Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    September 16, 2017
“สั้น” หรือ “ยาว” อะไรเร้าใจกว่ากัน (ตอนที่ 2)

อย่างที่ได้กล่าวไว้ในครั้งที่แล้วว่า การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น หรือระยะยาว ไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาที่เป็นมาตรฐานสากลว่านานแค่ไหนคือระยะสั้น หรือระยะยาว แต่ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าการลงทุนระยะยาวคือ ลงทุนในตราสารหนี้ที่อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป (>1ปี) และการลงทุนระยะสั้นคือ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ปี (≤1ปี) โดยเมื่อเวลาผ่านไป ตราสารหนี้จะมีอายุคงเหลือน้อยลงเรื่อยๆ จากที่เคยเป็นตราสารหนี้ระยะยาวเมื่อตอนที่ออก ก็จะกลายเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ที่มีอายุคงเหลือน้อยลงๆ จนครบกำหนดและถูกไถ่ถอนไป ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่สำคัญที่ทำให้ตราสารหนี้แตกต่างจากหุ้นในหลายๆ มิติ

หากสามารถเลือกลงทุนได้ตรงตามเงื่อนไขและความต้องการของเราแล้ว ไม่ว่าจะลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นหรือระยะยาวก็เร้าใจได้ไม่แพ้กัน ทีนี้แล้วการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาวมีจุดเด่นหรือจุดด้อยอย่างไร มาติดตามกัน

o อัตราคูปอง หรือผลตอบแทน หากเปรียบเทียบตราสารหนี้ที่มีคุณลักษณะเหมือนๆ กัน ต่างกันเพียงระยะเวลาการกู้ยืม ตราสารหนี้ระยะสั้นจะให้คูปองหรือผลตอบแทนต่ำกว่าตราสารหนี้ระยะยาว (ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้จาก “Yield curve ตัวช่วยการลงทุนตราสารหนี้)

o ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระตามความรู้สึกของนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันว่าซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นอายุ 3 เดือนปลอดภัยกว่าซื้อตราสารหนี้ระยะยาวอายุ 3 ปีที่ออกโดยบริษัทเดียวกันเนื่องจากคิดว่าภายในระยะเวลา 3 เดือน ผู้ออกจะมีฐานะทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปจากที่มั่นคงเป็นย่ำแย่น่าจะมีโอกาสเป็นไปได้ต่ำกว่าในระยะเวลา 3 ปี แต่ในทางทฤษฎีแล้วความเสี่ยงในการผิดนัดชำระไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการกู้ยืม แต่ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของผู้กู้ที่ดูได้จากการจัดอันดับเครดิต เพราะการผิดนัดชำระในระยะสั้นหรือระยะยาวมีสาเหตุที่แตกต่างกัน เปรียบเสมือนนักวิ่งมาราธอนอาจไม่ได้วิ่งเร็วที่สุดถ้าให้มาแข่งขันวิ่ง 100 เมตรดังนั้นแล้วความเสี่ยงในการผิดนัดชำระจึงไม่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการกู้ยืม แต่ขึ้นกับปัจจัยที่แตกต่างกันซึ่งสามารถสะท้อนผ่านทางอันดับเครดิต โดยอันดับเครดิตจะแบ่งเป็น อันดับเครดิตองค์กร และอันดับเครดิตรายตราสารทั้งตราสารหนี้ระยะสั้นหรือระยะยาวซึ่งผู้ออกตราสารหนี้ของไทยมักจะจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวตามกฎเกณฑ์ของสำนักงาน กลต.

o ความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาต่ำ ราคาตราสารหนี้จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางผกผันกับอัตราดอกเบี้ย โดยตราสารหนี้ที่ยิ่งมีอายุยาวจะมีความผันผวนด้านราคาสูงกว่าตราสารที่มีอายุสั้น (ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้จาก “เมื่ออัตราดอกเบี้ยผันเปลี่ยน มูลค่าของตราสารหนี้ก็ผันแปร”) ดังนั้นในช่วงดอกเบี้ยทิศทางขาขึ้นนี้ ราคาตราสารหนี้จะปรับตัวลง นักลงทุนที่ถือตราสารหนี้อยู่อาจขาดทุนได้ แต่การถือตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาวจะขาดทุนไม่เท่ากัน โดยการถือตราสารหนี้ระยะสั้นจะขาดทุนน้อยกว่านักลงทุนที่ถือตราสารหนี้ระยะยาว ทั้งนี้สำหรับนักลงทุนที่ถือจนครบกำหนดอายุจะไม่มีความเสี่ยงนี้เนื่องจากตราสารหนี้จะได้รับชำระเงินคืนที่ราคาพาร์เสมอ ไม่ขึ้นกับระดับอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด

o สภาพคล่อง เนื่องจากให้กู้ช่วงเวลาสั้น แป๊บเดียวเดี๋ยวก็ได้เงินคืน การลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นจึงมีสภาพคล่องสูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว จริงอยู่ แม้ว่าตราสารหนี้ระยะยาวจะนำไปขายในตลาดรองได้ แต่การขายในตลาดรองอาจถูกกดราคาเนื่องจากสภาพคล่องไม่สูงนักโดยเฉพาะตราสารหนี้ภาคเอกชน

o ความเสี่ยงจากการนำเงินไปลงทุนต่อ(Reinvestment)อย่างที่บอก ลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น แป๊บเดียวเมื่อครบกำหนดอายุก็ได้เงินคืนแล้ว หากนักลงทุนไม่ต้องการนำเงินไปใช้จ่ายก็นำมาลงทุนต่อได้ในตราสารหนี้รุ่นใหม่ที่อาจให้อัตราคูปองสูงกว่าหรือต่ำกว่าเดิม นี่จึงเป็นความเสี่ยงของการนำเงินไปลงทุนต่อซึ่งอาจได้รับผลตอบแทนต่ำลงก็ได้ แต่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ความเสี่ยงนี้ก็จะต่ำลง เนื่องจากครบกำหนดเร็ว นักลงทุนจึงมีโอกาสนำเงินไปซื้อตราสารหนี้รุ่นใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

จะเห็นได้ว่าการลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาวก็เร้าใจได้ไม่แพ้กันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในการใช้เงินของนักลงทุนและทิศทางอัตราดอกเบี้ย แล้วเลือกระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองให้มากที่สุด

All Blogs