Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    May 28, 2019
1 ปีแห่งการปรับตัวของผู้ออกตั๋ว BE

ผ่านมา 1 ปีแล้ว นับจากวันที่ 1 เมษายน 2561 ที่ ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ภาคเอกชนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของตราสารหนี้ในการใช้เป็นเครื่องมือการระดมทุน โดยเกณฑ์ใหม่กำหนดให้ตั๋วแลกเงิน (BE) สามารถเสนอขายได้เฉพาะนักลงทุนสถาบัน (Institutional investors: II) และ นักลงทุนเฉพาะเจาะจงไม่เกิน 10 ฉบับ (Private placement 10: PP10) ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ออกตราสาร ทำให้การขายตั๋ว BE มีความเข้มงวดมากขึ้น แต่ทั้งนี้จะไม่รวมถึงตั๋ว BE ที่ผู้ออกอยู่ในภาคการเงิน (Financial sector) ภายหลังการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว ตลาดตราสารหนี้ไทยได้รับผลอย่างไรบ้าง เรามาติดตามกัน

1 ปีหลังการปรับปรุงเกณฑ์เกิดอะไรขึ้นกับตั๋ว BE

มูลค่าการออกตั๋ว BE ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (1 เมษายน 2561 ถึง 31 มีนาคม 2562) ลดลงกว่า 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงของภาคธุรกิจจริง (Real sector) ถึง 23% และแน่นอนว่าไม่มีการออกและเสนอขายต่อนักลงทุนทั่วไป (Public offering: PO) ได้เช่นแต่ก่อน และเนื่องจากเกณฑ์ใหม่กำหนดให้แยกการเสนอขายต่อกลุ่มนักลงทุนสถาบัน (II) และผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) ออกจากกัน ทำให้เห็นว่าการเสนอขายตั๋ว BE ของภาคธุรกิจจริงต่อนักลงทุนสถาบัน (II) อย่างเดียวมีสัดส่วนสูงถึง 30% ทั้งนี้ ยังคงพบว่ามีการเสนอขายต่อทั้ง II และ HNW อยู่แต่ก็ลดลงไปถึง 50% ในขณะที่การเสนอขายแบบวงแคบ (PP10) ก็ลดลงกว่า 30%

อย่างไรก็ตาม แม้การออกตั๋วบีอีของภาคธุรกิจจะลดลงอย่างชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมการออกตราสารหนี้ระยะสั้นของกลุ่ม Real Sector กลับลดลงเพียง 10% เหตุผลหลักมาจากผู้ออกตราสารหนี้มีปรับเปลี่ยนรูปแบบการเสนอขายตั๋ว BE ให้แก่นักลงทุนสถาบันไปเป็นหุ้นกู้ระยะสั้นแทน ส่งผลให้ยอดการออกหุ้นกู้ระยะสั้นเติบโตถึง 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ด้วยมูลค่า 141,315 ล้านบาท

ส่วนการเสนอขาย BE ของกลุ่มภาคการเงิน (Financial sector) ออกตั๋ว BE ลดลงถึง 52% หรือ 2.9 แสนล้านบาท ทั้งที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงเกณฑ์ ทำไมเป็นเช่นนั้น ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งชะลอการออก BE ตั้งแต่มีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก 0.46% ของมูลค่าการออกตั๋ว BE โดยช่วง 1-2 ปีก่อนมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งเท่านั้นที่ยังออกเพื่อรักษาฐานลูกค้าเงินฝากเอาไว้ และชะลอการออกในปีที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าการออก BE ในกลุ่มนี้ลดลงอย่างมาก ซึ่งไม่ได้เป็นผลจากการปรับเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ภาคเอกชน

แล้วนักลงทุนได้รับประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้

การปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ตลาดปรับเปลี่ยนจากการออกและลงทุนในตั๋วบีอี มาเป็นการออกหุ้นกู้ระยะสั้นมากขึ้น ซึ่งถือว่ามี Investor protection ที่ดีกว่าเนื่องจากหุ้นกู้จะมีข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือและหน้าที่ของผู้ออกตราสารหนี้ที่ชัดเจน รวมไปถึงการจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในกรณีของหุ้นกู้มีประกันที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบผู้ออกไม่ให้ละเมิดข้อตกลงกับผู้ลงทุน รวมถึงดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหาย บังคับหลักประกันหรือบังคับชำระหนี้เมื่อเกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้ อีกทั้งยังมีเกณฑ์ในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางการเงินรวมถึงข่าวสารที่เป็นสาระสำคัญที่จะกระทบต่อผู้ถือหุ้นกู้ ดังนั้นน่าจะถือได้ว่าเป็นพัฒนาการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้

All Blogs