Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Dec 09 2016
พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ....เงินต้นไม่หาย แถมงอกเงยไม่น้อยหน้าเงินเฟ้อ

ของสมัยนี้แพงจังถ้าลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนตามเงินเฟ้อก็ดีสิ

ถ้าเรานึกถึงราคาก๋วยเตี๋ยวที่เคยซื้อกินเมื่อตอนเด็กกับตอนนี้จะรู้สึกว่า ก๋วยเตี๋ยวราคาแพงขึ้นมาก แต่ก่อนกินบะหมี่ชามละ 20 บาทก็อิ่ม เดียวนี้ 40 บาทยังอยากสั่งเพิ่ม ทั้งนี้เพราะ ราคาของต่างๆแพงขึ้นหรืออีกนัยหนึ่งคือเงินมีค่าน้อยลงนั่นเอง เราเรียกการที่เงินมีค่าน้อยลงนี้ว่า”ภาวะเงินเฟ้อ”

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสามารถทำได้หลายวิธีเช่น ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (ทองคำ เงิน น้ำมัน ฯลฯ) ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (บ้านเช่า คอนโด ที่ดินเปล่า ฯลฯ) แต่วิธีเหล่านี้มีความเสี่ยงด้านอื่นๆ อีกมากและผลตอบแทนไม่ได้มีความสัมพันธ์กับอัตราเงินเฟ้อโดยตรง

หากต้องการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่สัมพันธ์กับอัตราเงินเฟ้อโดยตรง ขอแนะนำลงทุนใน “พันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ” หรือเรียกสั้นๆ ว่า“ILB” (Inflation Linked Bond)

อัตราดอกเบี้ยจ่าย (Coupon) ของ ILB จะประกอบด้วย 2 ส่วนคือ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real yield)ซึ่งจะถูกกำหนดไว้คงที่แน่นอนค่าหนึ่งสำหรับ ILB แต่ละรุ่น และดอกเบี้ยจ่ายอีกส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อในช่วงนั้น ซึ่งจะอ้างอิงกับดัชนีเงินเฟ้อทั่วไป (Headline inflation)นอกจากอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่จะผันแปรตามเงินเฟ้อแล้ว เงินต้นยังได้รับการปกป้องจากเงินเฟ้อให้มีอำนาจซื้อเท่าเดิมอีกด้วย โดยจะปรับเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อที่สูงขึ้น หรือคิดง่ายๆอย่างนี้ว่าILB เป็นพันธบัตรที่เงินต้นจะโตขึ้นตามเงินเฟ้อ ส่วนดอกเบี้ยจ่ายก็ปรับเพิ่มหรือลดตามอัตราเงินเฟ้อ และจ่ายเป็นร้อยละของเงินต้นที่โตขึ้นเรื่อยๆดังนั้นเมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real coupon) คืออัตราดอกเบี้ยที่นักลงทุนจะได้รับจริงๆ หลังจากหักเงินเฟ้อออกแล้ว ไม่ว่าเงินเฟ้อจะสูงหรือต่ำแค่ไหน นักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยจ่ายจริงคงที่ตามที่กำหนดไว้เสมอ ซึ่งจะต่างจากพันธบัตรทั่วไปที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงินไว้ (Coupon)ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่นักลงทุนจะได้รับจริงอาจต่ำลงได้ถ้าเงินเฟ้อสูงขึ้น

แผนภาพแสดงการปรับเพิ่มของเงินต้นที่จะแปรผันไปตามอัตราเงินเฟ้อ

สำหรับท่านนักลงทุนที่สนใจ ILB ในช่วงนี้รัฐบาลยังไม่มีการประกาศขายเพิ่มเติม (ซื้อโดยตรงจากภาครัฐในตลาดแรก) แต่สามารถเข้าลงทุนได้โดยซื้อต่อจากนักลงทุนท่านอื่นหรือสถาบันการเงินที่ได้ซื้อILB ไว้(ตลาดรอง) ซึ่งในการซื้อต่อในตลาดรองนี้ จะต้องทำการตกลงราคาซื้อขายกัน ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจวิธีการเสนอซื้อขายกันเล็กน้อย

