• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jan. 8, 2021
เครื่องมือรักษ์โลกล่าสุด...ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond: SLB)

ภาวะโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย อากาศแปรปรวน มลพิษ น้ำท่วม ภัยธรรมชาติต่างๆ ดูเหมือนจะรุนแรง และเกิดขึ้นทั่วโลก บ่อยมากขึ้น ทุกภาคส่วนตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงตลาดทุน! วันนี้มีเครื่องมือการระดมทุนประเภทตราสารหนี้รูปแบบใหม่ที่ส่งเสริมความยั่งยืนมาแนะนำกันค่ะ

ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond: SLB) เป็นตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับเป้าหมายโดยรวมของบริษัทผู้ออกในอนาคตที่จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยผู้ออกสามารถนำเงินทุนที่ระดมได้ไปใช้กับโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโครงการหนึ่งหรือหลายโครงการก็ได้ แต่หากบริษัททำไม่สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (คูปอง: Coupon) ให้แก่นักลงทุน

แนวคิด SLB มาจาก Enel Group บริษัทพลังงานในอิตาลีที่ต้องการสร้างแรงจูงใจในการดำเนินกิจการให้แก่ตัวเองบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ขององค์การสหประชาชาติ จึงนำหลักเกณฑ์การกู้เงินส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability Linked Loan Principles: SLLP) ที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สามารถปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงตามดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (Key Performance Indicators) ของผู้ขอกู้ มาใช้อ้างอิงในการออกตราสารหนี้

SLB รุ่นแรกของโลกเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2019 โดยบริษัท Enel Group ที่ผูกโยงอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วของตราสารหนี้มูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้ากับตัวชี้วัดความยั่งยืนของบริษัท โดยกำหนดเป้าหมายในการประเมินผลรอบแรกในเดือนธันวาคมปี 2021 ว่าบริษัทต้องสามารถผลิตพลังงานทดแทนได้อย่างน้อย 55% ของกำลังการผลิตทั้งหมด หากไม่บรรลุตามเป้าหมาย บริษัทจะต้องเพิ่มคูปองจากเดิมอีก 25 basis points หรือ 0.25% ให้แก่นักลงทุน ซึ่งตลาดตอบรับค่อนข้างดี บริษัทจึงได้ออก SLB อีก 3 รุ่นมูลค่ารวมกว่า 2.5 พันล้านยูโรในเดือนถัดมา

จากการที่ SLB ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก สมาคมตลาดทุนระหว่างประเทศ หรือ ICMA (international Capital market Association) จึงได้ออกมาตรฐานการออก SLB เรียกว่า Sustainability-linked Bond Principle (SLBP) ในเดือนมิถุนายน 2020 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติให้แก่ผู้ออก ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้

1) Selection of KPIs: ผู้ออกต้องกำหนดตัวชี้วัด มีหลายตัวชี้วัดได้แต่ต้องสามารถประเมินผลในเชิงปริมาณและตรวจสอบได้โดย external reviewer

2) Calibration of Sustainability Performance Targets (SPTs): ต้องระบุเป้าหมายของตัวชี้วัดหรือค่าอ้างอิง ซึ่งควรกำหนดไว้สูงกว่าค่ามาตรฐานของการทำงานปกติ รวมถึงระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย

3) Bond characteristics: ผู้ออกต้องกำหนดลักษณะการเปลี่ยนแปลงของตราสารและเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการภายหลังการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เช่น หากไม่สามารถบรรลุตัวชี้วัด ผู้ออกต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ เป็นเวลานานแค่ไหน

4) Reporting: จัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุนเป็นประจำเพื่อแจ้งผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัด เช่น รายปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

5) Verification: จัดให้มีการรับรองหรือการให้ความเห็นโดย external reviewer

หลังการประกาศหลักเกณฑ์ของ ICMA ในเดือนกันยายนปี 2020 ที่ผ่านมา มีผู้ออก SLB แล้วถึง 3 ราย ผู้ออกรายแรกคือ Suzano บริษัทผลิตกระดาษขนาดใหญ่ของบราซิลออก SLB มูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็น SLB รุ่นแรกภายใต้หลักเกณฑ์ของ ICMA โดยตราสารนี้กำหนดเงื่อนไขว่า หากในปี 2025 บริษัทไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตลง 10.9% จากค่าการปล่อยของปี 2015 ได้ จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ถัดมา Novartis บริษัทยาอันดับ 2 ของโลกเสนอขาย SLB มูลค่า 1.85 พันล้านยูโรที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการเพิ่มจำนวนการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในประเทศรายได้ปานกลางและต่ำ และปิดท้ายด้วย Chanel แบรนด์แฟชั่นชั้นนำของฝรั่งเศสออก SLB มูลค่า 600 ล้านยูโร โดยบริษัทมุ่งลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกลง 10% และปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปใช้พลังงานทดแทนทั้งหมดภายใน 5 ปี หากทำไม่สำเร็จจะต้องจ่ายคูปองเพิ่มอีก 50-75 basis points ให้แก่นักลงทุน

ล่าสุด ในวันที่ 29 ตุลาคมปี 2020 ที่ผ่านมา สายการบิน Etihad ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เสนอขาย SLB มูลค่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ.โดยผูกโยงอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วของตราสารหนี้เข้ากับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งหากถึงรอบการประเมินแล้วไม่สามารถบรรลุเป้าหมายจะต้องปรับอัตราคูปองขึ้น 0.25%

สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. กำลังรับฟังความคิดเห็นต่อหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน ซึ่งนอกจากจะเพิ่มช่องทางการระดมทุนให้แก่ภาคธุรกิจแล้ว นักลงทุนก็จะมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลโลกและดูแลสังคมไปด้วยกัน ดีจังเลยค่ะ

All Blogs