• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Oct 07, 2018
ใครลงทุนในหุ้นกู้บ้าง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือหุ้นกู้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก สะท้อนผ่านมูลค่าคงค้างของหุ้นกู้ที่มีการเติบโตกว่า 199% จนมีมูลค่าคงค้างเกือบ 3 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน หรือคิดเป็น 28% ของมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ทั้งหมด แล้วใครกันที่ลงทุนในหุ้นกู้บ้าง มีลักษณะการลงทุนเป็นแบบไหน และมักลงทุนในหุ้นกู้กลุ่มใดและลักษณะอย่างไรบ้าง ติดตามกันต่อเลยครับ

ในต่างประเทศนักลงทุนสถาบันจะเป็นผู้ลงทุนหลักในตราสารหนี้ แต่สำหรับประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจว่า นักลงทุนบุคคลธรรมดา คือผู้ที่มีการลงทุนโดยตรงในหุ้นกู้มากที่สุด โดยถือครองหุ้นกู้มูลค่ารวมสูงถึง 8.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 31% ของหุ้นกู้ทั้งหมด ผู้ลงทุนในหุ้นกู้รองลงมาคือกลุ่มบริษัทประกัน 16% กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและ กบข. 14% และกองทุนรวม 12% ในขณะที่แทบไม่มีนักลงทุนต่างชาติลงทุนในหุ้นกู้ไทยเลย

คำถามต่อมาคือ แล้วนักลงทุนบุคคลชอบหุ้นกู้แบบไหน เราพบว่านักลงทุนบุคคลถือหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือมากกว่า A- ขึ้นไปในสัดส่วนประมาณ 58% และถือหุ้นกู้ Speculative Grade (เรทติ้งต่ำกว่า BBB- ลงไปจนถึงไม่มีเรทติ้ง) ราว 11% ได้รับอัตราดอกเบี้ย(Coupon) โดยเฉลี่ยในช่วง 3-6% โดยหุ้นกู้ที่ถือส่วนใหญ่จะมีอายุ 1- 4 ปี แต่ในช่วงหลังพบว่ามีการกระจายการลงทุนในหุ้นกู้อายุยาวๆมากขึ้น รวมไปถึงหุ้นกู้แบบไม่กำหนดอายุ (perpetual bond) ทั้งนึ้ 75% ของหุ้นกู้ที่ถือจะมาจาก 5 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ธนาคาร พลังงาน พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ พาณิชย์

เมื่อลองเปรียบเทียบการลงทุนของนักลงทุนบุคคล กับนักลงทุนสถาบันอย่างกองทุนรวม ก็พบว่าลักษณะการลงทุนมีความแตกต่างกัน โดยกองทุนรวมนั้นกลับมุ่งเน้นลงทุนในหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งตั้งแต่ A- ขึ้นไปโดยมีสัดส่วนสูงถึง 81% และลงทุนในหุ้นกู้ Speculative Grade เพียง 2% ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มกองทุนรวมค่อนข้างระมัดระวังในการลงทุนโดยเลือกบริษัทที่มีฐานะทางการเงินมั่นคงเป็นหลัก ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่กองทุนรวมถือครองส่วนใหญ่มีอายุไม่เกิน 3 ปี สะท้อนถึงอายุของกองทุนรวมที่ส่วนใหญ่จะมีอายุค่อนข้างสั้น อัตราดอกเบี้ย (Coupon) ที่ได้รับโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2-4% และมีการกระจายลงทุนในหลายกลุ่มธุรกิจ

ข้อมูลการถือครองข้างต้นเป็นของหุ้นกู้ระยะยาว คือ มีอายุตั้งแต่ 270 วันขึ้นไป แต่สำหรับตราสารหนี้เอกชนระยะสั้นซึ่งมีมูลค่าคงค้างราว 3.5 แสนล้านและส่วนใหญ่อยู่ในรูปของตั๋วบีอีนั้น เราอาจจะมองไม่เห็นการถือครองแยกตามประเภทนักลงทุน แต่จากข้อมูลการเสนอขายพบว่า ตราสารหนี้ประเภทนี้แทบทั้งหมดเสนอขายแก่นักลงทุนสถาบัน และ นักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่เหล่านั้นก็คือนักลงทุนบุคคลนั่นเอง ทั้งนี้ มูลค่าของตราสารหนี้เอกชนระยะสั้นที่เป็น Speculative grade มีสัดส่วนสูงประมาณ 18% ของมูลค่าคงค้าง

จะเห็นได้ว่า นักลงทุนบุคคลถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในตลาดตราสารหนี้ของไทย โดยเป็นผู้ลงทุนหลักในหุ้นกู้ภาคเอกชน มีการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งหลากหลาย และอายุยาวกว่า เมื่อเทียบกับผู้ลงทุนสถาบันอย่างกองทุนรวม ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแลจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับนักลงทุนบุคคลทั้งในแง่การให้ความรู้ความเข้าใจในการลงทุน และการมีกลไกปกป้องนักลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงพัฒนาฐานนักลงทุนสถาบันให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เป็นช่องทางการลงทุนทางอ้อมสำหรับนักลงทุนทั่วไปในการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้เอกชนต่อไป

All Blogs