rating) หรือ เรทติ้ง กันแล้ว ที่สื่อด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษและสะท้อนถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกตราสารนั้นๆ แล้วท่านรู้ไหมว่าใครเป็นผู้ให้เรทติ้ง เรทติ้งมีกี่แบบและเรทติ้งเหล่านั้นบอกอะไรแก่นักลงทุน

เรทติ้งจัดทำโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีทั้งบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในประเทศ (Domestic Credit Rating Agency) ซึ่งในไทยมีอยู่ 2 แห่งคือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS Rating) และ บริษัท ฟิทช์เรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (Fitch Rating Thailand) และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับนานาชาติ (International Credit Rating Agency) โดยบริษัทชั้นนำที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกได้แก่ มูดีส์ อินเวสเตอส์ เซอร์วิส เรียกสั้นๆ ว่า มูดีส์ (Moody’s) และ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส หรือ S&P

อันดับความน่าเชื่อถือสามารถจัดทำได้ทั้งระดับองค์กร (Company Rating) และตัวตราสารหนี้ (Issue Rating) โดยการจัดเรทติ้งองค์กรนั้นจะประเมินจากโครงสร้างองค์กร ข้อมูลทางการเงิน แผนการธุรกิจของบริษัท และแนวโน้มของอุตสาหกรรมนั้นในอนาคตเพื่อให้เห็นสถานะทางการเงินและศักยภาพในการสร้างรายได้โดยรวมของบริษัท ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือของตัวตราสารหนี้ที่สะท้อนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้นภายใต้คุณลักษณะเฉพาะของตราสารหนี้แต่ละรุ่น จะพิจารณาจากเงื่อนไขของตราสารหนี้นั้นๆ เช่น สิทธิแฝง (Option embedded bond) ข้อกําหนดสิทธิ ลําดับสิทธิของการเรียกร้องในการชําระหนี้ (Secured or Non-secured bond) สิทธิในการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย สิทธิในการหักเงินต้นหรือดอกเบี้ยภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และการค้ำประกัน ทั้งนี้ ผู้ออกสามารถเลือกได้ว่าจะจัดหรือไม่จัดเรทติ้งของตราสารหนี้ระยะสั้นได้ แต่หากเป็นตราสารหนี้ระยะยาวจะต้องจัดเรทติ้งตามหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ของ กลต.

อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่ม Investment Grade ที่มีเรทติ้งสูงสุดคือ AAA ไล่ลงมาที่ AA+ AA AA- A+ A A- BBB+ BBB จนถึง BBB- จัดเป็นตราสารหนี้กลุ่มน่าลงทุนเพราะมีความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้ต่ำถึงปานกลาง กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่ม Speculative Grade หรือ High Yield Bond เป็นตราสารที่มีเรทติ้งตั้งแต่ BB+ ลงมา โดยเรียงจาก BB+ BB BB- B+ B B- CCC+ CCC CC C และต่ำสุดคือ D รวมถึงตราสารหนี้ที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต (Unrated Bond) กลุ่ม High Yield Bond นี้จะมีความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้สูงกว่ากลุ่มแรก ดังนั้น บริษัทผู้ออกจึงต้องดึงดูดใจนักลงทุนด้วยการจ่ายคูปองที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงให้แก่นักลงทุน ตราสารหนี้กลุ่มนี้จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการเพิ่มผลตอบแทนให้แก่พอร์ทการลงทุนและสามารถรับความเสี่ยงได้

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามผลการดําเนินงานของบริษัท แนวโน้มสภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมและภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น นักลงทุนควรติดตามอันดับเครดิตอย่างต่อเนื่อง เพราะหากมีการปรับลดความน่าเชื่อถือ (Downgrade) ย่อมสะท้อนว่าบริษัทมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น นักลงทุนเองก็ต้องเรียกร้องส่วนชดเชยความเสี่ยง (Spread) ที่มากขึ้นตามด้วยโดยหากจะเข้าซื้อในตลาดรอง ก็ต้องเรียกร้องผลตอบแทน (Yield) ที่สูงขึ้น หรือซื้อในราคาที่ต่ำลงนะคะ

All Blogs