• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Feb 01 2017
พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond)

พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) คือ

ตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง เพื่อระดมเงินทุน มาใช้จ่ายในกิจการต่าง ๆ ของรัฐบาล เนื่องจากรัฐบาลมีอำนาจในการเรียกเก็บภาษีจากประชาชน พันธบัตรรัฐบาลถือว่าไม่มีความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้น (Default free) มั่นใจได้ว่าผู้ซื้อตราสารจะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนตามเวลาที่กำหนด จะไม่มีการ “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” เกิดขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น หรือยาว จะกำหนดที่ 1 ปี นั่นคือ พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจะอายุไม่เกิน 1 ปี และพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวจะมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป สำหรับประเทศไทย พันธบัตรรัฐบาลสามารถ แบ่งออกได้ 5 ประเภท ได้แก่

1. ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) เป็นพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น อายุไม่เกิน 1 ปี ซึ่งในปัจจุบันที่มีการออกประมูลเป็นประจำคือ ตั๋วเงินคลังอายุประมาณ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือนและ 1ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารเงินระยะสั้นของรัฐบาล

ตั๋วเงินคลังเป็นตราสารประเภทไม่จ่ายดอกเบี้ยเป็นงวด (Zero coupon bond) โดยดอกเบี้ยจะอยู่ในรูปของส่วนลด เนื่องจากจะออกขายในราคาที่หักส่วนลดจากมูลค่าหน้าตั๋ว เมื่อครบกำหนดอายุจะได้รับการไถ่ถอนตามราคาที่ตราไว้ของมูลค่าหน้าตั๋ว ดังนั้นผลตอบแทนที่ได้รับคือส่วนต่างของราคาที่ตราไว้กับราคาที่ซื้อมานั่นเอง

2. พันธบัตรรัฐบาลแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate Government Bond) เป็นพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยในปัจจุบันอายุยาวสุดที่ออกขายคือ 50 ปี พันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่จ่ายดอกเบี้ยแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate) ปีละ 2 ครั้ง และชำระคืนเงินต้นครั้งเดียว ณ วันไถ่ถอน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ การระดมทุนไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะด้วย

***ปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลมีสัดส่วนมากเป็นอันดับหนึ่งในตลาดตราสารหนี้ ทั้งในด้านมูลค่าคงค้างและปริมาณการซื้อขาย***

3. พันธบัตรออมทรัพย์ (Saving Bond) เป็นพันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมของประชาชนทั่วไป (รวมถึงองค์กรไม่แสวงหากำไรบางประเภท เช่น มูลนิธิ สภากาชาด) มักจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วไว้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด และอาจมีการกำหนดเงื่อนไขข้อจำกัดบางอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนจะอยู่ในมือของประชาชนทั่วไป เช่น จำกัดวงเงินการลงทุนไว้ไม่เกินห้าแสนบาทต่อราย หรือห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือนอกกลุ่มนักลงทุนบุคคลธรรมดาภายใน 1 ปีแรก เป็นต้น

4. พันธบัตรรัฐบาลชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation-linked Bond) เป็นพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวมีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เป็นตราสารหนี้ที่มีการปรับผลตอบแทนตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น ณ วันไถ่ถอน ผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืน และส่วนชดเชยเงินเฟ้อที่อ้างอิงจากดัชนีเงินเฟ้อทั่วไป (Headline inflation) มีการจ่ายดอกเบี้ยทุกๆ 6 เดือน

5. พันธบัตรรัฐบาลอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate Bond) เป็นพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวอีกประเภทหนึ่งที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ออกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลอัตราดอกเบี้ยคงที่

All Blogs