Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Oct. 8, 2019
ทวิตเตอร์ “@realDonaldTrump” กระเทือนไปทั้งโลก…การเงิน

“ระหว่างประธานเฟด นายพาวเวล และประธานาธิบดี (ปธน.) สีจิ้นผิงของจีน ใครกันแน่ที่เป็นศัตรูต่อสหรัฐฯ”

“ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. สหรัฐฯ จะเก็บภาษี 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน......”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่ ปธน.ทรัมป์เขียนลงบนทวิตเตอร์ การทวีตของ ปธน.ทรัมป์มีทั้งข้อความแบบทางการอย่างการประกาศนโยบายหรือแจ้งปรับเปลี่ยนบุคคลในคณะทำงาน และแบบไม่เป็นทางการ เช่น การแสดงความคิดเห็นตรงๆ ไม่มีอ้อมค้อมตามสไตล์ ซึ่งการทวีตข้อความของปธน.ทรัมป์ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ จนนำมาสู่ดัชนีใหม่ที่ชื่อว่า Volfefe Index เพื่อใช้วิเคราะห์ความผันผวนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จากการทวีตของปธน.ทรัมป์.....ใช่แล้วครับ อ่านไม่ผิด!

ดัชนี Volfefe คิดค้นโดยธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เมื่อต้นเดือนก.ย. 2019 ซึ่งแปลงมาจากข้อความปริศนาที่ปธน.ทรัมป์ทวีตเมื่อปี 2017 ว่า “covfefe” ดัชนี Volfefe เป็นการนำข้อความที่ปธน.ทรัมป์ทวีตนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งจำนวน 14,000 ข้อความมาหาค่าความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงิน ผลการวิเคราะห์พบว่า ดัชนี Volfefe สามารถอธิบายความผันผวนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ โดยเฉพาะในรุ่นอายุ 2 ปี และ 5 ปี นอกจากนี้การทวีตของปธน.ทรัมป์ ทำให้เกิดความผันผวนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อตลาดการเงินด้วย โดยไม่ว่าทรัมป์จะทำการทวีตเวลาใดก็สามารถกระตุ้นให้เกิดความผันผวนต่อตลาด แต่ช่วงเวลาทวีตที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดมากที่สุดคือช่วงเวลาทำการของตลาดนิวยอร์ก ส่วนคีย์เวิร์ดสำคัญที่มีผลต่อตลาด ประกอบด้วย “China (จีน)” “billions (พันล้าน)”“dollars (ดอลลาร์)” “products (สินค้า)” และ “tariffs (ภาษีศุลกากร)” เป็นต้น

นอกจาก ดัชนี Volfefe ของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส แล้ว ธนาคารซิตี้แบงก์ก็ได้คิดค้นเครื่องมือที่ชื่อว่า Trump Tweet Tracker ออกมาเมื่อต้นปี 2019 ที่ผ่านมา โดยนำข้อความในทวิตเตอร์ที่เกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มาหาความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้น S&P 500 ของสหรัฐฯ และดัชนีหุ้น Shanghai Composite ของจีน ซึ่งพบว่า หากปธน.ทรัมป์ทวีตข้อความเชิงบวกว่าพร้อมเจรจาหรือใกล้ได้ข้อสรุปที่ดี ดัชนีหุ้นทั้งสองตัวก็จะปรับขึ้น แต่หากข้อความเป็นเชิงลบ ดัชนีหุ้นทั้งสองก็จะปรับลง และยังมี แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ที่จัดทำรายงานเชิงวิเคราะห์และพบว่า ถ้าช่วงไหน ปธน.ทรัมป์ทวีตบ่อย (มากกว่า 35 ข้อความต่อวัน) จะทำให้ผลตอบแทนในตลาดหุ้นลดลง 0.09% แต่ถ้าหากทวีตไม่บ่อย (น้อยกว่า 5 ข้อความต่อวัน) จะช่วยหนุนให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นขยับขึ้น 0.05%

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินและพฤติกรรมการลงทุนใหม่ๆ รวมไปถึงเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจหรือดัชนีใหม่ๆ อย่าง Volfefe index ที่นักลงทุนพลาดไม่ได้เพื่อจะได้ทันสถานการณ์และมีเครื่องมือหรือตัวช่วยมาประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และคงจะดีไม่น้อยถ้าจะมีดัชนีที่สามารถเดาใจปธน.ทรัมป์ได้ว่าจะทวีตเมื่อไหร่!!!!

All Blogs