• Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Jun. 26, 2023
Transition bond ตราสารหนี้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน

จากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น 197 ประเทศทั่วโลกจึงได้ร่วมกันทำความตกลง Paris Agreement โดยมีเป้าหมายที่จะชะลออุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาภายในปี 2050 การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งช่องทางหนึ่งในการระดมทุนก็คือ การออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน เช่น Green bond นั่นเอง โดยล่าสุด มีการออกตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนรูปแบบใหม่สำหรับธุรกิจที่การดำเนินงานปัจจุบันยังไม่เข้าเงื่อนไขของการเป็น Green bond แต่มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต ให้สามารถระดมทุนเพื่อใช้ส่งเสริมการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีส่วนช่วยสนับสนุนเป้าหมายความตกลง Paris Agreement

Transition Bond เป็นตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (Sustainable Bonds หรือ ESG Bonds) ประเภทใหม่นอกเหนือจาก Green Bond, Social Bond, Sustainability Bond และ Sustainability-Linked Bond ที่โดย Transition Bond ออกโดยธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้จัดเป็นธุรกิจสีเขียวให้สามารถระดมทุนเพื่อนำไปใช้ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหรือกระบวนการผลิตให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Paris Agreement ในอนาคต

การออก Transition Bond จะอ้างอิงตามหลักการสำคัญ 4 ประการ (Principles) ของ Green, Social และ Sustainability Bond ที่ประกอบด้วย
1. วัตถุประสงค์ของการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุน (Use of Proceeds)
2. กระบวนการที่ใช้ในการประเมินและคัดเลือกโครงการ (Process for Project Evaluation and Selection)
3. การบริหารจัดการเงินที่ได้จากการระดมทุน (Management of Proceeds)
4. การรายงาน (Reporting)

สำหรับผู้ออกที่ต้องการระดมทุนไปใช้กับวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนโดยรวมขององค์กร สามารถอ้างอิงหลักการสำคัญ 5 ประการของ Sustainability-Linked Bond ที่ประกอบด้วย
1. การเลือกตัวชี้วัด (Selection of Key Performance Indicators (KPIs))
2. การกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Calibration of Sustainability Performance Targets (SPTs))
3. คุณลักษณะของตราสารหนี้ (Bond Characteristics) เช่น หากบริษัททำไม่สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วให้แก่นักลงทุน
4. การจัดทำรายงาน (Reporting)
5. การยืนยัน (Verification) จากหน่วยงานภายนอกที่เป็นอิสระ (External Reviewers)

นอกจากนี้ สำหรับ Transition Bond ผู้ออกต้องแสดงความมุ่งมั่นหรือข้อผูกพันที่จะมุ่งมั่นสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยผู้ออกต้องจัดทำ Issuer’s Sustainability Strategy ที่แสดงให้เห็นถึงทิศทางของ Business Model และ Strategy ในอนาคตของบริษัทที่จะมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเป้าหมายของ Paris Agreement อย่างมีนัยสำคัญ โดยต้องมีการกำหนดเป้าหมายของแต่ละขั้นตอนการปรับเปลี่ยน Business Model และ Strategy ที่สามารถวัดผลสำเร็จตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้

Transition Bond รุ่นแรกของโลกได้มีการออกไปเมื่อปี 2017 โดยบริษัท Castle Peak Power Company Limited (CAPCO) มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำเงินทุนไปสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมระหว่างก๊าซธรรมชาติและกังหันไอน้ำ จนถึงปัจจุบัน มีการออก Transition Bond แล้ว 12.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.4 ของมูลค่าการออก ESG Bonds ของโลก แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมของโลก

ประเทศไทย โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างศึกษาการจัดทำคู่มือ

การออกและเสนอขาย Transition Bond เพื่อเป็นช่องทางระดมทุนแก่ผู้ออกในกลุ่มที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงให้สามารถระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้านผู้ลงทุนก็จะได้มีทางเลือกการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อโลกของเราค่ะ

All Blogs