Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Mar. 12, 2019
ถอดบทเรียนจากญี่ปุ่นแล้วย้อนมองไทยการออมเพื่อเตรียมเกษียณ (ตอนที่ 1)

คำกล่าวที่ว่า การเป็นคนอายุยืนถือว่าเป็นคนมีบุญ อาจไม่เพียงพอเสียแล้ว โดยเฉพาะหากต้องอาศัยอยู่ในประเทศที่มีค่าครองชีพสูง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นเพราะค่าครองชีพที่สูงประกอบกับพฤติกรรมการออมและการลงทุนสไตล์ญี่ปุ่นทำให้ได้รับผลตอบแทนไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย

โดยทั่วไปคนญี่ปุ่นไม่นิยมลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเกือบ 60% ของสินทรัพย์ทั้งหมดอยู่ในรูปเงินสดและเงินฝากซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำมากทำให้เงินออมเติบโตไม่เพียงพอกับที่ต้องการใช้ รัฐบาลจึงต้องจัดงบประมาณอุดหนุนเงินให้แก่ผู้สูงอายุซึ่งงบประมาณที่ใช้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปีเนื่องจากโครงสร้างประชากรญี่ปุ่นที่เป็นพีระมิดกลับหัวอัตราการเกิดที่ต่ำลงทำให้กลุ่มคนวัยทำงานที่นำส่งภาษีมีจำนวนน้อยลงสวนทางกับกลุ่มคนวัยเกษียณที่มีมากขึ้น ซึ่งในอนาคตผู้สูงอายุก็อาจได้รับเงินอุดหนุนในจำนวนที่ลดลงด้วย เพราะเหตุนี้จึงเป็นที่มาของโครงการ NISA หรือNippon Individual Savings Account เมื่อต้นปี 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนออมเงินผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว

โครงการ NISAจะยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากกำไรและเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดย ผู้มีสิทธิ์จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปวงเงินลงทุนต่อปีไม่เกิน 1.2 ล้านเยนและสูงสุดตลอดทั้งโครงการไม่เกิน 6 ล้านเยน (คิดเป็นเงินไทยราวๆ 1.7 ล้านบาท) โดยระยะเวลาที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี อยู่ที่ 5 ปีปฎิทินนับตั้งแต่เริ่มลงทุน ขณะที่สินทรัพย์ลงทุนตามเงื่อนไขของโครงการคือ หุ้น กองทุนรวมหุ้น ETFs และREITs เป็นต้น

ตัวอย่างเช่นลงทุนผ่านโครงการ NISA ในปี 2561 ด้วยเงินลงทุน 1.2 ล้านเยน ผลตอบแทนต่างๆ ที่ได้รับจากการลงทุนภายในเวลา 5 ปีนับจากวันลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษี ภายหลังจาก 5 ปี หากยังถือการลงทุนอยู่ ผลตอบแทนที่ได้รับจะถูกหักภาษีในอัตราปกติที่ 20%อย่างไรก็ตาม หากลงทุน 1.2 ล้านเยนและขายทำกำไรภายในปีนั้นแล้วนำเงินมาลงทุนใหม่ภายในปีเดียวกัน ผลตอบแทนที่ได้รับจากเงินลงทุนก้อนใหม่นี้จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเพราะเกินจำนวนเงินลงทุนสูงสุดต่อปีแล้ว

อย่างไรก็ตามโครงการ NISA มีข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ระยะเวลาการลงทุนค่อนข้างสั้นจำนวนเงินลงทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าครองชีพของประเทศอีกทั้งเงื่อนไขการได้รับยกเว้นภาษียังไม่ค่อยยืดหยุ่นทำให้โครงการไม่เป็นที่นิยมนักและยังไม่จูงใจให้เกิดการลงทุนเพื่อเป้าหมายการออมระยะยาวจึงเป็นที่มาของการพัฒนาต่อยอดโครงการ และก่อให้เกิดอีก 2 โครงการ ซึ่งก็คือ Junior NISA ในปี 2559และ Installment-type NISA เมื่อต้นปี 2561

Junior NISA มีวัตถุประสงค์ในการขยายกลุ่มเป้าหมายการออมไปยังกลุ่มผู้เยาว์เพื่อปลูกฝังนิสัยการออมและแนวคิดการลงทุนแต่เนื่องจากผู้เยาว์ยังไม่มีรายได้เป็นของตนเอง จึงต้องอาศัยเงินลงทุนและการบริหารการลงทุนโดยผู้ปกครอง ซึ่งนอกจากผู้เยาว์จะได้มีเงินเก็บออมแล้ว ผู้ปกครองไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา ปู่ย่าตายาย ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนด้วยดังนั้น กลุ่มเป้าหมายสำหรับโครงการ Junior NISA คือบุคคลธรรมดาที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีด้านเงินลงทุนจำกัดไว้ที่ไม่เกิน 800,000 เยนต่อปีและสูงสุดตลอดทั้งโครงการไม่เกิน 4 ล้านเยน โดยกำหนดระยะเวลาลงทุนที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี 5 ปีเช่นเดียวกับ NISA

ส่วนโครงการ Installment-type NISA ออกมาตอบโจทย์การออมระยะยาว กลุ่มเป้าหมายคือบุคคลธรรมดาที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป และขยายช่วงเวลาการลงทุนและการได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีให้ยาวถึง 20 ปี จากเดิมเพียง 5 ปี รวมถึงเพิ่มเงินลงทุนเป็นไม่เกิน 8 ล้านเยนตลอดทั้งโครงการ

ประเทศญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์*มากว่าสองทศวรรษแล้ว และรัฐบาลกำลังเผชิญกับภาระงบประมาณที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องหาทางแก้ไข โดยโครงการ NISA ทั้ง 3 โครงการ สะท้อนความตระหนักและการตื่นตัวของรัฐบาลญี่ปุ่นในการพยายามแก้ไขปัญหาความไม่เพียงพอของงบประมาณที่ใช้อุดหนุนผู้สูงอายุในระยะยาวขณะที่หากมองย้อนมาที่บ้านเราประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 ในขณะที่รายได้ต่อหัวอยู่ที่ระดับปานกลางและยังมีปัญหาการออมที่น่าเป็นห่วง ดังนั้น บทเรียนจากญี่ปุ่นจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบใดติดตามกันต่อได้ในตอนหน้าครับ

* สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์คือ ร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ60ปีขึ้นไป

All Blogs