• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jul. 01, 2018
“การเปลี่ยนแปลงของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนภายหลังเกณฑ์ใหม่ ก.ล.ต.”

การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบีอีและหุ้นกู้ของบริษัทบางแห่งที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว แม้จะคิดเป็นมูลค่าค่อนข้างน้อยหากเทียบกับตลาดหุ้นกู้โดยรวม แต่ก็ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและสั่นคลอนความเชื่อมั่นในตลาดตั๋วบีอีอย่างมาก ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องทบทวนแก้ไขหลักเกณฑ์การขออนุญาตการเสนอขายตราสารหนี้ในประเด็นหลักๆ ดังนี้

 ตั๋วบีอีจะถูกจำกัดให้เสนอขายได้เฉพาะในวงแคบไม่เกิน 10 รายและนักลงทุนสถาบันเท่านั้น กรณีเสนอขายวงแคบไม่เกิน 10 ราย (PP10) ผู้ลงทุนต้องมีความสัมพันธ์กับกิจการ (Related party) เช่น เป็นกรรมการ หรือ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ถ้าบริษัทอยากจะขายให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ Related party บุคคลดังกล่าวจะต้องเป็น“นักลงทุนรายใหญ่” (High net worth investors: HNW) และต้องเสนอขายผ่านตัวกลางเท่านั้น เพื่อให้สถาบันการเงินที่เป็นตัวกลางช่วยทำหน้าที่กลั่นกรอง

 หุ้นกู้ หากเสนอขายให้กับ“นักลงทุนรายใหญ่” (HNW) จะต้องจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อทำหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุนและติดตามให้ผู้ออกห้นกู้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดสิทธิต่างๆ

หลักเกณฑ์ใหม่ของ ก.ล.ต. นี้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นมา ส่งผลให้ตลาดตั๋วบีอีมีการเปลี่ยนแปลงโดยบริษัทเอกชนที่ต้องการระดมเงินทุนจากนักลงทุนรายใหญ่ (HNW) เกิน 10 รายต้องเปลี่ยนมาออกตราสารหนี้ในรูปแบบของหุ้นกู้จากเดิมที่บริษัทสามารถออกตั๋วบีอีขายตรงให้แก่ HNW จำนวนมากได้แบบง่ายและรวดเร็ว

สำหรับนักลงทุน หุ้นกู้มีข้อดีเหนือกว่าตั๋วบีอีในแง่การปกป้องนักลงทุน เพราะหุ้นกู้จะมีข้อกำหนดให้ผู้ออกต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญอันอาจส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นกู้ (Material Event) และต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ออกตามข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ในหนังสือชี้ชวน เช่น การดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน เป็นต้น

จากวันที่เกณฑ์ใหม่ ก.ล.ต. มีผลบังคับใช้ พบว่า การออกตั๋วบีอีรอบ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ลดลงถึง 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการเสนอขายแก่นักลงทุนสถาบัน (II) แต่ยังพบว่าผู้ออกที่มีอันดับเครดิตสูงยังมีการออกตั๋วบีอีขายให้แก่นักลงทุนรายใหญ่ (HNW) แบบวงแคบไม่เกิน 10 ราย (PP10) ได้อยู่

ในขณะเดียวกัน พบว่า ผู้ออกหลายรายที่เคยออกตั๋วบีอีหันมาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวมากขึ้น ทำให้ยอดการออกหุ้นกู้รอบ 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) อยู่ในระดับสูงคือเฉลี่ยเดือนละกว่า 70,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนั้นผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตไม่สูงหลายรายมีการจัดหาผู้ค้ำประกันหรือวางหลักประกันการชำระหนี้หุ้นกู้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลดีต่อนักลงทุน

All Blogs