Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    May 22, 2019
Payment-In-Kind Bond เมื่อดอกเบี้ยจ่ายเป็นหมูแฮม

อ่านไม่ผิดครับ นักลงทุนได้รับแจกหมูแฮมแทนการจ่ายดอกเบี้ย

โดยปกตินักลงทุนตราสารหนี้จะได้รับการจ่ายดอกเบี้ยในรูปของตัวเงิน แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ออกตราสารหนี้รายหนึ่งในประเทศจีนได้ทำการจ่ายดอกเบี้ยเป็นหมูแฮมแทนการจ่ายเงิน ซื้อ PIK สักหน่วยไหมครับจะได้มีหมูแฮมไว้กินตอนเช้า?

การจ่ายดอกเบี้ยในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงินเรียกว่า Payment-In-Kind (PIK) หรือการจ่ายผลตอบแทนที่ไม่อยู่ในรูปตัวเงินแต่จ่ายเป็นสิ่งของ บริการหรือหลักทรัพย์แทน สำหรับนักลงทุนในประเทศไทยอาจไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่ในต่างประเทศ PIK ถือเป็นเครื่องมือทางการเงินหนึ่งที่ผู้ออกตราสารหนี้เลือกใช้ วันนี้เรามาทำความรู้จัก PIK กัน อย่าเขวเป็น BNK!! นะครับ

หลักการพื้นฐานของ PIK คือ กลับไปใช้ระบบ Barter System นำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกันแทนการใช้เงิน

PIK Bond ตัวแรกเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 โดยบริษัท Texas International, Inc. (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น The Phoenix Resource Companies Inc.) ที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา ต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม ดังนั้นเงินทุนจึงถูกนำไปใช้เพื่อขยายธุรกิจ การออก PIK Bond จึงช่วยให้บริษัทสามารถระดมทุนและแปลงภาระการจ่ายดอกเบี้ยจากเงินสดไปเป็นหุ้นสามัญแทน

คุณสมบัติของ PIK Bond จะเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured) โดยมี Call option ที่ให้สิทธิผู้ออกสามารถเรียกไถ่ถอนได้ก่อนครบกำหนด ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 5 ปี เพราะในช่วงเริ่มต้นกิจการเงินทุนหมุนเวียนอาจต้องนำไปใช้ในการลงทุนมากกว่าการจ่ายคืนให้เจ้าหนี้ จากความเสี่ยงที่นักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยจ่ายในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน ทำให้ตราสารหนี้ PIK ถูกมองว่าด้อยสิทธิกว่าตราสารหนี้ทั่วไป ส่งผลให้ PIK Bond ต้องให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า รวมไปถึงมูลค่าของดอกเบี้ยในรูปแบบ PIK จะต้องมากกว่าการจ่ายดอกเบี้ยในรูปแบบของเงินสดด้วย เพื่อเป็นการดึงดูดและชดเชยให้แก่นักลงทุน

สำหรับลักษณะการจ่ายดอกเบี้ย PIK มี 3 รูปแบบ ดังนี้

1) True PIK คือ มีการระบุชัดเจนตั้งแต่แรกว่าการจ่ายดอกเบี้ยในรูปแบบ PIK ในช่วงเวลาใดบ้าง เช่น ช่วง 2 ปีแรกจะจ่ายดอกเบี้ยในรูปแบบของ PIK และหลังจากนั้นจนครบกำหนดอายุจะจ่ายดอกเบี้ยในรูปแบบของเงินสด

2) Pay if you can คือ การจ่ายดอกเบี้ยในรูปแบบ PIK ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น หากสัดส่วนการถือครองเงินสดอยู่สูงกว่าเกณฑ์ การจ่ายดอกเบี้ยจะต้องอยู่ในรูปแบบของเงินสด แต่ในทางตรงกันข้ามหากอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ จะจ่ายดอกเบี้ยในรูปของ PIK แทน

3) Pay if you want หรือ PIK Toggle คือ การที่ผู้ออกตราสารหนี้สามารถเลือกได้ว่าจะจ่ายดอกเบี้ยในรูปแบบของ PIK เมื่อไหร่ก็ได้ อีกทั้งยังสามารถเลือกได้อีกว่าจะจ่ายเต็มมูลค่าในรูปแบบของ PIK หรือผสมระหว่างรูปแบบของ PIK และเงินสด แต่ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่จะมีการแจ้งนักลงทุนล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน ถึงรูปแบบการจ่ายในงวดที่จะถึง

ตัวอย่างการจ่ายดอกเบี้ย PIK ในต่างประเทศ เช่น ในประเทศสหรัฐฯ จ่ายเป็นหุ้นของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ ในประเทศจีน จ่ายเป็นชุดของขวัญพรีเมี่ยมหมูแฮม เป็นต้น โดยมี Hedge fund และ Private investment firm เป็นกลุ่มนักลงทุนหลัก

PIK bond เป็นที่นิยมมากในช่วงปี 2006-2007 ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดี หลายบริษัทในสหรัฐฯ มีการระดมทุนผ่าน PIK bond เพื่อนำไปใช้ซื้อและควบรวมกิจการ ส่งผลให้ในปี 2007 มีการออก PIK bond คิดเป็นมูลค่าสุทธิมากถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 มูลค่าการออก PIK bond ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงไม่ถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2010 ปัจจุบันการระดมทุนผ่าน PIK bond ได้รับความนิยมลดลง เพราะผู้ออกมีทางเลือกมากขึ้นพร้อมกับต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง แต่อะไรก็ไม่แน่นอน วันหนึ่งเราอาจจะเห็น PIK bond ในประเทศไทยบ้างก็เป็นได้

All Blogs