Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Sep. 17, 2019
เมื่อเงินทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ แต่เงินบาทยังแข็งค่า

ช่วงเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางหลากหลายเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจและการเงิน อย่าง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ต่างฝ่ายต่างประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของอีกประเทศ ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง และความกังวลต่อ Inverted Yield Curve ก่อให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทย

มูลค่าเงินทุนไหลออกสุทธิจากตลาดตราสารหนี้ในเดือน ส.ค. 62 ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 59 ทว่าเงินทุนไหลออกดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงในช่วงดังกล่าว กลับกลายเป็นว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยในเดือน ส.ค. รวมมูลค่าสุทธิ 32,964 ล้านบาท แยกออกเป็นการขายสุทธิทั้งในตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาว 23,372 ล้านบาท และ 9,592 ล้านบาทตามลำดับ คาดว่าเกิดจากการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น โดยเฉพาะรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ที่ทำสถิติแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 1.41% และ 1.53% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังส่งผลให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปี และ 2 ปี (2-10 Spread) ขยับแคบลงมาอยู่ที่ 4 bps ทั้งนี้ 2-10 Spread ของไทย เคยลงไปต่ำสุดที่ระดับ 0.5 bps เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 54 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบเคียงกับทิศทางกระแสเงินลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ประเทศเพื่อนบ้านรอบไทยที่ช่วงเดียวกัน พบว่ามีกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้อย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียเช่นกัน ด้วยมูลค่า 1.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (*ประมาณ 7,416 ล้านบาท) และ 242 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (*ประมาณ 644 ล้านบาท) ตามลำดับ (อ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ณ วันที่ 30 ส.ค. 62 ที่ 30.646 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่วนกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในเดือน ส.ค. รวมมูลค่าสุทธิอยู่ที่ 54,263 ล้านบาท

ด้านการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดือน ส.ค. พบว่าในช่วงครึ่งแรกของเดือน เคลื่อนไหวผันผวนขึ้นลงภายในกรอบ 30.70-30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของเดือน เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้ในเดือน ส.ค. เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับแข็งค่าขึ้น 0.7% โดยมาอยู่ที่ 30.646 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือน จากค่าต้นเดือนที่ 30.854 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ซึ่งเมื่อเทียบการเคลื่อนไหวของสกุลเงินประเทศเพื่อนบ้านต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว จะพบว่าเงินบาทเป็นสกุลเงินเดียวที่ปรับตัวแข็งค่า สวนทางกับสกุลเงินประเทศเพื่อนบ้านที่อ่อนค่าลง โดยปัจจัยที่สนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทคาดว่ามาจากราคาทองคำที่สูงขึ้นช่วยหนุนการส่งออกทองคำของไทย โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าการส่งออกทองคำของไทยเติบโตถึง 407% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ในเดือน ส.ค. ราคาทองคำยังขยับขึ้นต่อเนื่องทำสถิติสูงสุดในรอบ 6 ปี ดังนั้น ต้องมาติดตามกันว่าท้ายที่สุดว่าการส่งออกทองคำในเดือน ส.ค. จะอยู่ที่เท่าไร

โดยสรุป จากข้อมูลในเดือน ส.ค. บ่งชี้ว่ากระแสเงินลงทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยดูจะไม่เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เพราะมีปัจจัยเฉพาะมาคานเอาไว้ ด้านกระแสเงินลงทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยคาดว่าจะเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ เพราะยังมีปัจจัยบวกต่างๆ ช่วยดึงดูดการลงทุน เช่น การที่ดัชนีอ้างอิงเพื่อการลงทุนระดับโลกของ MSCI และ JP Morgan ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและพันธบัตรของไทย และข่าวว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกอย่าง Moody’s จะปรับเพิ่มเครดิตให้ไทยในเดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาวเป็น “เชิงบวก (Positive outlook)” ส่วนทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะต่อไปนั้น ยังคงต้องเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิด และหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าติดไซเรนอีกครั้ง ก็มีโอกาสที่ ธปท. จะมีมาตรการเพิ่มเติมอื่นมาดูแล หลังจากที่ได้ประกาศมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทต่างๆ มาก่อนหน้าในเดือน ก.ค.

All Blogs