Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    May 12 2016
“หุ้นกู้ด้อยสิทธิ”

เรามารู้จักกับ “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” หรือ SUBORDINATED BOND กัน!!

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ หรือ Subordinated Bond คือ หุ้นกู้ประเภทหนึ่งที่มีลักษณะ เช่น การจ่ายดอกเบี้ย และอายุ เหมือนหุ้นกู้ทั่วไป จะแตกต่างกันตรงที่สิทธิในการเรียกร้อง (Priority claim) เมื่อผู้ออกตราสารเกิดล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้ในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่นในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออก แต่จะมีสิทธิเรียกร้องสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญซึ่งมีสิทธิเรียกร้องเป็นอันดับสุดท้าย

ในกรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลาย ผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระเงิน และต้องเฉลี่ยเงินให้กับเจ้าหนี้ทุกราย ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ จะได้รับการชำระหนี้ภายหลังเจ้าหนี้อื่นๆที่มีสิทธิเรียกร้องสูงกว่า ดังเช่นในภาพ ไวน์ในขวดเปรียบเหมือนทรัพย์สินที่มีอยู่ของผู้ออกหุ้นกู้ แก้วแต่ละชั้นคืออันดับการชำระหนี้ เมื่อเริ่มเทไวน์ แก้วด้านบนจะทะยอยเต็มก่อน หากไวน์หมดขวดก่อน แก้วระดับล่างก็จะว่างเปล่า หรือกล่าวได้ว่า เจ้าหนี้จะไม่ได้รับการชำระหนี้ ทำให้โดยทั่วไปแล้ว หุ้นกู้ด้อยสิทธิจะมีอันดับเครดิตต่ำกว่าหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Debt) และหุ้นกู้มีประกัน (Secured Debt) หุ้นกู้ประเภทนี้จึงเสนอผลตอบแทนที่สูงกว่า หรือ High risk high return นั่นเอง

สำหรับประเทศไทย หุ้นกู้ด้อยสิทธิเพิ่งจะเริ่มมีการออกในปี 2554 มูลค่าคงค้างทั้งหมดในปัจจุบัน (10 พ.ค. 59) อยู่ที่ 239,080 ล้านบาท บริษัทที่ออกตราสารหนี้ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการเงินเพื่อใช้เป็นเงินกองทุนของสถาบันการเงินโดยที่ผ่านมาหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ออกมักจะมีคุณลักษณะ (Feature) อื่นเพิ่มขึ้นมา เช่น ผู้ออกตราสารสามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด (Call option) ผู้ออกตราสารสามารถแปลงสภาพตราสารหนี้ประเภทนี้เป็นตราสารทุนได้หากผู้ออกมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ผู้ออกตราสารสามารถตัดเป็นหนี้สูญ (ทั้งจำนวนหรือบางส่วน) เมื่อทางการตัดสินใจเข้าช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ออกตราสาร ผู้ออกตราสารสามารถเลื่อนชำระดอกเบี้ยได้ในปีที่ไม่มีกำไร หรือไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ดังนั้นนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทนี้ควรศึกษาถึงคุณลักษณะอื่นๆ และความเสี่ยงที่สัมพันธ์กัน เพื่อวิเคราะห์ถึงผลตอบแทนที่จะได้รับว่าคุ้มค่าแล้วหรือยัง นอกเหนือไปจากความเสี่ยงที่นักลงทุนอาจไม่ได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยคืนหากผู้ออกตราสารเกิดล้มละลายและมีสินทรัพย์ไม่เพียงพอที่จะชำระคืน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงพื้นฐานของตราสารหนี้ด้อยสิทธิ

**การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสนใจลงทุน**

All Blogs