• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Mar. 10, 2021
ปี 2564 อังกฤษนับหนึ่งพันธบัตรสีเขียว

หมอกจางจางและควัน หรือจะเป็นฝุ่น PM 2.5 ไม่อาจรู้..... ปัญหาฝุ่นควันดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ทั่วโลกและคนไทยต้องพบเจอกันเป็นประจำ โดยในช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปี ฝุ่น PM 2.5 ของไทยก็เหมือนจะมาตามนัดติดต่อมาหลายปี และมีแนวโน้มจะแย่ลงทุกๆ ปี พวกเราทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไข ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่ง หากแต่แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีการผลักดันเรื่องนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

ซึ่งการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีเพียงแค่ไทย แต่ในระดับโลกเองการตื่นตัวก็เกิดขึ้นในตลาดตราสารหนี้เช่นกัน จนเกิดนวัตกรรมการออกตราสารหนี้สีเขียว เพื่อนำเงินไปลงทุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากผู้ออกทั้งที่เป็นภาครัฐและภาคเอกชนของหลากหลายประเทศ สำหรับการออกตราสารหนี้สีเขียวของภาครัฐ หรือพันธบัตรสีเขียว ปัจจุบันมีออกไปแล้ว 19 ประเทศทั่วโลก ล่าสุด มาช้าแต่ก็ยังดีกว่าไม่มา รัฐบาลอังกฤษกำลังจะเป็นผู้ออกหน้าใหม่พันธบัตรสีเขียว

รัฐบาลอังกฤษประกาศว่าจะเริ่มออกพันธบัตรสีเขียวในปี 2564 นี้ เพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม แต่การขยับตัวของรัฐบาลอังกฤษครั้งนี้ ก็ยังช้ากว่าภาคเอกชนของอังกฤษ ที่มีการออกหุ้นกู้สีเขียวไปแล้วกว่า 40 รุ่นจากหลายๆ บริษัท

ทางรัฐบาลอังกฤษยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการออกพันธบัตรสีเขียวไม่ว่าจะเป็นตารางการออก ขนาดวงเงิน และอายุการออก ระบุแต่เพียงว่าการออกในปีหน้านี้จะเป็นปฐมบทของพันธบัตรสีเขียวของอังกฤษ ซึ่งจะมีการออกมากขึ้นนับจากนี้

รัฐบาลอังกฤษตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เกิดเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสีเขียว หรือ Green bond yield curve ในอนาคตเพื่อใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการยกระดับตลาดตราสารหนี้สีเขียวของประเทศ นอกจากนี้จะสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมกับภาคเอกชนให้มากขึ้นโดยกำหนดว่าตั้งแต่ปี 2025 บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ต้องทำรายงานอธิบายผลกระทบที่บริษัทจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change)

ทั้งนี้ ทางรัฐบาลอังกฤษไม่ได้เพิ่งมาให้ความสนใจกับการออกพันธบัตรสีเขียว หากแต่ที่ผ่านมามีหลายประเด็นที่ต้องศึกษาพิจารณา เช่น ขนาดวงเงินการออก สภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้สีเขียว ความต้องการของตลาด และที่สำคัญเรื่องผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ซึ่งปัจจุบันผลการศึกษาหลายชิ้นยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ผลตอบแทนของตราสารหนี้สีเขียวควรมากขึ้นหรือลดลงเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ทั่วไป

แต่ถ้าหากพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ทุกภาคส่วนมีแนวโน้มการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ประกอบกับองค์กรชั้นนำของโลกหลายแห่งมีการทำข้อตกลงและเกณฑ์การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ย่อมเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนความต้องการลงทุนในตราสารหนี้สีเขียว ส่งผลให้นักลงทุนอาจยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้นเพื่อที่จะได้ถือครองตราสารหนี้สีเขียว หรือถ้ามองในมุมผู้ออกตราสารหนี้สีเขียวก็อาจไม่จำเป็นต้องแข่งขันเสนอผลตอบแทนที่สูงนักเพื่อดึงดูดนักลงทุนเหมือนในอดีต

ตัวอย่างหนึ่งคือ การออกพันธบัตรสีเขียวของรัฐบาลเยอรมันเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ได้ออกทั้งพันธบัตรรัฐบาลทั่วไปและพันธบัตรสีเขียวพร้อมกัน ด้วยคุณลักษณะที่เหมือนกันทั้งอายุและดอกเบี้ย แต่ด้วยความต้องการลงทุนพันธบัตรสีเขียวที่สูง ทำให้มีความต้องการเสนอซื้อจากนักลงทุนสูงถึง 33,000 ล้านยูโร มากกว่าวงเงินเสนอขายของรัฐบาลที่ 6,500 ล้านยูโร หรือสูงกว่าถึง 5 เท่า ทำให้ราคาซื้อขายพันธบัตรสีเขียวรุ่นดังกล่าวสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลทั่วไปที่มีคุณลักษณะคล้ายกัน

สุดท้ายแล้วคุณลักษณะของพันธบัตรสีเขียวตัวแรกจากรัฐบาลอังกฤษจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรอติดตามกัน แต่สิ่งหนึ่งที่รู้แน่ๆ ก็คือ กระแสการรักษ์โลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จะช่วยกระตุ้นความต้องการลงทุนในตราสารหนี้สีเขียว ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ออกตราสารหนี้สีเขียวทั้งในแง่การระดมทุนและการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมครับ

All Blogs