Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jul. 18, 2019
เข้าใจหุ้นกู้ใน 5 นาทีกับ Fact sheet

Fact sheet หรือ “เอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของตราสารหนี้” เป็นการสรุปประเด็นสำคัญที่นักลงทุนควรทราบในหนังสือชี้ชวนที่ยาวหลายร้อยหน้าเหลือเพียงไม่ถึง 3-4 หน้า Fact sheet จึงเป็นเหมือน ทางลัดให้นักลงทุนได้เข้าใจหุ้นกู้ที่จะลงทุนได้ง่ายขึ้น ประหยัดเวลา และไม่พลาดสาระสำคัญก่อนการลงทุน

5 ประเด็นต่อไปนี้ถือว่าเป็น The Must ที่นักลงทุนควรทำความเข้าใจก่อนการลงทุน

• ลักษณะการประกอบธุรกิจ /ปัจจัยความเสี่ยงเฉพาะของตราสารหนี้

นักลงทุนควรทราบลักษณะธุรกิจของผู้ออก แหล่งรายได้หลักของกิจการ และปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงเฉพาะของหุ้นกู้ เช่น เงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นที่ผู้ออกอาจเลื่อนจ่ายได้ ดังเช่นที่มีการกำหนดไว้ใน Perpetual bond หรือการที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกไถ่ถอนได้ก่อนกำหนดของ Callable bond

• การจัดอันดับเครดิต

การจัดอันดับเครดิตของบริษัท (Company rating) หรือ หุ้นกู้ (Issue rating) ที่จะสะท้อนถึงโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ หากหุ้นกู้ใดไม่มีการจัดอันดับเครดิต นักลงทุนควรต้องพิจารณาพื้นฐานบริษัท งบการเงินรวมถึงสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะไม่ผิดนัดชำระหนี้

• หลักประกัน

หากเป็นหุ้นกู้มีหลักประกัน นักลงทุนต้องทราบว่าเป็นหลักประกันประเภทใด เช่น ที่ดิน อาคาร หรือหลักทรัพย์ รวมถึงมูลค่าของหลักประกันว่าคิดเป็นกี่เท่าของมูลค่าหุ้นกู้ เพื่อให้แน่ใจว่าหากเกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้ หลักประกันจะมีมูลค่าเพียงพอในการชำระคืนหนี้หุ้นกู้ แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการบังคับขายหลักประกันนั้นใช้เวลาค่อนข้างนานและในกรณีที่ใช้หุ้นสามัญของบริษัทเองเป็นหลักประกัน นักลงทุนต้องพึงระวังให้มากเพราะในวันที่บริษัทผิดนัดชำระหนี้ราคาหุ้นของบริษัทอาจลดลงอย่างมากจนไม่เหลืออะไรเลย

• ข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้

เป็นการกำหนดสิทธิของผู้ถือ และหน้าที่ของผู้ออก เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ถือตราสารหนี้ไม่ให้บริษัทกระทำการใดอันซึ่งจะส่งผลต่อการชำระหนี้ในอนาคต ตัวอย่างข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ที่ผู้ออกต้องกระทำ เช่น

ห้ามผู้ออกหุ้นกู้จ่ายเงินปันผลหากไม่ชำระคืนเงินต้น ไม่จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ หรือผิดนัดชำระหนี้อื่นๆ รวมถึงห้ามผู้ออกนำเงินไปใช้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่ระบุในหนังสือชี้ชวน และกำหนดเงื่อนไขในการดำรงอัตราส่วนทางการเงิน เช่น การคุมอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (DE Ratio) อัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (Interest coverage ratio) ไม่ให้เกินกว่าที่กำหนด เป็นต้น

• สรุปฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน

ใน Fact sheet มีข้อมูลสรุปฐานะการเงินของผู้ออกหุ้นกู้ซึ่งนักลงทุนพึงใช้ในการพิจารณาก่อนลงทุน เช่น สินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไร (ขาดทุน) สะสมของกิจการ รวมถึงอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ เช่น อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน อัตราส่วนสภาพคล่องและอย่าลืมดูประวัติการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทเพื่อประเมินความเสี่ยงในอนาคต ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะแสดงในกรอบเล็กๆบน Fact sheet

เมื่อได้ศึกษาข้อมูลสำคัญของหุ้นกู้และตัดสินใจเลือกได้แล้ว ก็ติดต่อสถาบันการเงินใกล้บ้านหรือที่ท่านคุ้นเคยได้เลย โดยควรลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้และเข้ากับสไตล์การลงทุนของท่านเองนะครับ

All Blogs