Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Apr. 07, 2018
สูงหรือต่ำมีความหมายมากกว่าที่คาด

อันดับเครดิต(Credit rating) มีการจัดเป็นระดับต่างๆ เรียงจากสูงมาต่ำคือ ตั้งแต่AAA,AA, A, BBB, BB,B, C จนถึง D ซึ่งจะสะท้อนถึงโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ แน่นอนว่าอันดับเครดิตสูง โอกาสการผิดนัดชำระหนี้ย่อมต่ำ เช่น เราสามารถบอกได้ว่า หุ้นกู้ที่มีเรทติ้ง A มีโอกาสผิดนัดชำระน้อยกว่าหุ้นกู้ที่มีเรทติ้ง BBB และ หุ้นกู้ที่ได้เรทติ้ง B ก็มีโอกาสผิดนัดชำระสูงกว่าหุ้นกู้ที่ได้เรทติ้ง BBB แต่นักลงทุนอาจมีคำถามในใจว่า ที่ว่ามีโอกาสผิดนัดสูงคือสูงขนาดไหน แล้วที่ว่าต่ำคือต่ำแค่ไหน สามารถแปลงเป็นตัวเลขหรือเปอร์เซ็นต์ ได้หรือไม่

เอสแอนด์พี (S&P’s) หรือ Standard & Poor’s Financial Services ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับเครดิตระดับโลก ได้ทำการสำรวจการผิดนัดชำระของหุ้นกู้ทั่วโลกในแต่ละปี และจัดทำเป็นตารางแสดงอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ในแต่ละเรทติ้ง (Corporate default rate by rating) ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่าจากสถิติทั่วโลก โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้แต่ละเรทติ้งเท่ากับกี่เปอร์เซนต์ เช่น จากตารางข้างล่างพบว่า ในปี 2015 การผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ในระดับ AA และ A เท่ากับ 0% ส่วนหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิต BB มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เท่ากับ 0.16% เพื่อให้ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น เราลองนำมาเปรียบเทียบกับโอกาสการถูกลอตเตอรี่ของประเทศไทยจะพบว่าหุ้นกู้อันดับเครดิต BBมีโอกาสการผิดนัดชำระพอๆ กับโอกาสการถูกรางวัลเลขท้าย 3 ตัวนั่นเอง

ส่วนหุ้นกู้ของไทยล่ะ มีโอกาสการผิดนัดชำระเท่ากันไหม? จากข้อมูล Transition Probability Matrix ซึ่งจะมีการปรับปรุงข้อมูลทุกปี บนเว็บไซด์ของ ThaiBMA พบว่าในทางสถิติ อันดับเครดิต A มีโอกาสผิดนัดชำระ 0.17% ซึ่งค่อนข้างต่ำพอๆ กับโอกาสที่เราจะถูกลอตเตอรี่รางวัลเลขท้าย 3 ตัว ในขณะที่อันดับเครดิต BBมีโอกาสการผิดนัดชำระสูงขึ้นเป็น2.64%ใกล้เคียงกับโอกาสที่เราซื้อลอตเตอรี่ 2 ใบแล้วถูกรางวัลเลขท้าย 2 ตัว 1 ใบ

ถึงตรงนี้ พวกเราคงเห็นความสำคัญของอันดับเครดิตมากขึ้นแล้ว ว่าสามารถบอกอะไรได้มากทีเดียว ลงทุนตราสารหนี้คราวหน้าคราวหลัง นอกจากอัตราผลตอบแทนแล้วอย่าลืมดูอันดับเครดิตด้วยนะครับ

All Blogs