Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Sep. 24, 2019
งานนี้ต้องติดตาม...สถานการณ์ผิดนัดชำระหุ้นกู้ในประเทศจีน

การผิดนัดชำระหุ้นกู้ในประเทศจีนกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งเมื่อตัวเลขการผิดนัดชำระใน 6 เดือนแรกของปีนี้ สูงขึ้นหลายเท่าจนทำลายสถิติเดิม สถานการณ์เป็นอย่างไร และมีใครบ้างที่ default

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างมากทำให้เกิดความต้องการเงินทุนมโหฬารเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งเกินกว่าที่ธนาคารจะสามารถตอบสนองความต้องการสินเชื่อได้อย่างครอบคลุมจึงนำไปสู่การเกิดธนาคารเงา (Shadow Banking) ขึ้นมาปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจที่เข้าไม่ถึงภาคธนาคารปกติ ซึ่งรวมไปถึงหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่น ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลท้องถิ่นต้องไปกู้เงินนอกระบบ นั่นเป็นเพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้กู้เงินจากธนาคารได้โดยตรง แต่รัฐบาลท้องถิ่นต้องพัฒนาเมืองตามนโยบายจากส่วนกลางโดยได้รับสนับสนุนงบประมาณเพียงบางส่วน รวมถึงการออกหุ้นกู้ผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Local Government Financing Vehicle: LGFV) เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นได้เงินทุนมาแล้วก็มักนำไปก่อสร้างสาธารณูปโภคที่ไม่ได้สร้างรายได้ หรือนำไปลงทุนในอุตสาหกรรมจนเกินความต้องการของตลาด สุดท้ายรายรับไม่สอดคล้องกับรายจ่ายจนนำไปสู่การไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้หรือผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้

การผิดนัดชำระเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนมีนาคมปี 2014 เมื่อบริษัท Shanghai Chaori Technologies บริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยมูลค่า 90 ล้านหยวนได้เนื่องจากบริษัทขาดทุนจากการผลิตส่วนเกิน (Overcapacity) และที่สำคัญ ทางการจีนไม่เข้าช่วยเหลือทางการเงินแก่ธุรกิจอย่างที่เคยทำเพราะต้องการแก้ปัญหาการประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไป (Mispricing) และลดพฤติกรรม Moral hazard ของตลาดที่เชื่อว่ารัฐต้องเข้าอุ้มเมื่อกิจการมีปัญหา หลังจากนั้นก็มีบริษัทเอกชนอีก 4 รายที่ผิดนัดชำระดอกเบี้ยและไม่คืนเงินต้น ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าการผิดชำระหุ้นกู้ทั้งปี 2014 จะเท่ากับ 1.3 พันล้านหยวน

การผิดนัดชำระดำเนินต่อเนื่องมาในปี 2015 แต่ที่สร้างความตกใจให้แก่ตลาดเป็นอย่างมาก เมื่อ Baoding Tianwei Group รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานรายใหญ่ผิดนัดจ่ายดอกเบี้ย 1.5 พันล้านหยวนในเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นรัฐวิสาหกิจรายแรกที่ default และเป็นสัญญาณยืนยันว่า นอกจากรัฐบาลจะไม่ช่วยเหลือภาคเอกชนแล้วรัฐบาลก็จะไม่อุ้มรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนเช่นกัน เป็นผลให้ในเวลาต่อมามีรัฐวิสาหกิจส่วนท้องถิ่นทยอยผิดนัดชำระอีก 3 แห่ง ซึ่งเมื่อรวมกับการ default ของภาคเอกชนจำนวน 19 ราย ทำให้การผิดนัดชำระหุ้นกู้ในปี 2015 มีมูลค่าเท่ากับ 13 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าจากปีก่อน

ปี 2016 การผิดนัดชำระหุ้นกู้ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก โดยรัฐวิสาหกิจที่ default มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 7 แห่ง และกระจายไปตามพื้นที่ท้องถิ่นมากขึ้น เช่น Guangxi Non-Ferrous Metal Group รัฐวิสาหกิจผลิตโลหะในเมืองกวางสี Dongbei Special Steel Group รัฐวิสาหกิจผลิตเหล็กในเมืองตงเป่ย และ Shanxi Huayu of Chinacoal รัฐวิสาหกิจถ่านหินในเมืองชานซี เป็นต้น และเมื่อนำมารวมกับมูลค่าการผิดชำระหุ้นกู้ของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นกว่า 100% ทำให้มูลค่าการผิดนัดชำระหุ้นกู้ในจีนพุ่งสูงสุดเป็นครั้งแรกที่ 30.1 พันล้านหยวน

