Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    May 25, 2017
เมื่ออัตราดอกเบี้ยผันเปลี่ยน มูลค่าของตราสารหนี้ก็ผันแปร

นักลงทุนส่วนใหญ่อาจทราบแล้วว่าก่อนการลงทุนในตราสารหนี้ควรต้องพิจารณาอันดับเครดิต (Credit rating) ของผู้ออกหุ้นกู้ หรือของตราสารหนี้นั้นด้วย เนื่องจากความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ถือเป็นความเสี่ยงหลักของการลงทุนในตราสารหนี้ แต่ที่จริงยังมีความเสี่ยงอีกชนิดหนึ่งที่ควรให้ความสนใจด้วย เพราะเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนอาจต้องเผชิญหากต้องการขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนด ซึ่งอาจส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนที่จะได้รับ ความเสี่ยงดังกล่าว คือ “ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาเมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลง(Interest rate risk) ” นั่นเอง เพราะสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้แล้ว “มูลค่าตราสารหนี้จะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย”

ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยและมูลค่าของตราสารหนี้มีลักษณะแปรผกผันต่อกัน เปรียบเสมือนไม้กระดก กล่าวคือ เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น (i)มูลค่าของตราสารหนี้จะลดลง (v) และในทางกลับกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำลง(i) มูลค่าของตราสารหนี้จะสูงขึ้น(v)


สมมติว่านักลงทุนตัดสินใจลงทุน 100,000 บาท ในตราสารหนี้อายุ 10 ปี จ่ายอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (coupon) 4% ต่อปี ปีละ 2 ครั้ง และอัตราดอกเบี้ยในตลาดขณะนั้นอยู่ที่ 4% เช่นกัน ต่อมาอัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6% นั่นหมายความว่า ตราสารหนี้รุ่นใหม่ที่จะออกขายต่อจากนี้จะต้องให้ผลตอบแทนที่ 6% ทำให้ตราสารหนี้รุ่นที่นักลงทุนถืออยู่เดิมมีความน่าสนใจน้อยลงเนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่ต่ำกว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้รุ่นใหม่

ดังนั้น หากนักลงทุนต้องการที่จะขายตราสารหนี้รุ่นดังกล่าวออกมา ก็ต้องลดราคาขายให้ต่ำลง เพื่อชดเชยผลตอบแทนแก่คนซื้อให้เทียบเคียงได้กับอัตราดอกเบี้ยตลาดที่ปรับตัวสูงขึ้นมาที่ 6% ราคาขายของตราสารหนี้ดังกล่าวจึงต่ำกว่าราคาพาร์ (เรียกว่า Discount bond) และในทางกลับกันหากอัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับลดลงเป็น 3% ตราสารหนี้รุ่นที่นักลงทุนถืออยู่และจ่ายดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่ 4% ก็จะมีความน่าสนใจมากขึ้นและเป็นที่ต้องการของนักลงทุนคนอื่น เนื่องจากให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าตราสารหนี้รุ่นใหม่ ทำให้สามารถที่จะขายได้ในราคาที่สูงกว่าราคาพาร์(เรียกว่า Premium bond)

จากตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นว่าในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ผู้ที่ถือตราสารหนี้อยู่และต้องการที่จะขายตราสารหนี้อาจจะเผชิญกับความเสี่ยงที่ราคาตราสารหนี้จะลดลงอย่างไรก็ตามเนื่องจากตราสารหนี้แต่ละรุ่นมีอายุและดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน ทำให้การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อราคาตราสารหนี้ไม่เท่ากัน เครื่องมือที่จะช่วยในการวัดขนาดของผลกระทบดังกล่าวเรียกว่า“ดูเรชั่น (Duration)”

ดูเรชั่น (Duration)คือ อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าปัจจุบันของกระแสดอกเบี้ยรับที่จะได้ในอนาคต โดยตราสารหนี้ที่อายุคงเหลือนานๆ ก็จะมีดูเรชั่นสูง ตราสารหนี้ที่อายุคงเหลือน้อยๆ ก็จะมีดูเรชั่นต่ำซึ่งค่าดูเรชั่นจะใช้บ่งบอกถึงผลกระทบหรืออัตราการเปลี่ยนแปลงราคาตราสารหนี้เมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนไปหนึ่งหน่วยยกตัวอย่างเช่น หุ้นกู้ A อายุคงเหลือ 10 ปี ดูเรชั่น 8.5 ปี และหุ้นกู้ B อายุคงเหลือ 5 ปี ดูเรชั่น 4.6 ปี หากดอกเบี้ยขึ้น 1% หุ้นกู้ A จะมีราคาลดลงประมาณ 8.5% ส่วนหุ้นกู้ B จะมีราคาลดลงประมาณ 4.6% นั่นเอง

จะเห็นว่า ตราสารหนี้ที่อายุคงเหลือนาน จะมีดูเรชั่นสูง ซึ่งทำให้ราคาตราสารหนี้นั้นมีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยดังนั้นในช่วงแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น จึงควรลงทุนในตราสารหนี้ที่มีดูเรชั่นต่ำหรืออายุคงเหลือสั้นเพื่อลดโอกาสที่จะขาดทุนจากราคาตราสารหนี้ที่ต่ำลง และในทางกลับกัน ช่วงแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงก็ควรเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีดูเรชั่นสูงหรืออายุคงเหลือยาวๆ เพื่อรับผลประโยชน์จากราคาตราสารหนี้ที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการลดลงของราคาเมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะไม่มีผลสำหรับนักลงทุนที่ถือตราสารหนี้จนครบกำหนด นักลงทุนที่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลและถือจนครบกำหนดย่อมได้รับเงินต้นคืนครบตามราคาพาร์หรือมูลค่าหน้าตั๋ว แม้ว่าราคาตลาดระหว่างทางของพันธบัตรนั้นอาจเคลื่อนไหวขึ้นลงได้ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยก็ตาม


All Blogs