Individual Investors

ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล Government Bond Index
  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Apr 10, 2018
ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Index)

ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Government Bond Index) เป็นดัชนีหลักชี้วัดการเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้เพื่อใช้เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ และใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบเพื่อวัดผลการดำเนินงานของกองทุนตราสารหนี้ (Benchmark) การเลือกดัชนีจึงมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยตัดสินใจลงทุน ดังนั้นผู้ใช้ควรทำความเข้าใจถึงวิธีการสร้างและการคำนวณดัชนี เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการนำไปใช้

ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลของ ThaiBMA จัดทำขึ้นโดยถ่วงน้ำหนักด้วย Market capitalization และใช้ราคาที่เกิดจากข้อมูลการซื้อขาย รวมถึงข้อมูลการ Quote ที่มาจากผู้ค้าตราสารหนี้โดยตรง ทำให้ดัชนีสะท้อนมูลค่าตลาดได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับการอ้างอิงการเคลื่อนไหวของตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพันธบัตรที่มีคุณสมบัติดังนี้

• พันธบัตรที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
• พันธบัตรรัฐบาลประเภทพันธบัตรเงินกู้ (Loan Bond: LB)
• ไม่มีสิทธิ์แฝง (Option Embedded) เช่น ต้องปราศจากสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด (Call Option)
• กำหนดจ่ายอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ตลอดอายุของตราสาร

ปัจจุบัน ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลที่ ThaiBMA เผยแพร่อยู่มี 2 ประเภท คือ ThaiBMA Government Bond Index และ ThaiBMA MTM Government Bond Index ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ThaiBMA Government Bond Index เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2542 (วันฐาน) โดยแบ่งตามอายุคงเหลือได้เป็น 5 กลุ่มย่อย ได้แก่

1) กลุ่มดัชนีตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือตั้งแต่ 1 ถึง 3 ปี (1 < ttm ≤ 3)
2) กลุ่มดัชนีตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือตั้งแต่ 3 ถึง 7 ปี (3 < ttm ≤ 7)
3) กลุ่มดัชนีตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือตั้งแต่ 7 ถึง 10 ปี (7 < ttm ≤ 10)
4) กลุ่มดัชนีตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 10 ปี (ttm > 10)
5) กลุ่มดัชนีตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือตั้งแต่ 14 วัน ถึง 10 ปี (14 วัน < ttm ≤ 10)

มูลค่าของพันธบัตรรัฐบาลแต่ละรุ่นจะคำนวณมาจากอัตราผลตอบแทนซื้อขายเฉลี่ย (Weight Average Executed Yield) ของวันนั้นๆ มาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าการซื้อขายแต่ละรายการ หากพันธบัตรรัฐบาลไม่มีการซื้อขายจะใช้ค่าเฉลี่ยระหว่างอัตราผลตอบแทนเสนอซื้อเฉลี่ย (Avg. Bidding Yield) และอัตราผลตอบแทนเสนอขายเฉลี่ย (Avg. Offering Yield) จาก Primary Dealers (PDs) และมูลค่าตามราคาตลาดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (Market Capitalization)

ThaiBMA MTM Government Bond Index เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 (วันฐาน) โดยแบ่งตามอายุคงเหลือได้เป็น 5 กลุ่มย่อย ได้แก่

1) กลุ่มดัชนีตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือตั้งแต่ 1 ถึง 3 ปี (1 < ttm ≤ 3)
2) กลุ่มดัชนีตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือตั้งแต่ 3 ถึง 7 ปี (3 < ttm ≤ 7)
3) กลุ่มดัชนีตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือตั้งแต่ 7 ถึง 10 ปี (7 < ttm ≤10)
4) กลุ่มดัชนีตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 10 ปี (ttm > 10)
5) กลุ่มดัชนีตราสารหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 ปี (ttm ≤ 10)

มูลค่าของพันธบัตรรัฐบาลแต่ละรุ่นจะคำนวณมาจากราคาตลาดหรือราคามูลค่ายุติธรรม ณ สิ้นวัน (End-of-Day Mark-To-Market) มาใช้ในการคำนวณดัชนี ซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่กองทุนใช้ในการทำราคา NAV ทุกสิ้นวันทำการ ดังนั้น ThaiBMA MTM Government Bond Index จึงมีความสอดคล้องที่จะใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุน เนื่องจากเป็นราคาอ้างอิงเดียวกัน อีกทั้งยังสะท้อนราคาตลาดได้ดียิ่งขึ้น

ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลทั้ง 2 ประเภทนั้น สามารถใช้วัดความเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้ของพันธบัตรรัฐบาลทั้งในด้านราคาอย่างเดียว หรือผลตอบแทนที่รวมดอกเบี้ยจ่ายเข้ามาด้วย ซึ่งมีความหมายและมีสูตรการคำนวณโดยแบ่งเป็น 3 แบบ ดังนี้

1. Clean Price Index – ใช้สำหรับวัดความเคลื่อนไหวของราคาและอายุคงเหลือของตราสาร จึงไม่นำเอาดอกเบี้ยค้างรับเข้ามารวมในการคำนวณ โดยมีสูตรการคำนวณ ดังนี้

CPIndex

2. Gross Price Index – ใช้สำหรับวัดความเคลื่อนไหวของราคาที่รวมดอกเบี้ยค้างรับและอายุคงเหลือของตราสาร การคำนวณ Gross Price Bond Index จะเริ่มจากการคำนวณมูลค่าของดอกเบี้ยค้างรับของตราสารหนี้โดยเทียบกับมูลค่าตามราคาตลาด โดยมีสูตรการคำนวณ ดังนี้

Gross Price Bond Index

3. Total Return Index – ใช้สำหรับวัดความเคลื่อนไหวของราคาที่รวมดอกเบี้ยค้างรับแล้วยังได้รวมเอาดอกเบี้ยจ่าย (Coupon Interest) ของพันธบัตรที่มีกำหนดชำระดอกเบี้ยตรงกับวันที่คำนวณค่าดัชนีมารวมด้วย เพื่อวัดผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งหมดที่นักลงทุนจะได้รับ ซึ่งมีสูตรการคำนวณ ดังนี้

Total Return Index

ถึงแม้ว่าดัชนีทั้งสองจะเป็นดัชนีพันธบัตรรัฐบาลและมีการคำนวณที่เหมือนกัน แต่มีคุณลักษณะบางประการที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง Government Bond Index กับ MTM Government Bond Index

Government Bond Index กับ MTM Government Bond Index

จากตารางที่ 1 ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของดัชนีพันธบัตรรัฐบาลทั้ง 2 ประเภท จะเห็นได้ว่า Government Bond Index นั้นจะเหมาะสมกับตลาดที่มีสภาพคล่องน้อยและชี้วัดสภาวะตลาดพันธบัตรรัฐบาลในภาพรวม เนื่องจากอ้างอิงราคามาจากอัตราผลตอบแทนที่ซื้อขายเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก หากไม่มีการซื้อขายจะใช้ค่าเฉลี่ยระหว่าง Avg. Bidding Yield และ Avg. Offering Yield และดัชนีไม่คำนึงถึงช่วงปิดพักสมุดทะเบียน ในขณะที่ MTM Government Bond Index เหมาะสมกับตลาดที่มีสภาพคล่องและมีราคาตลาดที่สามารถอ้างอิงได้ ซึ่งช่วยให้การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานสอดคล้องกับการลงทุนจริงของกองทุน เนื่องจากใช้ราคาที่มาจากราคา Mark-To-Market ของ ThaiBMA ที่มาจากการซื้อขายได้จริงที่เป็นราคาสุดท้าย และ Avg. Bidding Yield ในกรณีที่ไม่มีการซื้อขาย โดยคำนึงถึงช่วงปิดพักสมุดทะเบียนอีกด้วย

ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลทั้ง 2 ประเภทนั้นต่างมีวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ที่แตกต่างกัน ดังนั้น นักลงทุนหรือผู้ใช้ข้อมูลควรศึกษาและทำความเข้าใจก่อนที่จะนำไปใช้ทั้งในการวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจลงทุน หรือการชี้วัดผลการดำเนินงานจากการลงทุน โดยหากสภาวะตลาดมีสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น การเลือกใช้ดัชนีที่สะท้อนราคาตลาดได้ดีกว่า ย่อมช่วยให้การเปรียบเทียบมีความสอดคล้อง เหมาะสม และมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ฝ่ายบริการราคาตราสารหนี้และพัฒนาผลิตภัณฑ์
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
6 มีนาคม 2561

All Blogs