Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jul. 01, 2019
ครบรอบ 22 ปี วิกฤติต้มยำกุ้ง กับการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ไทย

22 ปีแล้วนับจากวันที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อ 2 ก.ค. 2540 ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ซึ่งทำให้ประเทศไทยและต้มยำกุ้งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สาเหตุหนึ่งของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้นมาจากการกู้เงินต่างประเทศจำนวนมากโดยไม่มีการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินในขณะที่ทางการอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีผ่านกิจการวิเทศธนกิจภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่

แล้วทำไมจึงมีการกู้เงินจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล?...ส่วนหนึ่งก็เพราะดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้ในประเทศ และช่องทางการระดมทุนของเศรษฐกิจไทยยังมีจำกัด ภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะระดมทุนผ่านการกู้จากธนาคารและสถาบันการเงิน สัดส่วนของเงินกู้ธนาคารทั้งหมดเทียบกับ GDP สูงถึง 128% ในขณะที่การระดมทุนผ่านตลาดหุ้นมีสัดส่วน 24% ต่อ GDP และผ่านตลาดตราสารหนี้มีเพียง 12% ต่อ GDP เปรียบเสมือนขาเก้าอี้ที่ความยาวต่างกันมาก ขาดความสมดุลจึงพร้อมที่จะล้มได้เสมอ หลังจากเกิดวิกฤต ภาครัฐจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาตลาดตราสารหนี้เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ นอกเหนือจากการพึ่งพาเงินกู้จากธนาคาร

นับจากวิกฤตในวันนั้น ตลาดตราสารหนี้ไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่า 25 เท่า ใกล้เคียงกับ market cap ของตลาดหุ้นและเป็นรองสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพียงเล็กน้อย 3 เสาหลักที่เป็นช่องทางการระดมเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความสมดุลกันมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจึงมีความแข็งแกร่ง และกลายเป็นหนึ่ง ใน Safe haven ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติในปัจจุบัน

All Blogs