Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    May 08, 2017
หุ้นกู้ vs. หุ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนเริ่มรู้จักและให้ความสนใจการลงทุนในหุ้นกู้มากขึ้นเนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จึงช่วยหนุนให้บริษัทเอกชนทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กหลายแห่งมีการออกขายหุ้นกู้มากเป็นพิเศษ นักลงทุนจึงเริ่มรู้จักหุ้นกู้ในฐานะสินทรัพย์ลงทุนอีกทางเลือกที่น่าสนใจ ด้วยจุดเด่นที่มีความผันผวนต่ำกว่าหุ้น มีระยะเวลาการลงทุนที่ชัดเจน และผลตอบแทนที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม อาจด้วยชื่อที่มีการเขียนคล้ายกัน จึงอาจทำให้นักลงทุนบางท่านยังสับสนระหว่าง “หุ้นกู้” และ “หุ้น” ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง บทความนี้จึงอยากจะขอเล่าให้ฟังอีกสักครั้ง

เริ่มจากสิ่งที่เราคุ้นเคยกันมากกว่านั่นก็คือ

“หุ้น” เป็นตราสารทุน ผู้ถือตราสารทุนหรือนักลงทุน “มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของร่วมในบริษัท” ผลตอบแทนที่ได้จะไม่แน่นอน โดยจะมีทั้งส่วนต่างราคาหุ้น (Capital gain) ซึ่งมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาได้ทุกวัน (อาจจะกำไรหรือขาดทุนก็ได้) และมีเงินปันผล (Dividend Yield) ซึ่งไม่ได้ถูกกำหนดไว้แน่นอน จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทความเสี่ยงหลักในการลงทุนหุ้นจะขึ้นอยู่กับความคาดหวังหรือการประมาณการณ์ผลกำไรของบริษัทในอนาคตซึ่งจะสะท้อนจากราคาหุ้น หากผลประกอบการมีแนวโน้มที่ดีจะช่วยให้ราคาหุ้นมีแนวโน้มที่ดีตามไปด้วย รวมถึงเงินปันผลที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นด้วย ในทางกลับกันก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นและเงินปันผลมีแนวโน้มที่ลดลงเช่นกัน

ขณะที่ “หุ้นกู้” จัดเป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง ผู้ถือตราสารหนี้หรือนักลงทุน “มีสถานะเป็นเจ้าหนี้”ผลตอบแทนที่ได้จะมีความสม่ำเสมอและแน่นอนโดยอยู่ในรูปของดอกเบี้ย (Interest) ตลอดอายุของตราสารหนี้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ณ ตอนออก โดยความเสี่ยงหลักในการลงทุนหุ้นกู้ คือการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สะท้อนได้จากอันดับเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ (Issuer credit rating) หรือ อันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร (Issue rating) นั่นเอง ว่าผู้ออกมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเพียงใด มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นได้ตามกำหนดหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพิจารณาถึงความปลอดภัยของเงินลงทุน

สืบเนื่องจากการที่การลงทุนทั้ง 2 ประเภท นักลงทุนจะมีสถานะที่แตกต่างกัน จึงทำให้การลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้มีสิทธิที่แตกต่างกันที่สำคัญอีก 2 ประการคือ1. ลำดับของสิทธิในการเรียกร้องชำระเงินคืนกรณีที่ผู้ออกล้มลายหรือไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และ 2. อำนาจการออกเสียงหรือกำหนดแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัท

สิทธิในการเรียกร้องชำระเงินคืน คือ หากเกิดกรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลายหรือไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้การเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัทผู้ออกตราสารจะต้องเรียงตามลำดับที่แตกต่างกัน โดยผู้ถือตราสารหนี้ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องความเสียหายได้ก่อนผู้ถือตราสารทุนที่มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิก็ตามทำให้ผู้ถือตราสารหนี้มีโอกาสที่จะเรียกร้องเงินคืนได้ครบตามจำนวนมากกว่า ขณะที่ผู้ถือหุ้นจะเป็นผู้ที่ได้รับชำระเงินทุนคืนเป็นลำดับสุดท้ายจึงมีความเสี่ยงที่จะได้เงินคืนไม่ครบตามจำนวนมากที่สุด

ต่อมาในส่วนของ อำนาจการออกเสียงหรือกำหนดนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้น จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า หากเป็นการลงทุนในหุ้นกู้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกู้ทั่วไปหรือแม้แต่หุ้นกู้ด้อยสิทธิกึ่งหนี้กึ่งทุน เช่น ตราสารหนี้ไม่กำหนดอายุไถ่ถอน (Perpetual bond) ก็ยังถือว่ามีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทซึ่งจะไม่มีสิทธิออกเสียงใด ๆ ในการสนับสนุนหรือคัดค้านนโยบายหรือวาระการประชุมของผู้ถือหุ้น อีกทั้งยังไม่มีอำนาจในการเข้าแทรกแซงการบริหารธุรกิจของบริษัทอีกด้วย เพียงแต่ได้สิทธิเป็นลำดับต้น ๆ ของการเรียกร้องชำระหนี้ ขณะที่หากเป็นการลงทุนในหุ้นจะถือว่ามีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทซึ่งจะมีส่วนได้ส่วนเสียและสามารถร่วมออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อกำหนดนโยบายของบริษัทได้ตามสิทธิหรือสัดส่วนของหุ้นที่ถืออยู่และหากนักลงทุนมีสัดส่วนการถือหุ้นที่มากพอ ก็จะมีอำนาจเข้าแทรกแซงบริษัทนั้น ๆ ได้อีกด้วย

ดังนั้น การลงทุนทั้ง 2 แบบนั้น ต่างก็มีข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับทัศนคติ การยอมรับความเสี่ยง และเป้าหมายของผู้ลงทุนว่าการลงทุนในสินทรัพย์ใดที่จะเหมาะกับผู้ลงทุนมากกว่า

All Blogs