Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jan. 25, 2019
Sustainability bond หุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม

เดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) มูลค่ารวม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เสนอขายแก่นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถือเป็นธนาคารแรกของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ออกหุ้นกู้ประเภทนี้ หลายท่านอาจจะยังไม่รู้จัก Sustainability Bond มากนักว่าคือตราสารหนี้รูปแบบใดและมีลักษณะอย่างไร วันนี้เราจะมาแนะนำกันค่ะ

Sustainability Bond คือตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อไปใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยหลักเกณฑ์การออกและลักษณะของโครงการต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่จัดทำโดย International Capital Market Association (ICMA) เรียกว่า Sustainability Bond Guidelines ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่เกิดจากการรวมกันของหลักเกณฑ์การออก Green Bond หรือตราสารหนี้สีเขียว กับ Social Bond หรือพันธบัตรเพื่อสังคม ซึ่งขั้นตอนการออกประกอบด้วย 4 ข้อเช่นเดียวกัน ได้แก่ Use of Proceeds, Project Evaluation and selection, Management of Proceeds และ Reporting (รายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ “ตราสารหนี้สีเขียวกับการเติบโตอย่างยั่งยืน” และ “Social Bond พันธบัตรเพื่อสังคมที่เป็นสุข”)

Sustainability Bond รุ่นแรกออกเมื่อกรกฎาคมปี 2014 โดยธนาคาร Lloyds ในสหราชอาณาจักร มูลค่า 250 ล้านปอนด์ อายุ 4 ปี กำหนดจ่ายคูปองปีละ 2 ครั้งแบบคงที่เท่ากับ 2.75% โดยธนาคารนำเงินที่ระดมได้ไปปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจ SME ธุรกิจเกษตรกรรมและธุรกิจให้บริการสาธารณสุขซึ่งล้วนมีความเชื่อมโยงกับผู้คนในท้องถิ่นและที่สำคัญตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้นำเงินทุนไปพัฒนาโครงการเกี่ยวกับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น สถานบริการสุขภาพ การผลิตพลังงานทดแทน ภายหลังจากนั้น Sustainability Bond ก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากกระแสการลงทุนที่เน้นการใส่ใจสิ่งแวดล้อมพร้อมๆ ไปกับการดูแลสังคม ณ สิ้นปี 2017 มูลค่าคงค้างเพิ่มขึ้นมาที่ 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใน 6 เดือนแรกของปี 2018 ก็มียอดการออก Sustainability Bond แล้วกว่า 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นถึง 80% ของยอดการออกในปี 2017 ทั้งหมด

สำหรับผู้ออก Sustainability Bond ที่ผ่านมา มีค่อนข้างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลท้องถิ่น ธนาคารเพื่อการพัฒนา สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการในภาคเอกชน โดยผู้นำในการออกคือ State of North Rhine-Westphalia รัฐทางตะวันตกของประเทศเยอรมนีซึ่งออกมาแล้ว 4 รุ่นตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมาและมีมูลค่าการออกรวมกันมากกว่า 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรัฐ North Rhine-Westphalia นำเงินทุนไปดำเนินนโยบายสร้างความยั่งยืนแก่ท้องถิ่นผ่านการให้การศึกษาแก่เด็ก การสร้างความเท่าเทียมในสังคม การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน รวมถึงการป้องกันมลพิษทางอากาศและการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากหน่วยงานของรัฐแล้ว ภาคเอกชนที่เป็นผู้นำในการออก Sustainability Bondคือ Starbucks Corporation ถือเป็นเอกชนรายแรกของสหรัฐอเมริกาที่ออก Sustainability Bond ในปี 2016 โดย Starbucks นำเงินไปพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของการผลิตกาแฟด้วยการให้ความรู้ด้านการเพาะปลูก การรณรงค์หยุดทำลายป่าไม้ การป้องกันการกดขี่แรงงาน และการกำหนดราคารับซื้อกาแฟที่เป็นธรรมแก่ชาวไร่กาแฟในประเทศต่างๆ เช่น รวันดา แทนซาเนีย โคลอมเบีย จีน และ คอสตาริก้า ซึ่งในท้ายที่สุด เกษตรกรก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นพร้อมๆ ไปกับทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

ส่วนในเอเชีย Sustainability Bond รุ่นแรกออกโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น (Development Bank of Japan: DBJ) เมื่อตุลาคมปี 2014 และในปัจจุบัน DBJ ก็ยังเป็นผู้ออกตราสารหนี้ประเภทนี้มากที่สุดในเอเชียด้วยมูลค่าการออกกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยธนาคารเพื่อการก่อสร้างแห่งประเทศจีน (China Construction Bank: CCB) สาขาฮ่องกง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และบริษัท Korea East-West Power 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในด้านของนักลงทุน Sustainability Bond ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งรวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อพันธมิตรการลงทุนอย่างยั่งยืนระดับสากล (The Global Sustainable Investment Alliance: GSIA) โดยมากกว่าร้อยละ 50 อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรป

จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม สาธารณูปโภคหรือบริการขั้นพื้นฐานที่ไม่เพียงพอกับประชาชนในหลายๆ พื้นที่ของโลก ประกอบกับการที่นักลงทุนเริ่มหันมาใส่ใจและอยากเข้ามาร่วมรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมดังกล่าวมาข้างต้น ย่อมเป็นแรงหนุนให้ Sustainability Bond ได้รับความนิยมจากนักลงทุนและถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการระดมทุนของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาซ่อมแซมทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลงและพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นในอนาคต

All Blogs