Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jan. 16, 2018
ตราสารหนี้บางรุ่นเลื่อนชำระดอกเบี้ยได้นะจ๊ะ

ในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำเช่นในปัจจุบัน ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากบริษัทที่มีชื่อเสียง ที่มีRating สูง ออกตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยสูงจะเป็นที่สนใจของนักลงทุนอย่างมากแต่ตราสารหนี้เหล่านี้อาจมีเงื่อนไขบางอย่างเพิ่มขึ้นมาซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ละเลย หนึ่งในเงื่อนไขที่มักจะพบคือ “มีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ”พอจะคุ้นหูคุ้นตากันแล้วใช่ไหม เงื่อนไขนี้จะพบใน“ตราสารหนี้คล้ายทุน” ได้แก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารและหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ(Perpetual Bond)นั่นเอง แล้วเงื่อนไขที่ว่านี้ สำคัญอย่างไร

ตราสารหนี้ทั่วไปจะต้องจ่ายดอกเบี้ยตรงเวลาเสมอ หากจ่ายช้าจะถือว่าเป็นการผิดนัดชำระ แต่ตราสารหนี้คล้ายทุนพวกนี้แม้จะกำหนดดอกเบี้ยเอาไว้แต่สามารถเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไปเป็นระยะเวลานานเท่าไรก็ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดนัดชำระ ฉะนั้นในทางกฎหมายหากเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการบริษัทผู้ออกสามารถไม่จ่ายดอกเบี้ยไปอีก 100 ปีเลยก็ได้แม้ว่าบริษัทมีกำไรเติบโตอย่างรวดเร็วและจ่ายโบนัสพนักงานปีละ 18 เดือนก็ตาม

โดยทั่วไปเมื่อดอกเบี้ยถูกเลื่อนการจ่ายออกไป ดอกเบี้ยจะถูกนำไปสะสมในการจ่ายครั้งต่อไป ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนต่ำลงเล็กน้อยจากผลของ Time value of money คือได้รับเงินเร็วย่อมดีกว่าได้รับเงินช้าเสมอ ยกเว้นกรณีที่มีการระบุว่า“ไม่สะสมดอกเบี้ย” ซึ่งจะหมายความว่าหากไม่จ่ายดอกเบี้ยรอบนั้น ก็จะไม่มีการสะสมดอกเบี้ยเพื่อนำไปสมทบในการจ่ายครั้งถัดไป ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนลดลงอย่างมากจากดอกเบี้ยที่ควรได้รับแต่ขาดหายไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสิทธิการเลื่อนชำระดอกเบี้ยนี้มีข้อกำหนดที่สำคัญคือ ระหว่างที่เลื่อนชำระดอกเบี้ยบริษัทจะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากบริษัทมีกำไร ผู้ถือหุ้นจะเรียกร้องให้จ่ายเงินปันผล ซึ่งจะกดดันให้บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้ที่ถูกเลื่อนชำระดอกเบี้ยด้วยนั้นเองนอกจากนั้นการที่บริษัทเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยจะเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีไปยังนักลงทุน ทำให้ยากต่อการระดมทุนในครั้งต่อๆไป บริษัทจึงมีแรงจูงใจที่จะจ่ายดอกเบี้ยตรงเวลามากกว่าการเลื่อนชำระดอกเบี้ย

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าโดยทั่วไปแล้วผู้ออกตราสารจะไม่มีแรงจูงใจในการเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยแต่หากมีความจำเป็น บริษัทสามารถเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้ ซึ่งจะมีผลต่อผลตอบแทนของนักลงทุนที่จะลดลง ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุน นักลงทุนควรศึกษาเงื่อนไขนี้ให้ดี เพื่อพิจารณาว่าผลตอบแทนที่ผู้ออกเสนอให้คุ้มค่าความเสี่ยงต่างๆ แล้วหรือยัง เพราะในโลกของการลงทุนนั้น ไม่มีใครจ่ายผลตอบแทนที่สูงๆโดยไม่มีเหตุผลรองรับ

All Blogs