เนื่องจากพันธบัตรทั่วไป จะจ่ายดอกเบี้ยคงที่ และมีเงินต้นคงที่ แต่เนื่องจากรัฐบาลได้ออกพันธบัตรมาหลายรุ่น ซึ่งมีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน เมื่อมาซื้อขายกันระหว่างนักลงทุน ถ้าคุยกันด้วยราคาจะยากต่อการเปรียบเทียบ (เช่น พันธบัตรจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ราคา 103 บาท กับ พันธบัตรจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 10 ราคา 107 บาท อันไหนคุ้มกว่ากัน ?)ดังนั้นการซื้อขายพันธบัตรในตลาดรอง จึงคุยกันด้วยอัตราผลตอบแทน(Yield) ซึ่งเป็นการรวมผลของอัตราดอกเบี้ยและผลของกำไร/ขาดทุนจากราคาซื้อขายไว้แล้ว ทำให้การเจรจาตกลงราคาในการซื้อขายพันธบัตรสะดวกกว่ามาก

แต่สำหรับ ILB อัตราดอกเบี้ยจ่ายจะขึ้นกับอัตราเงินเฟ้อในอนาคตซึ่งไม่มีใครทราบแน่นอน นักลงทุนแต่ละท่านอาจมีการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ต่างกัน

การต่อรองซื้อขายกันด้วยอัตราดอกเบี้ยจ่ายจึงทำได้ไม่สะดวก จึงมักทำการตกลงด้วย real yield (อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงหลังหักอัตราเงินเฟ้อ) ซึ่งไม่นำผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อมาคำนวณ ทำให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบและการตกลงซื้อขายILB

สำหรับนักลงทุนที่กำลังชั่งใจว่าจะลงทุนในพันธบัตรที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่ดีหรือ ILB ดี เรามีหลักการง่ายๆ มาบอก คือ ให้พิจารณาจากผลต่างระหว่างผลตอบแทนของพันธบัตร(Yield) กับ อัตราผลตอบแทนหักอัตราเงินเฟ้อของ ILB (Real yield ) ซึ่งเราเรียกกันว่า Break even ถ้า Break even สูงว่าอัตราเงินเฟ้อที่เราคาดการณ์ ก็แนะนำให้ซื้อพันธบัตรที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่ แต่ถ้า Break even ต่ำว่าอัตราเงินเฟ้อที่เราคาดการณ์ ก็แนะนำให้ลงทุน ในILB ครับ ทั้งนี้จะมองว่า Break even เป็นอัตราเงินเฟ้อที่จะทำให้ ILB มีผลตอบแทนเทียบเท่ากับพันธบัตรที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่ก็ได้ครับ

จากทฤษฎี: Yield = Real yield + ExpectedInflation

จากข้อมูลที่มีการซื้อขายจริง: Break even = Yield - Real yield

ดังนั้น ถ้า Expected(Inflation) ของเรา > Break even แนะนำให้ซื้อILB

ถ้า Break evenในตลาด > ExpectedInflation แนะนำให้ซื้อพันธบัตรอัตราดอกเบี้ยคงที่ทั่วไป

ถึงตอนนี้นักลงทุนบางท่านอาจสงสัยว่าถ้าเงินเฟ้อติดลบขึ้นมาจะเป็นอย่างไร ILB มีเงื่อนไขกำหนดการจ่ายเงินต้นในงวดสุดท้ายไว้ โดยจะจ่ายคืนไม่น้อยกว่าเงินต้น ณ วันที่ออกพันธบัตร ดังนั้นสบายใจได้ครับ ยังไงก็ได้รับเงินต้นที่ลงทุนไปคืนแน่นอน เพียงแค่จะได้ดอกเบี้ยมากหรือน้อยเท่านั้นครับ

โดยสรุปคือ ถ้าต้องการแค่ให้ผลตอบแทนเป็นไปตามเงินเฟ้อ การลงทุนใน ILB สามารถตอบสนองความต้องการได้แน่นอน ส่วนนักลงทุนท่านใดที่มองหาโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น ก็เลือกลงทุนระหว่างพันธบัตรทั่วไป กับ ILB โดยเปรียบเทียบค่า Break evenกับเงินเฟ้อที่ท่านคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นครับ

All Blogs