Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Mar 12, 2020
Pandemic Bond ภารกิจสู้โรค...กับบทเรียนที่ต้องเรียนรู้

สถานการณ์ของโรค COVID-19 หรือไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 กำลังลุกลามแพร่ระบาดไปหลายประเทศหลากทวีปมากขึ้น ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องใช้ทรัพยากรที่หลากหลายในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด แต่ไม่ใช่ทุกประเทศจะมีความพร้อมในการรับมือได้เท่าๆ กัน เช่นในช่วงปี 2013-2016 การแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในแถบแอฟริกาตะวันตก ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 11,300 รายเนื่องจากไม่มีเงินทุนที่จะใช้สำหรับควบคุมสถานการณ์ ธนาคารโลก (World Bank) จึงได้ออกเครื่องมือทางการเงินประเภทใหม่ คือ ตราสารหนี้ต้านโรคระบาด หรือ Pandemic bond เป็นครั้งแรกในปี 2017

Pandemic หมายถึง ภาวะระบาดใหญ่ มีการแพร่กระจายของโรคไปหลายประเทศและมีผลกับคนจำนวนมาก โดย Pandemic ถือว่าเป็นระดับขั้นสูงสุดตามวิทยาการระบาด

Pandemic bond รุ่นแรกของโลกออกมาเพื่อระดมเงินทุนรับมือการระบาดของโรคต่างๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ ไวรัสอีโบลา โรคไข้เลือดออก เป็นต้น มีการออก 2 รุ่น รุ่น A และรุ่น B อายุ 3 ปีเท่ากัน มูลค่ารวม 425 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคุณลักษณะของ Pandemic bond จะคล้ายกับ Basel III bond ที่เงินต้นอาจถูกตัดเป็นหนี้สูญหากเกิดเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไข (บทความ “Basel III Bond ตราสารหนี้ที่เพิ่มความมั่นคงให้แก่ธนาคาร”) โดย Pandemic bond กำหนดเงื่อนไขการตัดเงินต้นขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อของโรคระบาดในแต่ละประเทศพร้อมกรอบเวลาที่กำหนด ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยของ Pandemic bond จึงสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไปที่มีอายุเท่ากันเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่จ่ายเป็นแบบลอยตัวที่ 6M USD LIBOR + 6.50 ต่อปีสำหรับรุ่น A และ 6M USD LIBOR + 11.10% ต่อปีสำหรับรุ่น B เนื่องจากครอบคลุมหลายโรคมากกว่ารุ่น A ด้านนักลงทุนที่ซื้อ Pandemic bond จะเป็นนักลงทุนสถาบัน เพราะมีความรู้เรื่องตลาด มีเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายจึงสามารถป้องกันความเสี่ยงและรับความเสี่ยงได้มาก

แม้วัตถุประสงค์หลักของการออก Pandemic bond เพื่อระดมเงินทุนมาใช้ในการต่อสู้โรคระบาด แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ เงื่อนไขที่กำหนดไว้ไม่เอื้อต่อการนำเงินไปใช้ต่อสู้กับโรคระบาดเท่าที่ควร ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2018 เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาอีกครั้งในแอฟริกา มีผู้เสียชีวิตมากถึง 2,200 รายในประเทศคองโกและอีกกว่า 20 รายในประเทศใกล้เคียง แต่ทว่าจำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่มากพอ ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าอย่างน้อยต้องมี 2,500 รายในหนึ่งประเทศและอย่างน้อยอีก 20 รายในประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ เกณฑ์ยังกำหนดให้การแพร่ระบาดต้องเกิดขึ้นเป็นเวลาอย่างน้อย 12 สัปดาห์ขึ้นไปจึงจะสามารถหักเงินต้นเพื่อนำเงินไปใช้ต่อสู้การแพร่ระบาดได้ เป็นต้น นี้ยังไม่รวมถึงประเด็นที่ว่ามูลค่าการออกหุ้นกู้อาจจะมีขนาดเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการควบคุม บรรเทาโรคระบาดที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาที่ผ่านมาในประเทศคองโกเพียงประเทศเดียวก็ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงินสูงถึง 557 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

15 กรกฎาคม 2020 ที่จะถึงนี้เป็นวันที่ Pandemic bond สองรุ่นแรกของโลกจะครบกำหนดไถ่ถอน ก็หวังว่าจะครบกำหนดไถ่ถอนไปอย่างเงียบๆ โดยไม่มีเหตุให้ต้องตัดหนี้สูญจาก COVID-19 หรือโรคระบาดใดๆ แล้วนำบทเรียนที่ได้จาก 2 รุ่นนี้ไปปรับแก้ไข Pandemic bond ที่จะมีการออกมาใหม่ เพื่อให้การระดมทุนผ่าน Pandemic bond สามารถนำไปใช้ต่อสู้กับโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

All Blogs