Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Mar. 07, 2018
ทิศทางของตลาดตราสารหนี้ไทย

การศึกษาประวัติศาสตร์ก็เพื่อทำความเข้าใจเหตุและผลของความเป็นมาทำให้สามารถคาดการณ์และวางแผนในการรับมือ แก้ไข หรือป้องกัน สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยเมื่อศึกษาข้อมูลย้อนหลังที่ผ่านมา พบว่ามีความน่าสนใจหลายแง่มุมทีเดียว พอจะสรุปเป็นประเด็นได้ดังต่อไปนี้

ตลาดตราสารหนี้ไทยมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นมาก ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 มูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทยต่อ GDP เพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 76% ในปัจจุบัน มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 16% สูงกว่าอัตราการขยายตัวของตลาดหุ้นเสียอีกที่เฉลี่ยปีละ 15% และทิ้งห่างสินเชื่อธนาคารที่ขยายตัวเพียงปีละไม่ถึง 5% เท่านั้น หากเปรียบเทียบกับขนาดตลาดการเงินของโลกที่ McKinsey Global Institute ได้มีการประมาณการมูลค่าไว้ ในปี 2010 ตลาดหุ้นของโลกมีมูลค่าตลาดที่ 54 ล้านล้านดอลล่าร์สรอ. และตลาดตราสารหนี้ของโลกมีขนาด 93 ล้านล้านดอลล่าร์สรอ. ซึ่งใหญ่กว่าตลาดหุ้นเกือบ 2 เท่า ดังนั้นการเติบโตอย่างมากของตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่ผ่านมาจึงไม่น่าแปลกใจ เพราะเป็นไปตามทิศทางการพัฒนาตลาดการเงินของโลกที่การระดมทุนแบบไม่ผ่านตัวกลาง (Disintermediation) ซึ่งทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ต่างก็ได้รับประโยชน์จะเป็นรูปแบบการระดมทุนหลักของตลาดการเงินโลก ทำให้เป็นที่คาดการณ์ได้ว่าตลาดตราสารหนี้ไทยก็น่าจะยังคงมีอัตราการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกหลายปี

ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยยังขยายตัวได้อีกมาก จากข้อมูลของAsianBondsOnlineพบว่าทุกประเทศในแถบเอเชียมีตลาดตราสารหนี้ภาครัฐ (ที่ออกโดยรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ธนาคารกลางและรัฐวิสาหกิจ) ที่ใหญ่กว่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งสิ้นซึ่งรวมถึงไทยด้วย โดยตลาดตราสารหนี้ภาครัฐของไทยถือได้ว่ามีสัดส่วนต่อ GDP ที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ที่มีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 50% ต่อGDP แต่สำหรับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยถือว่ายังมีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก โดยเมื่อ 20 ปีที่แล้วมีขนาดเพียง 3%ต่อ GDP โตขึ้นมาที่ 21%ในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียมีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 37% ต่อGDPโดยในแง่ของจำนวนบริษัทที่ออกตราสารหนี้ก็ยังมีจำนวนไม่มากนักแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นมามากแล้ว เฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์ MAIที่เคยออกตราสารหนี้คิดเป็นเพียง 26% เท่านั้น จากที่กล่าวมานี้จึงทำให้มองได้ว่าโอกาสในการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยยังมีอีกมาก

ตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวเริ่มมีมูลค่าการออกแซงพันธบัตรรัฐบาล สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว ผู้กู้หลักก็คือรัฐบาลและภาคเอกชน ที่มักจะระดมทุนเพื่อไปใช้ในการลงทุนต่างๆ โดยตั้งแต่อดีตที่ผ่านมารัฐบาลจะเป็นผู้กู้รายใหญ่ที่สุด ระหว่างปี 2009-2017 รัฐบาลมีการออกพันธบัตรเฉลี่ยปีละ 5.6 แสนล้านบาท แต่ตั้งแต่ปี 2559 มูลค่าการออกพันธบัตรรัฐบาลกลับถูกแซงด้วยการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่ค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องล้นตลาด จนมูลค่าการออกทะลุ 8 แสนล้านบาทไป 2 ปีซ้อนแซงหน้ามูลค่าการออกพันธบัตรรัฐบาลไปแล้วดังนั้นในสภาวะที่กล่าวว่าเป็น New Normalนี้ภาคเอกชนก็น่าจะมีแนวโน้มการออกตราสารหนี้ที่สูงขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนซึ่งมีขอบเขตการทำธุรกิจที่กว้างกว่ารัฐบาลมาก

ผู้ออกหุ้นกู้หันมาเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (II/HNW) มากขึ้น ในอดีตการออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่จะเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (PO) จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้แบบ PP(Private placement) ต่อนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (II/HNW) ได้ นักลงทุนรายใหญ่ (High net worth: HNW) จึงกลายเป็นนักลงทุนหลักในตลาดหุ้นกู้ สัดส่วนการเสนอขายตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชนต่อกลุ่ม II/HNW ในปี 2012 ที่ 31% เพิ่มสูงขึ้นเป็น 79% ในปี 2016 แล้วลดลงเล็กน้อยเป็น 74% ในปี 2017ในขณะที่สัดส่วนการเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (PO) ลดลงจาก 68% เหลือ 16% จนเป็นที่สงสัยของนักลงทุนรายย่อยทั่วไปว่าทำไมถึงหาซื้อหุ้นกู้ไม่ได้ อย่างไรก็ดี ช่วงกลางปีนี้เกณฑ์การเสนอขายหุ้นกู้ต่อ HNW ที่ปรับปรุงใหม่กำลังจะบังคับใช้ซึ่งจะมีความเข้มงวดใกล้เคียงกับการเสนอขายแบบ PO มากขึ้นเราจึงอาจจะเห็นผู้ออกหลายรายเร่งออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นให้ทันก่อนเกณฑ์ใหม่มีผลบังคับใช้

สรุปแล้วตลาดตราสารหนี้ไทยมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในการเป็นแหล่งระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก ซึ่งผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (II/HNW)น่าจะยังคงเป็นนักลงทุนกลุ่มหลักของตราสารหนี้ภาคเอกชนต่อไปจากสภาพคล่องในระบบที่ยังมีอยู่สูง แต่ก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะได้เห็นการเสนอขายหุ้นกู้ต่อประชาชนทั่วไป (PO) โดยเฉพาะจากภาคเอกชนที่มีความต้องการระดมทุนขนาดใหญ่ เพราะเกณฑ์การเสนอขายหุ้นกู้แบบ HNW และ PO เริ่มมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น

All Blogs