• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Feb. 14, 2022
Blue bond...ตราสารหนี้สีฟ้า..รักษ์ทะเล

เต่าทะเลเสียชีวิตจากขยะถุงพลาสติก ปะการังฟอกขาวจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น หมีขั้วโลกเสี่ยงสูญพันธุ์จากภาวะอดอยาก เป็นข่าวให้ได้ยินบ่อยขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากการกระทำของมนุษย์มากกว่าภัยธรรมชาติ เป็นผลให้หลายฝ่ายร่วมมือกันหาทางป้องกันและฟื้นฟู ตลาดตราสารหนี้เองก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งผ่านเครื่องมือระดมทุนสำหรับทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ

ตราสารหนี้สีเขียวก็มีแล้ว คราวนี้มาถึงตราสารหนี้สีฟ้า หรือ Blue bond บ้าง เป็นตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเล ปัจจุบันการออก Blue Bond จะอยู่ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์เดียวกับ Green Bond (ICMA Green Bond Principle: GBP) โดยกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินในโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ทั้งนี้ องค์กรความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ยังได้ริเริ่มการจัดทำคู่มือการออก Blue bond ที่สอดคล้องกับ GBP เพื่อส่งเสริมการออก Blue bond อีกด้วย

Blue Bond รุ่นแรกของโลกออกโดยประเทศเซเชลส์ (Seychelles) ประเทศหมู่เกาะทางตะวันออกของทวีปแอฟริกาเมื่อตุลาคมปี 2018 มูลค่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำเงินไปฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางทะเลเนื่องจากเป็นทั้งแหล่งอาหาร และแหล่งรายได้หลักของประเทศจากอุตสาหกรรมประมงและแหล่งท่องเที่ยว

จากนั้นในปี 2019 มีผู้ออก Blue bond อีกหลายราย ได้แก่ Nordic Investment Bank ออก Blue bond มูลค่า 2 พันล้านโครน (ประมาณ 7.1 พันล้านบาท) ในเดือนมกราคมปี 2019 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการจราจรทางน้ำด้วยพลังงานสะอาดและขยายเขื่อนกั้นน้ำให้รองรับระดับน้ำทะเลบอลติกที่จะสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี จึงมีการออกรุ่นที่ 2 ในเดือนตุลาคมปี 2020 มูลค่า 1.5 พันล้านโครน (ประมาณ 5.3 พันล้านบาท) เพื่อใช้บำบัดน้ำเสียและฟื้นฟูระบบนิเวศในน้ำที่ถูกทำลายจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์และผลพวงจากภาวะโลกร้อน ธนาคารโลก (World Bank) ก็มีส่วนร่วมในการออก Blue bond ในเดือนเมษายนปี 2019 ด้วยมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำเงินทุนไปสนับสนุนการกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

ผู้ผลิตอาหารทะเลรายแรกที่ออก Blue bond ได้แก่ Mowi บริษัทเอกชนรายใหญ่ในนอร์เวย์ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารทะเล ออก Blue bond ในเดือนมกราคม 2020 มูลค่า 200 ล้านยูโร (ประมาณ 7.5 พันล้านบาท) อีกรายคือ บริษัท Grieg Seafood ในนอร์เวย์เช่นเดียวกัน ออก Blue bond มูลค่า 1,000 ล้านโครน (ประมาณ 3.5 พันล้านบาท) เพื่อใช้ในโครงการที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล

ทางฝั่งเอเชียก็ได้มีการออก Blue bond เช่นกัน โดย Bank of China สาขาปารีสและมาเก๊า เมื่อพฤศจิกายนปี 2020 ถือเป็น Blue bond รุ่นแรกของฝั่งเอเชีย มูลค่าการออกที่ 942 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการโรงบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทะเล และการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลมในทะเล ที่ประเทศจีน สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส

ผู้ออกอีกรายของเอเชียก็เป็นบริษัทจีน คือบริษัท Qingdao Water Group ซึ่งถือเป็นการเสนอขาย Blue bond ในประเทศจีนเป็นครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน 2020 มูลค่า 46.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อระดมทุนไปใช้ขยายระบบการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล

ล่าสุด ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้ออก Blue Bond เมื่อกันยายน 2021 ที่ผ่านมา มูลค่าประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับมหาสมุทรและทะเลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

สำหรับในปี 2022 นี้ ประเทศฟิจิซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ได้ประกาศในที่ประชุม COP26 เมื่อปลายปีที่แล้วว่าจะออก Blue bond มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ภายในปีนี้ เพื่อนำเงินไปใช้ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและแนวประการังที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

แม้ว่า Blue bond จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีการออกไม่มากนัก แต่จากความเสื่อมโทรมของทะเลและมหาสมุทรที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็น่าจะช่วยกระตุ้นให้ทุกฝ่ายหันมาร่วมแรงร่วมใจกันแก้ไขและหาทางฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นเราน่าจะได้เห็นการออกตราสารหนี้รักษ์ทะเลหรือ Blue bond จากผู้ออกมากหน้าหลายตาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากภาคธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเล

All Blogs