Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Feb. 12, 2020
ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืนในประเทศไทย

ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดในปี 2019 ตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวทำสถิติการออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทะลุ 1 ล้านล้านบาท โดยตราสารหนี้ภาคเอกชนกลุ่มตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืนซึ่งประกอบด้วยตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) มีมูลค่าการออกเพิ่มมากขึ้นและกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ออกตราสารหนี้เหล่านี้เป็นใคร เรามาทำความรู้จักกัน

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ในปี 2015 มีการออก Green Bond เป็นครั้งแรกของประเทศ มูลค่า 3,000 ล้านบาทโดย บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น เสนอขายแก่นักลงทุนสถาบันรายใหญ่ในประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบริษัทประกัน เพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งนี้ Green Bond ของบริษัทบางจากรุ่นนี้ไม่ได้มีการเปิดเผยว่าได้อ้างอิงตามหลักเกณฑ์การออก Green Bond ที่เป็นมาตรฐานใด นักลงทุนบางส่วนจึงอาจไม่นับว่าหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นGreen Bond

ต่อมาในเดือนมิถุนายนปี 2018 ธนาคารทหารไทยออก Green Bond ที่อาศัยหลักเกณฑ์การออกและลักษณะของโครงการตามมาตรฐานสากลที่จัดทำโดย International Capital Market Association (ICMA) และ Asian Capital Market Forum (ACMF) ด้วยมูลค่า 1,850 ล้านบาท โดยมี International Finance Corporation (IFC) เป็นผู้ลงทุนทั้งจำนวน และในเดือนธันวาคมปี 2018 บ.บีกริม พาวเวอร์ (BGRIM) ได้ออก Green Bond มูลค่า 5,000 ล้านบาท โดยจำหน่ายทั้งจำนวนแก่ ADB (Asian Development Bank) Green Bond นี้ได้รับการรับรองจาก Climate Bonds Initiative (CBI) ซึ่งเป็นมาตรฐาน Green Bond ระดับสากล

สำหรับการออก Sustainability Bond ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยและอาเซียนที่ออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ด้วยมูลค่ารวม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,288 ล้านบาท เสนอขายแก่นักลงทุนต่างประเทศในฮ่องกง ในเดือนตุลาคม 2018

รวมยอดการออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืนในปี 2018 อยู่ที่ 10,138 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.2% ของมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวทั้งหมดในปี 2018

ในช่วงปลายปี 2018 ก.ล.ต. ได้ออกเกณฑ์การเสนอขาย Green Bond เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2018 โดยกำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ตามปกติแต่เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม เช่น วัตถุประสงค์การใช้เงิน กระบวนการคัดเลือกโครงการลงทุน และการบริหารเงินจากการระดมทุน เป็นต้น ตามมาด้วยการออกเกณฑ์การเสนอขาย Social Bond และ Sustainability Bond เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2019 นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นแบบ filing การออกตราสารหนี้ทั้ง 3 ประเภทนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการระดมทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ThaiBMA ก็ได้ร่วมสนับสนุนโดยการปรับลดค่าบริการขึ้นทะเบียนตราสารหนี้ด้วย

Green Bond รุ่นแรกที่ออกภายใต้เกณฑ์การเสนอขายของ ก.ล.ต. ออกโดย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป (BTSG) มูลค่า 13,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2019 เป็นครั้งแรกของการออก Green Bond ที่เสนอขายแก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศ ตามมาด้วย บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ออก Green Bond มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม ทั้งนี้ Green Bond ของ BTSG และ EA ต่างก็ได้รับการรับรองความเป็น Green Bond จาก CBI

วันที่ 23 สิงหาคม 2019 มีการออก Social Bond รุ่นแรกของไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ออก Gender Bond ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของ Social Bond มูลค่า 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6,160 ล้านบาท จำหน่ายให้แก่ IFC และ DEG (Deutsche Investitions und Entwicklungsgesellschaft) เพื่อนำเงินมาปล่อยสินเชื่อแก่ SME ที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของหรือผู้บริหาร

ภายหลังจาก ก.ล.ต. กำหนดเกณฑ์การออกที่ชัดเจนและความสนใจของนักลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น ในปี 2019 ยอดออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยั่งยืนได้ขยายตัวเกือบ 2 เท่าจากปีที่ผ่านมา มียอดการออกที่ 29,160 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.7% ของมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวในปี 2019

ในปี 2020 นี้ เรามาติดตามกันว่าจะมีบริษัทหรือองค์กรใดระดมทุนผ่านการออก Green Bond, Social Bond หรือ Sustainability Bond เพิ่มเติมบ้าง ซึ่งนอกจากผู้ออกจะได้เงินทุนไปดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว นักลงทุนก็มีทางเลือกลงทุนที่หลากหลายมากขึ้นแถมยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือสังคมอีกทางหนึ่ง

All Blogs