Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Feb. 01, 2018
จับตาการลงทุนของต่างชาติในตลาดบอนด์

เริ่มต้นปี 2561 เม็ดเงินลงทุนของต่างชาติในตลาดบอนด์ก็เป็นที่จับตาของนักลงทุนอย่างมาก เนื่องจากมีเม็ดเงินเข้ามาในตลาดบอนด์ค่อนข้างมาก เพียง 3 วันแรกที่เปิดตลาด มีเงินไหลเข้ามาลงทุนสุทธิสูงถึง 35,741 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นการปรับน้ำหนักพอร์ตการลงทุนหลังจากที่นักลงทุนส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนไปในช่วงท้ายปีที่ผ่านมาเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดบอนด์อย่างต่อเนื่องจนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-26 Jan 18) ที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับทิศทางเป็นขายสุทธิ แต่โดยสรุปแล้วจนถึงวันที่ 26 ม.ค. 2561 การลงทุนของต่างชาติในตลาดบอนด์มีมูลค่าสุทธิเพิ่มขึ้น 72,541 ล้านบาท จนเป็นที่จับตาของนักลงทุนและหน่วยงานภาครัฐ แต่ก็พอจะอุ่นใจขึ้นหน่อยที่กว่า 70% เป็นการเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวซึ่งมักมีเจตนาในการลงทุนค่อนข้างนานเพื่อรับผลตอบแทนจากตราสารหนี้มีเพียง 30% ที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นซึ่งเป็นไปได้ว่าเพื่อหวังทำกำไรจากค่าเงิน

คำถามที่มักจะถูกถามต่อมาคือ เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในตลาดบอนด์ตอนนี้ถือว่าสูงไหม ซึ่งหากดูจากมูลค่าการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติย้อนหลัง พบว่าปี 2012 มีเงินทุนไหลเข้าสูงสุดเฉลี่ย 37,000 บาทต่อเดือน ซึ่งก็ยังน้อยกว่าเกือบ 2 เท่าของเงินทุนที่ไหลเข้าในช่วง 26 วันแรกของเดือนมกราคมนี้จากกระแสเงินทุนไหลเข้าที่ผ่านมาทำให้มูลค่าการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติขึ้นมาสูงถึง 921,386 ล้านบาท หรือ 8% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ทำลายสถิติที่เคยสูงสุดเมื่อเดือนเมษายน 2013 ที่ 864,552 ล้านบาท

ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศจะไหลเข้ามาในตราสารหนี้ไทยค่อนข้างสูง แต่มีส่วนเพียงเล็กน้อยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า เนื่องจากมูลค่าการไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13% ของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2017 หรือมีส่วนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเพียง 1%เท่านั้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่า 10% ในปี 2017นอกจากนั้น ใช่ว่าเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาในตลาดบอนด์จะไม่มีประโยชน์ต่อประเทศไทย อย่างน้อยก็มีส่วนทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ Bond yield 10 ปี ลงไปต่ำสุดที่ 2.35%นั่นหมายถึงต้นทุนการกู้ยืมของทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะสามารถกู้เงินได้นานถึง 10 ปี ด้วยต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายเพียง 2.35% เท่านั้น รัฐบาลซึ่งเป็นผู้กู้รายใหญ่ของประเทศจะสามารถประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายได้ถึง 2,100 ล้านบาท ซึ่งคิดมาจากดอกเบี้ยที่ต่ำลง 30 bps. จากยอดการออกพันธบัตรรัฐบาลกว่า 7 แสนล้านบาทในปี 2017ไม่นับรวมกับหุ้นกู้ระยะยาวภาคเอกชนที่มียอดการออกอีกกว่า 8 แสนล้านบาท

จากปัจจุบันที่ต่างชาติมียอดการถือครองสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นักลงทุนและหน่วยงานภาครัฐอาจจะร้อนๆ หนาวๆ เมื่อคิดถึงเวลาที่เงินทุนจะไหลออก เพราะเกรงจะทำให้เกิดความผันผวนปั่นป่วนในตลาดได้หากฟันด์โฟลว์ไหลออกพร้อมๆกัน แต่จะว่าไป ในปีที่ผ่านมาทิศทางการลงทุนของต่างชาติผิดไปจากความคาดหมายของตลาดอย่างมาก ปลายปีที่แล้วคาดการณ์กันว่าน่าจะเกิดกระแสเงินทุนไหลออกในปีนี้เนื่องจากมองว่า yield ของพันธบัตรสหรัฐฯ จะปรับสูงขึ้น จนทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่เคยสูงกว่าของสหรัฐฯ ไม่น่าสนใจพอเม็ดเงินน่าจะไหลกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ แต่กลับกลายเป็นว่าตั้งแต่ต้นปีมีการไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ค่อนข้างสูงทีเดียวจากทิศทางเงินบาทแข็งค่ารวมถึงความมีเสถียรภาพและแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทิศทางจากนี้เป็นไปได้ว่า กระแสเงินทุนจากต่างชาติจะชะลอตัวลงหลังจากได้ปรับน้ำหนักพอร์ทการลงทุนไปแล้ว ส่วนจะมีการไหลออกเมื่อไรคงขึ้นอยู่กับทิศทางค่าเงินบาท อัตราเงินเฟ้อ และ Government bond yield ของไทยและสหรัฐฯ เป็นสำคัญ

All Blogs