Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    July 01, 2017
จะซื้อหุ้นกู้ ต้องดู Credit Spread ( ตอนที่ 2)

ผู้อ่านได้รู้จักกับ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาล (Credit Spread)กันไปแล้ว ในการพิจารณาเลือกซื้อหุ้นกู้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว หรือที่เรียกกันว่าคูปอง(coupon) ที่ให้นั้นเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของหุ้นกู้นั้นแล้ว ในการคำนวณหาผลตอบแทนที่เหมาะสมของหุ้นกู้ จำเป็นต้องดู 3 ปัจจัย คือ 1) อายุคงเหลือของหุ้นกู้ (TTM: Time-to-Maturity) 2) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่อายุคงเหลือเท่ากัน (Government bond yieldat given TTM) และ3) ส่วนชดเชยความเสี่ยง หรือ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้จากพันธบัตรรัฐบาล (Credit spreadover government bond)โดยข้อมูล 2 อย่างหลังนี้ สามารถหาได้จากwebsite ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (www.thaibma.or.th)

สมมติว่านักลงทุนมีเงินลงทุนอยู่จำนวนหนึ่งและต้องการนำไปลงทุนในหุ้นกู้ อายุ 5 ปี ซึ่งมี 2 รุ่นให้เลือก โดยหุ้นกู้บริษัท ก. อันดับเครดิต AA จ่ายดอกเบี้ย 2.95% ขณะที่บริษัท ข. อันดับเครดิต A จ่ายดอกเบี้ย 3.05%หากดูเผินๆ เหมือนว่าหุ้นกู้บริษัท ข. จะน่าสนใจกว่าเนื่องด้วยระยะเวลาการลงทุนที่เท่ากัน แต่หุ้นกู้บริษัท ข. ให้ผลตอบแทนสูงกว่าที่ 3.05% เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ก็แลกกับความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้นด้วย คำถามคือ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าหุ้นกู้บริษัทไหนให้ผลตอบแทนที่คุ้มกับความเสี่ยงแล้ว

ตารางCredit spread ข้างต้นที่ ThaiBMAจัดทำขึ้นสามารถใช้เป็นค่าอ้างอิงเบื้องต้นในการพิจารณาได้ซึ่งจากตาราง หากเราสนใจอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ที่อายุ 5 ปี ที่อันดับเครดิต A มีค่า Credit Spread เท่ากับ99.99751 หรือเท่ากับ 0.9999751% (99.99751 หารด้วย 100) เมื่อบวกทบขึ้นจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ณ อายุ 5 ปี (TTM = 5) ซึ่งอยู่ที่ 2.15297% ก็จะได้อัตราผลตอบแทนเท่ากับ 3.1529451% หรือประมาณ 3.15% นั่นเองซึ่งสามารถใช้เป็นอัตราผลตอบแทนอ้างอิงสำหรับหุ้นกู้อายุ 5 ปี ที่อันดับเครดิต A ได้ และเมื่อนำมาเทียบกับดอกเบี้ยของหุ้นกู้บริษัท ข. ที่ให้เท่ากับ 3.05% จะเห็นว่าต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนที่เราคำนวณได้ 0.1%ในขณะที่หุ้นกู้บริษัท ก. ซึ่งจ่ายดอกเบี้ย 2.95% จะพบว่าดอกเบี้ยที่เสนอให้นี้ใกล้เคียงกับอัตราผลตอบแทนเมื่อบวกค่า credit spread อ้างอิง ซึ่งเท่ากับ2.94% (2.15297%+0.7844802%) ดังนั้นหุ้นกู้บริษัท ก. ดูจะจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่าเพราะให้ส่วนชดเชยความเสี่ยงสูงกว่าค่าอ้างอิงของตลาดที่ Rating และอายุเท่ากัน

การเปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุนกับอัตราผลตอบแทนอ้างอิงนี้จะสามารถช่วยให้นักลงทุนพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นกู้ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากนักลงทุนจะมีผลตอบแทนค่าหนึ่งที่ใช้ในการอ้างอิง ไม่จำเป็นต้องคาดเดาอีกต่อไป โดยข้อมูลทุกอย่างหาได้จากwebsite ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยครับ

All Blogs