Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    August 22, 2017
Cross Default ในตราสารหนี้

Cross Default เป็นชื่อเรียกข้อสัญญาประเภทหนึ่ง โดยแปลจากภาษาอังกฤษตรงตัวคือ cross แปลว่า ข้ามหรือไขว้ ส่วน default แปลว่าผิดสัญญา cross default จึงหมายถึงการผิดสัญญาข้ามกันหรือไขว้กันดังนั้นถ้าบอกว่าสัญญาไหนมีข้อสัญญา Cross Default แสดงว่าสัญญานั้นมีข้อสัญญาที่กำหนดว่าถ้าลูกหนี้ไปทำผิดสัญญาอื่นก็จะถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญานั้นด้วย

ตัวอย่างเช่น วันที่ 1 มกราคม 2560 บริษัท A ทำสัญญากู้ยืมเงินจากบริษัท Bระยะเวลา 1 ปี เป็นเงินจำนวน 80 ล้านบาท ถึงกำหนดชำระคืนในวันที่ 1 มกราคม 2561 ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 บริษัท Aได้กู้ยืมเงินจาก ธนาคาร ระยะเวลา 3 ปี เป็นเงินจำนวน 100 ล้านบาท ถึงกำหนดชำระวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 โดยในสัญญากู้กับธนาคาร C ถ้าบริษัท A ผิดนัดไม่ชำระหนี้อื่นใด เกินกว่า 50 ล้านบาท ให้ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้กับ ธนาคาร C ด้วย ถ้าปรากฏว่าในวันที่ 1 มกราคม 2561 บริษัท A ผิดนัดไม่ชำระหนี้บริษัทB เป็นเงินจำนวน 80ล้านบาท ซึ่งเกินกว่า 50 ล้านบาท แม้การสัญญากู้เงินบริษัท B กับสัญญากู้เงินธนาคาร C จะเป็นคนละสัญญากันก็ตาม แต่การที่บริษัทA ทำผิดสัญญากู้เงินโดยไม่ชำระหนี้ตามสัญญาให้แก่บริษัท B (default) มีผลข้ามมาทำให้ถือว่าผิดนัดสัญญากู้ธนาคาร C (cross) ด้วยเช่นนี้ เรียกว่าเกิดการcross default และข้อสัญญาที่ระบุว่า ถ้าบริษัท A ผิดนัดไม่ชำระหนี้อื่นใด ให้ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญากู้กับธนาคาร C ด้วย เรียกว่า ข้อสัญญา Cross Default หรือ Cross Default Clause นั่นเองทั้งนี้ ในการใช้งานจริงข้อสัญญา cross default อาจเขียนเชื่อมโยงสัญญาต่างสัญญาที่มีเจ้าหนี้และลูกหนี้เป็นคนเดียวกันหรืออาจเชื่อมโยงสัญญาที่เจ้าหนี้ลูกหนี้ต่างกันก็ได้ และจะเชื่อมโยงกี่สัญญาเข้าด้วยกันก็ได้

ในการระดุมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ ซึ่งมีข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกและผู้ถือหุ้นกู้ (“ข้อกำหนดสิทธิ”) ที่เป็นสัญญาระหว่างผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้จะมีข้อสัญญาที่ว่าด้วยการผิดนัดและผลของการผิดนัด ซึ่งส่วนใหญ่จะกำหนดให้ข้อสัญญาCross Default ดังกล่าว เป็นเหตุผิดนัด (event of default) เช่น “ผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่ามูลหนี้ใดๆ เป็นจำนวนเงินรวมกันเกินกว่า Xบาทถือเป็นการผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ” ทั้งนี้หากผู้ออกหุ้นกู้ผิดข้อสัญญาดังกล่าวจะส่งผลให้หุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนกลายเป็นหุ้นกู้ผิดนัดชำระด้วย และผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ หรือไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้งหมดได้โดยพลัน (Acceleration) โดยไม่ต้องรอให้หุ้นกู้ถึงวันครบกำหนด

ข้อสัญญา Cross Default ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้สิทธิผู้ถือหุ้นกู้ (เจ้าหนี้) ในหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่เสียเปรียบเจ้าหนี้รายอื่น ๆ กล่าวคือ ถ้าผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้อื่น และถูกเจ้าหนี้รายอื่นใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ตามหุ้นกู้นี้ในอนาคตหากไม่มีข้อสัญญาCross Default ผู้ถือหุ้นกู้ต้องรอให้หุ้นกู้ถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนจึงจะสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ เมื่อถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้นกู้ก็มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระหนี้ เนื่องจากผู้ออกหุ้นกู้อาจไม่มีทรัพย์สินเพียงพอในการชำระหนี้ตามหุ้นกู้เพราะได้นำไปชำระเจ้าหนี้รายอื่นก่อนแล้ว ดังนั้นการที่มีข้อสัญญา Cross Defaultจะทำให้ผู้ถือหุ้นกู้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือผู้ออกหุ้นกู้ยังไม่ผิดนัดชำระดอกเบี้ยในหุ้นกู้นี้มีสิทธิเท่าเทียมกับเจ้าหนี้ที่ผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้อื่นโดยเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้อื่น ก็จะถือว่าผู้ออกหุ้นกู้ตกเป็นผู้ผิดสัญญาและผิดนัดชำระหนี้ในหุ้นกู้นี้ด้วย ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ถือหุ้นกู้เป็นเจ้าหนี้ที่สามารถใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ ชำระหนี้ตามหุ้นกู้ก่อนหุ้นกู้ถึงวันครบกำหนดได้

ทั้งนี้ในการระดมทุนด้วยตั๋วเงิน ไม่ว่าจะเป็นตั๋วแลกเงิน (B/E) หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N)ซึ่งลักษณะตามกฎหมายจะไม่มีข้อกำหนดสิทธิจึงไม่มีข้อสัญญา Cross default ดังกล่าวดังนั้นเมื่อผู้ออกตั๋วเงินผิดนัดในหนี้อื่น ๆ จะไม่มีผลทำให้ ผู้ออกตั๋วเงินต้องตกเป็นผู้ผิดนัดตั๋วเงินที่ยังไม่ถึงกำหนดผู้ถือตั๋วเงินจึงไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้ออกตั๋วเงินชำระคืนเงินต้นก่อนวันครบกำหนดได้

All Blogs