Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Aug 02 2016
ตลาดตราสารหนี้ไทยเติบโตรับกระแสเงินทุนไหลเข้าในครึ่งปีแรก 2559

ผ่านไปแล้วครึ่งปีกับเหตุการณ์ความผันผวนต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี เริ่มจากการลดค่าเงินหยวนของจีน ตามด้วยการประกาศนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางญีปุ่น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวต่ำสุดในรอบ 12 ปี ECB ขยายมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินครั้งใหญ่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ และล่าสุดการลงประชามติของสหราชอาณาจักรในการออกจากอียู (BREXIT) แต่ดูเหมือนตลาดตราสารหนี้ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากความผันผวนดังกล่าว ตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขนาดตลาดที่ดูได้จากมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้น 3.76% จากสิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่คาดว่าในปี 2559 จะขยายตัว 3-3.5% หากดูที่ปริมาณมูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ไทย ยิ่งมีการขยายตัวที่สูงมากถึง 20.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่ของมูลค่าการซื้อขายที่สูงขึ้นมาจากพันธบัตรธปท. ที่มีการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากจากการเข้าซื้อของนักลงทุนต่างประเทศนั่นเอง

Fund flow ที่เข้ามาค่อนข้างมากในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้เงินลงทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้นถึง 122,661 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี (ปีที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนในตราสารหนี้ไทยลง 110,130 ล้านบาท) โดยส่วนใหญ่เป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้นถึง 103,537 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 19,124 ล้านบาท ทำให้การถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติสูงขึ้นเป็น 719,599 ล้านบาท ซึ่งกว่า 73% เป็นการถือครองในพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว

สำหรับการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว (รวมทั้งขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA) ยังคงมีโมเมนตัมที่ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยครึ่งปีแรกนี้ ตราสารหนี้ระยะสั้นมีมูลค่าการออกทั้งสิ้น 1.11 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ของตราสารหนี้ระยะสั้นจะออกในรูปของตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ที่มักเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (Institution Investor or High Net Worth) ส่วนตราสารหนี้ระยะยาวมีมูลค่าการออกทั้งสิ้น 318,437 ล้านบาท ่เพิ่มขึ้นถึง 25% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจธนาคาร พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เงินทุนและหลักทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง และธุรกิจการเกษตรแต่หากดูในแง่จำนวนบริษัท กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกหุ้นกู้มากเป็นอันดับหนึ่งทิ้งห่างกลุ่มอื่นๆ คือมีถึง 28 บริษัทจากผู้ออกหุ้นกู้ในครึ่งปีแรกรวม 97 บริษัท ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่มีเรทติ้ง (Non-rated) ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของตลาด บางบริษัทแม้ไม่มีเรทติ้งแต่มีความมั่นคง มีผลประกอบการที่ดีและเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั่วไปอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดอันดับเครดิตให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แต่บางบริษัทอาจไม่ใช่ จึงไม่อยากเปิดเผยข้อมูลเครดิตของบริษัท ดังนั้นหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้งจึงไม่ได้เสี่ยงสูงเสมอไป นักลงทุนควรพิจารณาเป็นรายบริษัทเพื่อที่จะได้เรียกร้องผลตอบแทนให้คุ้มกับความเสี่ยงที่ได้รับ จากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือน เมษายน 2559 ตราสารหนี้ไม่มีเรทติ้งระยะยาวมีมูลค่าคงค้างทั้งหมด 67,808 ล้านบาท คิดเป็น 3% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวทั้งหมด ในจำนวนนี้ออกโดยบริษัทต่าง ๆ ทั้งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียนจะมีการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอตามข้อกำหนดของ กลต. นักลงทุนจึงสามารถค้นหาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเหล่านี้ได้ หุ้นกู้ไม่มีเรทติ้งที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีมูลค่าคงค้างคิดเป็น 2% ส่วนหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้งที่ออกโดยบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนอาจหาข้อมูลได้ยากกว่า การที่นักลงทุนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของบริษัทได้จึงเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมา ดังนั้นหากพิจารณาในเรื่องของความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลแล้ว หุ้นกู้ไม่มีเรทติ้งที่ออกโดยบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงมีความเสี่ยงที่สูงกว่า มีมูลค่าคงค้างของหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้งคิดเป็นเพียง 1% ในขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้นที่ไม่มีเรทติ้ง มีมูลค่าคงค้างคิดเป็น 22% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งหมด ในจำนวนนี้ออกโดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 13% และออกโดยบริษัทไม่ได้จดทะเบียน 9%

ตราสารหนี้ไม่มีเรทติ้งทั้งระยะสั้นและระยะยาวทั้งหมดเสนอขายในวงจำกัด โดยไม่มีการขายให้แก่นักลงทุนทั่วไปเลย ถ้าเป็นหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้งระยะยาว ส่วนใหญ่เสนอขายเฉพาะนักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่ (II/HNW) ในขณะที่ตราสารหนี้ไม่มีเรทติ้งระยะสั้นส่วนใหญ่เสนอขายเฉพาะวงแคบไม่เกิน 10 ราย (PP10) สะท้อนถึงผลกระทบที่จำกัดหากเกิดกรณีผิดนัดชำระหนี้ขึ้น


All Blogs