แม้ว่าในปี 2017 มูลค่าการผิดชำระหุ้นกู้ในจีนจะชะลอตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 27.7 พันล้านหยวน แต่ปี 2018 กลับทะยานขึ้นไป การผิดนัดชำระหุ้นกู้พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 128 พันล้านหยวน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 400% จากปี 2017 โดยยอดการผิดนัดชำระก้อนใหญ่ๆ เกิดจากการไม่จ่ายดอกเบี้ยของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่อย่าง CEFC Shanghai International Group บริษัทค้าน้ำมันชั้นนำซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CEFC China Energy ซึ่งเป็น 1 ใน 10 บริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกของจีน มูลค่า 2.1 พันล้านหยวนเมื่อเดือนพฤษภาคม และบริษัทเหมืองถ่านหิน Wintime Energy มูลค่า 1.5 พันล้านหยวนเมื่อเดือนกรกฎาคม ซึ่งทั้ง 2 บริษัทเป็นผู้กู้รายใหญ่อันดับ 1 และ 2 ในตลาดตราสารหนี้จีน

เมื่อนับจากการเกิด default ครั้งแรกจนถึงสิ้นปี 2018 มีหุ้นกู้ default ไปแล้วทั้งหมด 263 รุ่น จากผู้ออก 111 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชนกว่า 94 ราย ที่เหลือเป็นรัฐวิสาหกิจท้องถิ่น 11 แห่งและรัฐวิสาหกิจส่วนกลางอีก 6 แห่ง ทั้งนี้การ default ในช่วงแรกนั้นสาเหตุหลักมาจากกำลังการผลิตส่วนเกินของภาคอุตสาหกรรมในยุคเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม (old economy) อย่างถ่านหินและเหล็ก แต่พอเข้าปี 2018 ที่เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ (new economy) การ default เกิดจากปัจจัยหลากหลายมากขึ้นทั้งจากผู้ประกอบการเองและสถานการณ์ระหว่างประเทศ

การผิดนัดชำระหุ้นกู้ในปี 2019 ดูเหมือนจะสร้างความกังวลให้นักลงทุนมากขึ้นไปอีก เมื่อผ่านมาแค่ 6 เดือนแรก การผิดนัดชำระหุ้นกู้มีมูลค่าสูงถึง 60 พันล้านหยวน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2018 ถึงกว่า 3 เท่า เป็นสถิติสูงสุดใหม่ในประวัติศาสตร์ของจีน ในจำนวนนี้เป็นการ default ครั้งแรกถึง 20 บริษัท เช่น China’s CITIC Guoan Group บริษัทขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจหลากหลายทั้งการเงิน การท่องเที่ยวและสุขภาพ แต่ไม่สามารถคืนเงินต้นมูลค่า 3 พันล้านหยวนและไม่จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้อีกรุ่นมูลค่า 195 ล้านหยวนช่วงเมษายนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เมื่อ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมาเกิดการ default พร้อมกัน 4 รายในวันเดียว ได้แก่ รัฐวิสาหกิจด้านก่อสร้าง (China City Construction Holding Group) กับบริษัทผลิตเหล็กชั้นนำของเมืองซานตง (Shandong SNTON Group) ที่ผิดนัดชำระหุ้นกู้เป็นครั้งแรก บริษัท Kangde Xin Composite Material Group บริษัทผลิตฟิล์มลามิเนตรายใหญ่ที่ผิดนัดชำระเป็นครั้งที่ 2 และ Jinggong Group บริษัทก่อสร้างที่ผิดนัดชำระครั้งที่ 3 ซึ่งเมื่อรวมมูลค่าการผิดนัดชำระของทั้ง 4 บริษัทคิดเป็น 4.3 พันล้านหยวน

กล่าวมาถึงตรงนี้ คงต้องติดตามสถานการณ์การผิดนัดชำระหุ้นกู้ในจีนอย่างใกล้ชิด เพราะในช่วงที่เหลือของปี 2019 จะมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนถึง 6 ล้านล้านหยวน

All Blogs