Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Feb. 12, 2020
เมื่อจีนเป็นหวัด ทั่วโลกเลยต้องรับยา…ทางการเงิน

นับเป็นเวลา 1 เดือนกว่าแล้วที่การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในมนุษย์เริ่มต้นขึ้น

การระบาดของไวรัสโคโรน่าครั้งนี้ดูเหมือนจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าอาจจะรุนแรงกว่าตอนการแพร่ระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2003 ซึ่งตอนนั้นเศรษฐกิจของจีนมีขนาดอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก แต่ตอนนี้ขยับขึ้นมาเป็นอับดับ 2 ของโลก เศรษฐกิจจีนจึงมีบทบาทสำคัญต่ออุปสงค์อุปทานของเศรษฐกิจโลก ที่เห็นชัดๆ ก็คือ ภาคการท่องเที่ยว เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนคือชนชาติหลักที่เดินทางไปท่องเที่ยวทั่วโลก การขาดหายไปของนักท่องเที่ยวจีนย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับการบริโภคสินค้าแบรนด์เนมที่ชนชาติจีนมีสัดส่วนการบริโภคสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมต่อภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อีก เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคการส่งออก เพราะจำเป็นต้องปิดฐานการผลิตชั่วคราวในจีน กระทบห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมไปทั่วโลก ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวท่ามกลางความเปราะบางจากปัจจัยสงครามการค้าเป็นทุนเดิม

ทำให้นักลงทุนต่างพากันกระโจนเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลจนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ในหลายประเทศปรับลดลงอย่างมาก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นทิศทางขาลงชัดเจนอีกครั้ง

บอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ปรับลดลงมากนับตั้งแต่ต้นปี 2020 โดยเฉพาะรุ่นอายุ 10 ปีที่ลดลง 29 bps มาอยู่ที่ 1.59% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และทำให้ส่วนต่างของบอนด์ยีลระหว่างอายุ 3 เดือนกับ 10 ปี ลดเหลือ 2 bps ณ วันที่ 11 ก.พ. เทียบกับค่าตอนต้นปีที่ 34 bps ขณะที่บอนด์ยีลของอังกฤษอายุ 10 ปีในช่วงเวลาเดียวกันก็ลดลง 24 bps แม้แต่เพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างมาเลเซียที่บอนด์ยีลอายุ 10 ปีก็ปรับลง 34 bps จนมาอยู่ต่ำกว่า 3.0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย

ด้านบอนด์ยีลด์ของไทยปรับลดลงทุกช่วงอายุตั้งแต่ต้นปี และทำสถิติแตะระดับต่ำใหม่เป็นประวัติการณ์ในหลายช่วงอายุ เช่นรุ่นอายุ 2-5 ปี ขณะที่ 10 ปีก็ทำระดับต่ำใหม่เช่นกัน โดยปรับลง 23 bps มายืนที่ 1.23% ณ วันที่ 7 ก.พ. 2020

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เริ่มจากของไทยที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพิ่งปรับลดอีก 0.25% มาอยู่ที่ 1.00% ด้วยมติเป็นเอกฉันท์สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย และในวันต่อมาธนาคารกลางฟิลิปปินส์ก็ปรับลดดอกเบี้ยตามเช่นกัน มาอยู่ที่ 3.75% ขณะที่ในระยะถัดไปธนาคารกลางอื่นๆ ของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงเกาหลีใต้ ก็มีแนวโน้มที่จะเดินหน้าปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ส่วนประเทศอื่นๆ แม้ยังไม่ชัดเจนว่าจะเดินหน้าปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างไร แต่คาดว่าย่อมเป็นไปในทิศทางขาลงหรือผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงมาตรการเพิ่มสภาพคล่องในระบบ

ก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าจะยุติเมื่อไร และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องขนาดไหน คงต้องรอการประเมิน รวมถึงเฝ้าระวังอาการของเศรษฐกิจไทยด้วย ก็หวังว่าวัคซีนทางการเงินที่กนง. ฉีดให้เศรษฐกิจไทยจะช่วยสร้างภูมิต้านทานหรือช่วยพยุงสถานการณ์ได้ ไม่อย่างนั้นบอนด์ยีลด์ไทยก็มีโอกาสที่จะลดลงทำสถิติใหม่ต่ออีก...ก็หวังว่าอย่าเป็นอย่างนั้นเลย

All Blogs