Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Feb. 21, 2018
Yield Curve พระเอกของการลงทุนในตราสารหนี้

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักลงทุนมือสมัครเล่น หรือนักลงทุนมือโปร หากต้องการจะลงทุนหรือซื้อตราสารหนี้สักรุ่น ล้วนแล้วแต่ต้องเทียบเคียงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้งสิ้นเพื่อพิจารณาว่าตราสารหนี้รุ่นที่เล็งไว้นั้นให้คูปองหรือผลตอบแทนเหมาะสมแล้วหรือยังเมื่อเทียบกับการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง

พระเอกที่ช่วยบอกให้รู้ว่าการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิตในช่วงอายุต่างๆจะมีอัตราผลตอบแทนเท่าไร ก็คือ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ Government Bond Yield Curve นั่นเอง เนื่องจากตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลถือเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิต โดยหากลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุไม่เท่ากันก็อาจได้ผลตอบแทนที่ต่างกัน เพราะในภาวะปกติยิ่งอายุการลงทุนนานก็ยิ่งได้ผลตอบแทนสูงขึ้น เส้น Government bond yield curve จึงใช้สะท้อนอัตราผลตอบแทนของการลงทุนที่ปราศจากความเสี่ยงด้านเครดิตในระยะเวลาต่าง ๆโดยเส้น Yield curve จะปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในแต่ละวันขึ้นกับปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ดังนั้นนักลงทุนจึงสามารถนำอัตราคูปอง (หากซื้อในตลาดแรก) หรือ อัตราผลตอบแทน (หากซื้อในตลาดรอง) ของตราสารหนี้ที่สนใจลงทุนไปเทียบเคียงกับGovernment bond yield curveเพื่อดูว่าอัตราผลตอบแทนหรือส่วนชดเชยความเสี่ยงที่ได้รับจากตราสารหนี้นั้นเหมาะสมหรือคุ้มค่าที่จะลงทุนหรือไม่

ตัวอย่างเช่น หากสนใจลงทุนในหุ้นกู้ของ CPF (CPF 235A)ซึ่งมีอันดับเครดิตA+อายุคงเหลือ 5.3 ปี ณ 24 ม.ค. 2560เสนอราคาขายที่คำนวณออกมาเป็นอัตราผลตอบแทนได้ที่ 2.5692% เมื่อเราลองไปเปิดดูข้อมูล Yield curve ของ ThaiBMA พบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ตอนนี้อยู่ที่ 1.8116% แปลว่า หากลงทุนในหุ้นกู้ CPF รุ่นนี้เราจะได้รับส่วนชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเท่ากับ 2.5692%-1.8116% = 0.7576% หรือ 75.76 basis point ซึ่งเมื่อนำไปเทียบเคียงกับหุ้นกู้ที่มีอายุและเรทติ้งเท่ากัน พบว่าให้ส่วนชดเชยความเสี่ยงเพียง 70 basis point ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกู้ CPF รุ่นนี้ก็ถือว่าน่าสนใจกว่าภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เท่ากัน เพียงเท่านี้ เราก็สามารถเลือกลงทุนในตราสารหนี้ได้อย่างมีหลักการโดยหลักการที่ว่าก็มีจุดเริ่มต้นมาจาก Government bond yield curve พระเอกของการลงทุนในตราสารหนี้

All Blogs