Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Mar 21, 2015
เงินทุนต่างชาติไหลกลับสู่ตลาดตราสารหนี้ไทย
หลัง Fed มีแนวโน้มชะลอขึ้นดอกเบี้ย

นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา เงินทุนต่างชาติเริ่มไหลกลับสู่ตลาดตราสารหนี้ไทย โดยนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสุทธิในตราสารหนี้ไทยกว่า 52,000 ล้านบาท หลังมีสัญญาณว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อน ทำให้ยอดถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นจากประมาณ 579,000 ล้านบาท ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน เป็นกว่า 631,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 10% (ข้อมูล วันที่ 22 ก.ย. 58)

ในช่วง 9 เดือนแรก ตลาดตราสารหนี้เผชิญแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติเช่นเดียวกับตลาดหุ้นและตลาดการเงินอื่นๆ โดยมีเงินลงทุนลดลงกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการหมดอายุของตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างชาติเคยถือครองไว้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังมติที่ประชุม FOMC ล่าสุดในวันที่ 16-17 กันยายน ยังคงดอกเบี้ย (Fed Fund Rate) ไว้ที่ 0-0.25% อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยออกมา โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่อยู่ในระดับติดลบ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังชะลอตัว ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ Fed จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ แม้ Fed เคยยืนยันว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยภายในปีนี้ก็ตาม

เงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ในรอบนี้ เริ่มจากการเข้าซื้อในตราสารหนี้ระยะสั้นในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน และตามมาด้วยแรงซื้อที่เกิดขึ้นในตราสารหนี้ระยะยาวในสัปดาห์ที่ 2-3 ทำให้ล่าสุดยอดถือครอง (Holding) ตราสารหนี้ระยะยาวของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่กว่า 585,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 93% ของยอดถือครองทั้งหมด

ด้านการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้หนาแน่นมากขึ้น ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันละเกือบ 10,000 ล้านบาท จากเดิม (ม.ค.-ก.ย.) อยู่ที่วันละประมาณ 5,600 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าตลาดตราสารหนี้ไทยยังเป็นช่องทางที่น่าลงทุนในมุมมองของต่างชาติในภาวะที่ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน

สำหรับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ระยะสั้นเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ ในขณะที่ระยะยาวค่อนข้างผันผวนจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งการคาดการณ์ปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed รวมถึงความกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เช่น ยุโรปและจีน แรงซื้อที่มีเข้ามาในเดือนตุลาคมทำให้ Bond Yield ระยะยาวปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ ล่าสุด Bond Yield อายุ 10 ปี ลดลงอยู่ที่ 2.62% จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดในช่วงเดือนกันยายนที่ 3.06% จึงยังคงเป็นโอกาสสำหรับการระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความผันผวนยังมีอยู่ เนื่องจากในปีนี้เหลือการประชุม FOMC อีกสองครั้ง คือในวันที่ 27-28 ตุลาคม และ 15-16 ธันวาคม หาก Fed ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ Bond Yield ระยะยาวอาจกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

นอกจากนี้ หาก Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้กระแสเงินลงทุนจากตลาดการเงินทั่วโลกไหลกลับเข้าไปในสหรัฐ โดยเฉพาะเงินทุนจำนวนมหาศาลที่เคยไหลเข้ามาสู่ตลาดเกิดใหม่ในช่วงที่ Fed ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ QE (Quantitative Easing) แต่สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยที่มีสัดส่วนการถือครองของนักลงทุนต่างชาติอยู่เพียงไม่ถึง 10% ประกอบกับอุปสงค์ส่วนเกินภายในประเทศที่ยังมีอีกกว่า 500,000 ล้านบาท จึงไม่น่าเป็นกังวลนัก อีกทั้งแม้ Fed จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ตามที่ได้ประกาศไว้ แต่เชื่อว่าจะเป็นการทยอยปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป

Non-resident Flow 2015

เขียนโดย เต็มเดือน พัฒจันจุน ฝ่ายวิจัยและพัฒนา

All Blogs