Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    March. 27, 2019
การค้ำประกันจาก CGIF ช่วยผู้ออกลดคูปองดอกเบี้ยให้ต่ำลง

ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Credit/Default Risk) ถือเป็นความเสี่ยงหลักของการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน โดย “อันดับเครดิต” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สะดวกที่ใช้สะท้อนความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งนักลงทุนจะใช้ในการพิจารณาอัตราผลตอบแทน (Yield) ของหุ้นกู้แต่ละรุ่นให้สอดคล้องกับความเสี่ยงหลักนี้ ดังนั้นอันดับเครดิตจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพิจารณาลงทุนของนักลงทุน

ยิ่งอันดับเครดิตดี อัตราคูปองก็ยิ่งต่ำ ซึ่งสำหรับผู้ออกแล้วจะหมายถึงต้นทุนการระดมเงินทุนที่ต่ำ ส่วนผู้ออกที่มีอันดับเครดิตไม่ดีนักหรือไม่จัดอันดับเครดิต (Non-rated bonds) ย่อมต้องจ่ายคูปองสูงกว่าสำหรับการออกตราสารหนี้ที่มีอายุใกล้เคียงกัน หากต้องการจ่ายคูปองต่ำลงหรือลดต้นทุนการระดมทุนก็สามารถทำได้โดยต้องเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนว่าจะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนตามเวลาที่กำหนด ฟังดูง่ายแต่ในทางปฏิบัติจะมีวิธีทำอย่างไร?

ผู้ออกมีอย่างน้อย 3 วิธีในการลดคูปองหรือดอกเบี้ยจ่ายในการออกตราสารหนี้ วิธีแรกคือผู้ออกจัดให้มีหลักประกันซึ่งอาจจะเป็นที่ดินหรือสังหาริมทรัพย์ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการชำระหนี้ตราสารหนี้รุ่นนั้นๆ ที่เรียกว่าตราสารหนี้มีหลักประกัน (Secured Bonds) วิธีที่สองคือออกตราสารหนี้ที่เกิดจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์โดยผู้ถือตราสารหนี้จะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยคืนจากกระแสเงินสดที่ได้จากสินทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้น (Securitized Bonds) และวิธีสุดท้ายคือ จัดหาผู้ที่มีอันดับเครดิตสูงๆ มาค้ำประกันการออกตราสารหนี้ให้ (Guarantee Bonds) โดยผู้ที่ค้ำประกันจะรับผิดชอบเป็นผู้จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยแทนผู้ออกหากไม่สามารถจ่ายได้ โดยในตลาดตราสารหนี้ไทย ส่วนมากผู้ที่จะมาค้ำประกันให้มักจะเป็นบริษัทแม่ที่มีฐานะทางการเงินตลอดจนอันดับเครดิตที่ดีกว่า เช่น ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จะมีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ไฟแนนซ์ (เนเธอร์แลนด์) บี.วี. เป็นผู้ค้ำประกัน แต่สำหรับผู้ออกที่ไม่มีบริษัทแม่ จำเป็นต้องหาหน่วยงานที่สามารถค้ำประกันการออกหุ้นกู้ให้ได้ เช่น CGIF

Credit Guarantee and Investment Facility หรือ CGIF จัดตั้งโดยความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ASEAN+3 ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย (Asian Development Bank หรือ ADB) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในภูมิภาค โดยมีหน้าที่หลักคือบริการให้การค้ำประกันการออกหุ้นกู้ที่ช่วยให้ต้นทุนการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ของผู้ออกลดลง

หลายท่านอาจสงสัยว่า แล้วทำไม CGIF ถึงมาค้ำประกันการออกหุ้นกู้ได้? ต้องบอกว่า CGIF ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ AAA โดย RAM Rating ของสิงคโปร์ และ AA/A-1+ โดย S&P สถาบันจัดอันดับเครดิตระดับสากล (สูงกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ BBB+ ซะอีก) ส่งผลให้หุ้นกู้ที่ค้ำประกันการออกโดย CGIF จึงมีโอกาสได้รับอันดับเครดิตสูงขึ้นถึง AAA นอกจากนี้ผู้ออกที่ได้รับการค้ำประกันอันดับเครดิตจาก CGIF ยังสามารถข้ามไประดมทุนจากประเทศต่างๆ ใน ASEAN +3 ได้ โดยหุ้นกู้ที่ CGIF ค้ำประกันจะได้รับการค้ำประกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หากผู้ออกไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ผู้ถือหุ้นกู้สามารถทวงถามความรับผิดชอบจาก CGIF ได้ ซึ่ง CGIF จะพิจารณาการค้ำประกันจากหลักเกณฑ์ดังนี้ (1) ผู้ออกต้องเป็นบริษัทในประเทศสมาชิก ASEAN+3 (2) ผู้ออกต้องมีอันดับเครดิตที่ยอมรับได้ (3) ผู้ออกต้องไม่นำเงินจากการระดมทุนไปใช้ในกิจกรรมต้องห้าม เช่น ผลิตอาวุธ สุรา ยาสูบ การพนัน เป็นต้น และ (4) ผู้ออกต้องจัดทำมาตรฐานการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วย (รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จากเว็บไซต์ CGIF)

ปัจจุบันมีผู้ออกในไทยใช้บริการค้ำประกันจาก CGIF หลายบริษัท เช่น

- บริษัท Noble Group มีอันดับเครดิต BBB-/S&P ภายหลัง CGIF ค้ำประกัน สามารถออกหุ้นกู้อันดับเครดิต AAA/FITCH ได้ในปี 2013

- บริษัท KNM GROUP BERHAD ซึ่งเป็นบริษัทที่ยังไม่ได้รับการจัดอันดับเครดิต สามารถออกหุ้นกู้อายุ 5 ปี ได้ที่อันดับเครดิต AAA/TRIS ในปี 2016 ภายหลัง CGIF ค้ำประกัน

- บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด มีอันดับเครดิตที่ BBB/TRIS เมื่อ CGIF ให้การค้ำประกันก็สามารถออกหุ้นกู้อายุ 5 ปี ที่อันดับเครดิต AA/TRIS ได้ในปี 2018

- และล่าสุดในเดือนมกราคม 2019 ที่ผ่านมา บริษัท Yoma Strategic Holdings จำกัด ซึ่งยังไม่ได้รับการจัดอันดับเครดิต ก็สามารถออกหุ้นกู้อายุ 5 ปี ที่อันดับเครดิต AAA/TRIS ได้จากการค้ำประกันของ CGIF

- นอกจากนี้ CGIF ยังเข้าไปค้ำประกันการออกหุ้นกู้ในประเทศต่างๆ แล้ว เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นต้น

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า CGIF นอกจากจะช่วยผู้ออกลดต้นทุนในการระดมทุนแล้ว ยังช่วยให้ผู้ออกขยายขอบเขตการระดมทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย รวมถึงสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่นักลงทุน สร้างสภาพคล่องให้ตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาค และขับเคลื่อนตลาดตราสารหนี้ไทยให้เติบโตไปพร้อมๆ กับตลาดตราสารหนี้เอเชียนั่นเอง ผู้ออกที่สนใจรับบริการค้ำประกันจาก CGIF สามารถติดต่อสอบถามได้โดยตรงที่คุณสุพัตรา ขนิษฐบุตร โทร +63 908 899 3910 หรือทาง Email : [email protected]

Note:ASEAN+3 ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

All Blogs