Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    August 16, 2017
หุ้นกู้มีประกัน เครื่องหมายรับประกันเงินต้นหาย (จริงหรือ)?

จากบทความเรื่อง “ลำดับการชำระหนี้” ที่กล่าวว่า การที่บริษัทล้มละลายและมีการจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท ผู้ถือตราสารหนี้ที่มีประกัน (Secured Bond) จะเป็นนักลงทุนกลุ่มแรกที่ได้รับชำระเงินต้นจากการขายสินทรัพย์ก่อนนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ถือตราสารหนี้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ, ผู้ถือตราสารหนี้ไม่มีประกันและด้อยสิทธิ, ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และผู้หุ้นสามัญนั้น การถือตราสารหนี้ที่มีประกัน ดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการลงทุนในหุ้นทุนและตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ ทั้งนี้ การออกตราสารหนี้ที่มีประกันของภาคเอกชนในประเทศไทยนั้น เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2551 และมีการเพิ่มขึ้นของการออกตราสารหนี้ประเภทนี้อย่างต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 07 กรกฎาคม 2560 มีการออกตราสารหนี้ที่มีประกัน (Issuing) มูลค่าหน้าตั๋วกว่า 288,462 ล้านบาท และมีมูลค่าหน้าตั๋วคงเหลือ (Outstanding) 285,936 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 11% ของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวคงเหลือทั้งหมด (ไม่รวมตั๋วแลกเงิน) 2,607,876 ล้านบาท ในตลาด

“ตราสารหนี้มีประกัน” คือ ตราสารที่ผู้ออกใช้สินทรัพย์ของตนเป็นหลักค้ำประกัน สินทรัพย์ที่ใช้เป็นประกัน เช่น ที่ดิน อาคาร สังหาริทรัพย์ สินค้าโรงงาน เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A มีการระดมทุนเมื่อครั้งจัดตั้งบริษัทมูลค่า 1,000 ล้านบาท โดยมีการออกหุ้นกู้มีประกัน มูลค่า 300 ล้านบาท (โดยมีที่ดิน อาคาร และเครื่องจักร เป็นหลักประกัน), หุ้นกู้ไม่มีประกันและด้อยสิทธิ มูลค่า 200 ล้านบาท และออกหุ้นสามัญมูลค่า 500 ล้านบาท ภายหลัง บริษัท A ประสบปัญหาล้มละลายทำให้ต้องทำการขายที่ดิน อาคาร และเครื่องจักรทั้งหมดที่มีเพื่อชำระหนี้และคืนให้ส่วนของเจ้าของ ได้เงินมทั้งหมด 400 ล้านบาท เงินจำนวน 400 ล้านบาทนี้จะนำมาแบ่งตามลำดับ โดยยังผู้ถือหุ้นกู้มีประกัน 300 ล้านบาท (ชำระได้ครบ 100%) ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกันและด้อยสิทธิ 100 ล้านบาท (ชำระได้ 50%) และผู้ถือหุ้นสามัญจะไม่ได้เงินเลย

จะเห็นได้ว่า ตราสารหนี้ที่มีประกันสามารถช่วยประกันเงินต้นได้ การประกันเงินต้นของตราสารหนี้ที่มีประกันด้วยสินทรัพย์ ทำให้นักลงทุนผู้ถือตราสารหนี้ที่มีประกันมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินต้นคืนต่ำกว่านักลงทุนที่ถือตราสารหนี้ชนิดอื่นๆ สิทธิพิเศษในดังกล่าว ทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่มีประกันต่ำกว่า ตราสารหนี้ที่ไม่มีประกัน เช่น การเปรียบเทียบตราสารหนี้รุ่น GLOW218A ที่มีประกัน กับตราสารหนี้รุ่น CPF218A ที่ไม่มีประกัน แสดงให้เห็นว่าตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือใกล้เคียงกัน และมีระดับความน่าเชื่อถือเท่ากัน ตราสารหนี้ที่มีประกันจะให้ผลตอบแทนในอัตราที่ต่ำกว่าตราสารหนี้ที่ไม่มีประกัน

ดังนั้น ในการเลือกลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนของบริษัทต่างๆ อย่าลืมดูถึงลำดับการชำระหนี้ด้วยนะครับ ถ้าลักษณะของตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีประกันและไม่มีประกันมีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น อายุคงเหลือใกล้เคียงกัน อันดับความน่าเชื่อถือเท่ากัน หุ้นกู้มีประกันก็น่าสนใจที่จะลงทุนกว่านะครับ

All Blogs