• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jan. 27, 2022
ESG bonds ของไทยใช้เงินหลากหลายและน่าสนใจแค่ไหน?

นับตั้งแต่มีหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน หรือ ESG (Environmental, Social and Governance) bonds ครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2019 มูลค่าการออก ESG bonds ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากยอดการออกที่ 29,040 ล้านบาทในปี 2019 ซึ่งเป็นปีแรกที่เพิ่งมีเกณฑ์ ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 173,800 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2021 ขยายตัวเกือบ 6 เท่าในช่วง 3 ปี ผู้ออกก็เพิ่มจำนวนขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน และมีการนำเงินไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดประโยชน์กับสังคมภายใต้ขอบเขตการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัทอย่างหลากหลาย ดังนี้

✅ ส่วนใหญ่ผู้ออกนำไปพัฒนาพลังงานทางเลือกเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศ ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมโดย บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) และ บมจ.เอสพีซีจี (SPCG) รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพโดย บมจ.บีซีพีจี (BCPG)

✅ พัฒนาระบบขนส่งด้วยพลังงานสะอาดก็เป็นอีกวัตถุประสงค์ที่นิยม ซึ่งก็คือระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่าง ๆ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองโดย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป (BTSG) รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ-ใต้โดย บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองโดย บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดย บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

✅ มีการใช้เงินทุนเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืนด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการปลูกป่าของ บมจ.ปตท. (PTTC) การทำประมงอย่างยั่งยืนของ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) การบริหารจัดการขยะแบบครบวงจรโดยบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศของ บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL)

✅ วัตถุประสงค์เพื่อชุมชนและสังคมก็มีไม่น้อย ทั้งการจ้างงานและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก นำเงินไปใช้ฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบจากโควิด บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) นำเงินไปซื้อวัตถุดิบและจ้างงานเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยโดยการเคหะแห่งชาติ (NHA)

✅ นอกจากนี้ ผู้ออกบางรายได้กระจายความสามารถในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมที่ยั่งยืนด้วยการนำเงินไปให้สินเชื่อ เช่น ธ.ก.ส. (BAAC) สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการสร้างพื้นที่ป่าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บจ.โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) (TLT) ให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ช่วยลดการปล่อยควันพิษ รวมทั้งธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ปล่อยสินเชื่อแก่โครงการเพื่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่า ผู้ออกได้นำเงินทุนไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ช่วยสร้างความยั่งยืนได้อย่างหลากหลาย ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือของทั้งผู้ออกและนักลงทุน เพื่อให้สังคมของเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นพร้อมไปกับทรัพยากรธรรมชาติที่จะอยู่กับเราต่อไปอย่างยั่งยืน

All Blogs