Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jul. 10, 2019
เมื่อดอกเบี้ยสหรัฐฯ เปลี่ยนทิศ แล้วดอกเบี้ยไทยจะอย่างไร?

เป็นเวลากว่า 3 ปีครึ่งนับตั้งแต่การเริ่มต้นของวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยมีปัจจัยหลักจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวแข็งแกร่งต่อเนื่องจนดันให้เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ของพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) สหรัฐฯ ปรับขึ้นตลอดทั้งเส้น แต่จากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ทำให้เกิดผลกระทบและแรงกดดันต่อภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเกิดสัญญาณการเปลี่ยนทิศของ Bond Yield สหรัฐฯ จากขาขึ้นกลายเป็นขาลง เหตุจากความกังวลที่ว่าใกล้ถึงกำหนดเส้นตายที่สหรัฐฯจะขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนแต่ก็ยังไร้ข้อตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันทางประธานเฟดเองก็เผยว่าดอกเบี้ยนโยบายกำลังเข้าใกล้ระดับที่เป็นกลาง ซึ่งบ่งชี้ว่าโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยเริ่มน้อยลง ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี Bond Yield สหรัฐฯ รุ่นอายุมากกว่า 1 ปี ปรับลดลงถึง 36-47 bps

ต่อเนื่องมาในปี 2019 การเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังคงยืดเยื้อและทวีความตึงเครียดมากขึ้น จนกระทั้งเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีแนวทางการเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน ที่จะทำให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคของสหรัฐฯ มีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการฉุดการบริโภคและการลงทุนโดยรวมของสหรัฐฯให้ลดลง ก่อให้เกิดความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงต่อเนื่องไปยังตลาดการเงิน ทั้งนี้ ผลการประชุมของเฟด เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ถึงแม้จะให้คงดอกเบี้ยนโยบาย แต่เฟดได้แสดงท่าทีว่าอาจจะปรับลดดอกเบี้ยราว 0.50% ในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งเสมือนเป็นการส่งสัญญาณ End Game ของดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้ Bond Yield สหรัฐฯ รุ่นอายุตั้งแต่ 1 ปีเป็นต้นไปปรับลดลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งถึง

38-58 bps ในช่วงพฤษภาคม ถึงวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นอายุ 10 ปี ที่ลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง มีค่าอยู่ใกล้ๆ 2% ทั้งที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วยังเคลื่อนไหวอยู่แถว 3%

กระแสลมเปลี่ยนทิศของดอกเบี้ยสหรัฐฯ ได้ก่อให้เกิดกระแสลมกลับทิศในประเทศอื่นๆ ด้วย เช่น ช่วงราวต้นเดือนพฤษาคม ธนาคารกลางมาเลเซียปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มายืนที่ 3.00% และธนาคารกลางฟิลิปปินส์ก็ปรับลง 0.25% เช่นกัน มาอยู่ที่ 4.50% Bond Yield 10 ปีของทั้งสองประเทศ ปรับลดลงไป 9 bps และ 82 bps ตามลำดับ ในช่วงพฤษภาคม ถึงวันที่ 19 มิถุนายน ส่วนประเทศไทย Bond Yield 10 ปี ได้ปรับลดลงไป 35 bps แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เลือกคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ในเดือนพฤษภาคม สำหรับระยะต่อไป เมื่อพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯร่วมกับบริบททางเศรษฐกิจของไทย เช่น อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่สูง และแนวโน้มเงินบาทแข็งค่า จึงคาดว่า Bond Yield 10 ปีของไทยมีโอกาสจะปรับลดลงได้อีกเล็กน้อย ก่อนการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนดอกเบี้ยนโยบายก็ดูเหมือนว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีแรงกดดันมากขึ้นในการปรับลดดอกเบี้ย ซึ่ง กนง. คงต้องรอดูข้อมูลและประเมินช่วงเวลาที่เหมาะสมแต่คาดว่าไม่น่าจะฝืนกระแสลมไปได้นานสักเท่าไร่

All Blogs