• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    OCT. 24, 2024
ตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Tiger ecosystem bond)

เสือโคร่ง นอกจากจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว ยังเป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้และระบบนิเวศ ทั้งนี้ เสือโคร่งทั่วโลกกำลังมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วงจากการที่พื้นที่ป่าลดลงและ

การถูกล่าโดยขบวนการค้าสัตว์ป่า โดยในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา จำนวนเสือโคร่งทั่วโลกลดลงจาก 100,000 ตัว เหลือเพียง 4,500 ตัวในปัจจุบัน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังพบเสือโคร่งได้ในพื้นที่ป่าธรรมชาติ และเมื่อปี 2553 ได้มีการประกาศแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง (National tiger plan) ขึ้นเป็นฉบับแรก โดยการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เป็นแกนนำในการสร้างความร่วมมือเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ผลจากการดำเนินงานตามแผนฯ ฉบับแรกที่เป็นแผนระยะ 12 ปี พบว่าเสือโคร่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 46 ตัวในปี 2551 เป็น 120 ตัว ในปี 2566 และปัจจุบัน กำลังอยู่ในช่วงเวลาของแผนฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2565–2577 ซึ่งมีการประเมินความต้องการเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามแผนดังกล่าว คาดว่าต้องใช้เงินทุนประมาณ 840 ล้านบาทต่อปี แต่จากแผนการจัดหาเงินทุนทั้งในและนอกประเทศคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนเพียง 367 ล้านบาท ยังขาดส่วนต่างอีกราว ปีละกว่า 473 ล้านบาท!

UNDP ร่วมกับสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ได้มีการศึกษาเพื่อประเมินแนวทาง การระดมเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการอนุรักษ์เสือโคร่งและฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่ป่าเป้าหมาย พบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) ที่เรียกว่า “Tiger ecosystem bond” ซึ่งเป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งในกลุ่มความยั่งยืน (ESG Bond) ที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามผลสำเร็จของตัวชี้วัด (KPIs) ซึ่งสามารถนำจำนวนการเพิ่มขึ้นของเสือโคร่งมาใช้กำหนดเป็น KPIs ได้ เนื่องจากประเทศไทยมีการจัดทำระบบการสอดส่องเสือโคร่งที่อยู่ในระดับมาตรฐานสากล หน่วยงานที่จะสามารถออกตราสารหนี้ดังกล่าว ได้แก่ รัฐบาล สถาบันการเงิน หรือบริษัทเอกชนที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ป่าเป้าหมาย 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยกำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นผู้รายงานผลด้านความยั่งยืนต่อผู้สอบทานภายนอกที่เป็นอิสระ (Second Party Opinion) เพื่อประกอบการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแก่ผู้ลงทุน โดยกลุ่มผู้ลงทุนจะได้แก่ สถาบันการเงิน และผู้ลงทุนทั่วไปที่ให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนี้ UNDP ได้เสนออีกหนึ่งเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อช่วยอนุรักษ์เสือโคร่งในไทย คือ กลไกการลงทุนเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศของเสือโคร่ง (Tiger Landscapes Investment Fund) โดยเงินทุนจะรวบรวมจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายการระดมทุนที่ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2569

ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการระดมทุนเพื่อนำมาใช้ในการอนุรักษ์ เสือโคร่งในประเทศไทย จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมี Tiger ecosystem bond ออกมาให้ผู้ลงทุนไทยได้มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่ผืนป่าของไทย ที่ในวันข้างหน้าจะกลายมาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ให้แก่เสือโคร่งและสัตว์ป่าน้อยใหญ่อื่นๆ

All Blogs