หุ้นกู้ Securitization ทางเลือกเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการลงทุน
  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Sep 1, 2018
หุ้นกู้ Securitization ทางเลือกเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการลงทุน

ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการออกหุ้นกู้ประเภทใหม่ๆที่มีความหลากหลายมากขึ้น หุ้นกู้ Securitization ก็เป็นหุ้นกู้อีกประเภทที่นักลงทุนควรรู้จักเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการลงทุน

Securitization คืออะไร คือการแปลงสินทรัพย์ที่เปลี่ยนมือได้ยากของผู้ต้องการระดมทุน ให้อยู่ในรูปของหลักทรัพย์เพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่นักลงทุน หุ้นกู้ที่เกิดจากกระบวนการนี้จึงเรียกอีกอย่างว่า Securitized bond ซึ่งสินทรัพย์ของผู้ออกที่สามารถนำมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ได้นั้น มีตั้งแต่สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต สิทธิในการได้รับรายได้ค่าเช่า หรือสินทรัพย์อื่นๆที่ทำให้เกิด Cash flow หรือกระแสเงินสดรับที่แน่นอน การประเมินความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ก็จะดูจากคุณภาพของกองสินทรัพย์ที่นำมาหนุนหลังการออกหุ้นกู้นั้น

ทำไมหุ้นกู้ Securitization จึงเป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุน ก็เพราะนอกเหนือจากสินทรัพย์ที่หนุนหลังจะก่อให้เกิดกระแสเงินสดรับที่แน่นอนแล้ว การเอาลูกหนี้หลายๆรายมารวมกันเป็นกองสินทรัพย์ยังเป็นการกระจายความเสี่ยงได้ในตัว ที่สำคัญในแง่กฎหมายจะมีการแยกความเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นออกจากเจ้าของเดิม (โดยผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจหรือ SPV) ทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่าจะได้รับกระแสเงินสดต่อเนื่องจากกองสินทรัพย์โดยไม่ต้องรับความเสี่ยงจากการดำเนินงานของเจ้าของสินทรัพย์เดิม ถึงแม้เจ้าของเดิมจะล้มละลายไปก็ไม่มีผลต่อนักลงทุนในหุ้นกู้ที่ยังคงได้รับกระแสเงินสดจากกองสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกองสินทรัพย์ที่นำมาหนุนหลังมักจะมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าของหุ้นกู้ที่ออก ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าหุ้นกู้ Securitization จะได้รับอันดับความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง และบางครั้งอาจสูงกว่าอันดับความน่าเชื่อถือของเจ้าของสินทรัพย์เดิมเสียอีก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของกองทรัพย์สินนั้น

ใครออกหุ้นกู้ Securitization บ้าง ในอดีต บ.ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ เป็น Originator ที่นำรายได้ค่าเช่าพื้นที่จากกรมธนารักษ์ในอนาคตมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ ทำให้เกิดการออกหุ้นกู้ Securitized อันดับเครดิต AAA มูลค่ารวมสูงถึง 24,000 ล้านบาท ใช้ในการก่อสร้างศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นอกจากนั้น บริษัทเอกชน เช่น บมจ. อิออนฯก็เคยออกหุ้นกู้ Securitization โดยใช้รายได้จากพอร์ทลูกหนี้บัตรเครดิตและลูกหนี้เช่าซื้อเป็นสินทรัพย์หนุนหลัง

ตัวอย่างหุ้นกู้ Securitization ที่ผ่านมา

ตัวอย่างหุ้นกู้ Securitization

สำหรับในปัจจุบัน บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) เป็นผู้มีบทบาทหลักในการทำ Securitization โดย บตท. จะซื้อพอร์ทสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์ และโอนไปยัง SPV หรือนิติบุคคลเฉพาะกิจที่ บตท. จัดตั้งขึ้นเพื่อแยกความเสี่ยงของกองสินทรัพย์นั้นออกจากความเสี่ยงของ บตท. และของเจ้าหนี้เดิม SPV จะเป็นผู้ออกหุ้นกู้ที่หนุนหลังโดยกระแสรายรับจากกองสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น หุ้นกู้บางรุ่นยังได้รับการค้ำประกันโดย บตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่ปัจจุบันได้รับการจัดอันดับเครดิต AA-

สรุป แม้ว่าขั้นตอนการออกและโครงสร้างทางกฎหมายของหุ้นกู้ Securitization จะค่อนข้างซับซ้อน แต่ตราสารหนี้ภายใต้กระบวนการดังกล่าวถือว่ามีความน่าเชื่อถือสูง และให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ แต่ข้อจำกัดสำหรับนักลงทุนทั่วไปก็คือ หุ้นกู้ประเภทนี้ยังมีมูลค่าการออกค่อนข้างน้อยและมักจะขายเฉพาะนักลงทุนสถาบันและรายใหญ่ (II/HNW) เนื่องด้วยรูปแบบของหุ้นกู้อาจเข้าใจได้ยากสำหรับนักลงทุนทั่วไป

หุ้นกู้ Securitization

All Blogs